- คุยกับ "เปรม พฤกษ์ทยานนท์" เจ้าของแฟนเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
- ลด ละ เลิก "ขยะพลาสติก" 4 ชนิด ในปี 2565
- ผลกระทบ-การปรับตัวของ ซาเล้ง-ธุรกิจรีไซเคิลในวันที่คนรักษ์โลก
ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ปัญหาขยะ" เป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข ซึ่งประเทศไทยมีการรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงพลาสติกให้น้อยที่สุด การใช้ถุงผ้า
ล่าสุด ครม.ไฟเขียวให้ยกเลิกพลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว แบบบาง, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติกบาง ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573
แน่นอนว่า ข้อมูลดังกล่าวทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า ภายในปี 2565 มาตรการนี้ จะทำให้คนในสังคมจะตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหรือไม่ คนรับซื้อของเก่า หรือธุรกิจรีไซเคิล จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
...
จากการพูดคุยกับ "เปรม พฤกษ์ทยานนท์" เจ้าของแฟนเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เฟซบุ๊กเพจที่รณรงค์และให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำเพจ รวมไปถึงมุมมองเกี่ยวกับแผนการจัดการขยะดังกล่าวกับ J. Mashare ผ่านมุมของผู้บริโภค ผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า และในฐานะของคนทำเพจได้อย่างน่าสนใจ
จุดเริ่มต้นของ "ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป"
คุณเปรม เล่าว่า จุดเริ่มต้นการทำเพจมาจากที่บ้านทำธุรกิจรับซื้อของเก่า ในขณะเดียวกัน ตนเองก็เห็นถึงปัญหาขยะที่มีมานานแล้ว และรู้สึกว่าธุรกิจรีไซเคิลเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาขยะ แต่คนยังไม่เข้าใจธุรกิจนี้มาก หลายคนไม่รู้ว่าการแยกขยะที่ถูกต้องควรทำอย่างไร ซึ่งการแยกขยะที่ถูกต้องคือ เมื่อแยกแล้ว สามารถนำไปใช้ต่อได้
สำหรับประเทศไทย มีการจัดการขยะอยู่ 2 ระบบ คือ 1.ระบบของรัฐ (เทศบาล) และ 2.ระบบธุรกิจรีไซเคิล ถ้าไม่มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ขยะจะไปอยู่ในระบบของเทศบาล แต่หากคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ก็นำไปขายได้ ซึ่งคนทั่วไปยังไม่เข้าใจว่า การแยกขยะแบบใดจึงจะมีมูลค่า ในฐานะที่ผมมีความรู้ตรงนี้ จึงอยากสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ กระทั่งออกมาเป็นเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ตอนนี้ก็เปิดมาได้เกือบ 3 ปีแล้ว
การเดินทางของ "ขยะ" จากผู้ขาย สู่ โรงงานรีไซเคิล
การที่จะนำขยะไปขายได้นั้น อันดับแรก ร้านจะรับซื้อขยะก็ต่อเมื่อมีการคัดแยกมาก่อน หากเป็นร้านเล็ก อาจรับซื้อขยะรวมหลายๆ อย่าง แยกขยะเป็นชนิด เช่น กระดาษ พลาสติก โลหะ รวบรวมไว้จนมีจำนวนมาก แล้วส่งไปร้านที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะมีเครื่องจักรสำหรับบด หรืออัดให้เป็นก้อน รวบรวมไว้จนมีจำนวนมาก
จากนั้นจึงส่งไปที่โรงงานรีไซเคิล ซึ่งโรงงานจะแบ่งเป็นชนิดเช่นกัน อาทิ โรงงานรีไซเคิลกระดาษ จะสามารถรีไซเคิลได้แค่กระดาษ โรงงานรีไซเคิลเหล็กจะรับเฉพาะเหล็ก กล่าวได้ว่าเป็นระบบการคัดแยกจากเล็กไปหาใหญ่ ค่อยๆ รวบรวมสะสมไปเรื่อยๆ จนได้ปริมาณมากพอ
เมื่อถามถึงปัญหาที่พบมากที่สุดในการรับซื้อขยะ คุณเปรม กล่าวว่า การรับซื้อขยะไม่เรียกว่าปัญหา ถ้าคนไม่แยกขยะ ร้านจะพูดง่ายๆ ว่า "ไม่ซื้อ" เหมือนเป็นการตัดปัญหาอย่างหนึ่ง สมมติว่าเราใส่ขยะรวมไปในถุงเดียว เมื่อไปถึงร้านรับซื้อของเก่า ร้านเปิดดูแล้วจะรู้ว่าต้องใช้เวลานานมากในการแยก ร้านจะตัดปัญหาโดยบอกว่า ไม่รับซื้อ เพราะเสียเวลา
...
ทิศทางแผนจัดการ "ขยะพลาสติก" ของประเทศไทย
ขอเล่าย้อนไปถึงปี 2561 ตั้งแต่เกิด Roadmap มีการกำหนดเป้าหมายยกเลิกพลาสติก 7 ชนิด โดยเป้าหมายแรกจะยกเลิกพลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 ได้แก่
1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ (Cap Seal) ปัจจุบันเลิกใช้ไปแล้ว จากมีข้อตกลงของทางผู้ผลิต
2. ไมโครบีด (Microbead) หรือเม็ดพลาสติก ที่อยู่ในเครื่องสำอางช่วยขัดหน้า ในปัจจุบันไมโครบีดไม่ผ่าน อย. อยู่แล้ว และกฎหมายของต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ห้ามใช้ ทำให้ผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทอินเตอร์ไม่ใช้ไมโครบีด แต่ต้องบอกว่า แนวทางของกฎหมายยังไม่ชัดเจนว่า มีการแบนไมโครบีดจริงจัง
3. ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo) คือพลาสติกที่ใส่สารให้แตกตัว ปัจจุบันยังไม่ได้แบนอย่างจริงจัง เพราะคนยังไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารอ็อกโซ่เป็นแบบไหน
ส่วนเป้าหมายในปีหน้า 2565 ในตอนแรกทราบว่าจะแบนพลาสติก เช่น 1.ถุงพลาสติกที่มีความหนาน้อยกว่า 3.6 ไมครอน 2.แก้ว ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3.โฟม ที่ผ่านการใส่อาหาร และ 4.หลอดพลาสติก
กระทั่งล่าสุด ประกาศของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการเปลี่ยนข้อความเล็กน้อยจาก แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งถูกแบนร้อยเปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนเป็น "แก้วพลาสติก ที่มีความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน" ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ คนไม่รู้ว่าแก้วที่มีความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน คือแก้วแบบใด นั่นก็คือ แก้วบางๆ ที่ใช้ตามตลาดนัด ส่วนแก้วที่เราใช้อยู่ทุกวัน ส่วนใหญ่จะหนากว่า 100 ไมครอนอยู่แล้ว เช่น แก้วในร้านกาแฟดังๆ
"หลอดพลาสติก" รีไซเคิลได้ แต่เป็นไปได้ยาก
สำหรับขยะที่เกิดจาก "หลอดพลาสติก" อย่างเดียว จากตัวเลขคาดการณ์พบว่า มีขยะจากหลอดพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 100 ล้านหลอดต่อวัน หรือประมาณ 3,500 ล้านหลอดต่อปี
...
จริงๆ แล้วหลอดมีความพิเศษของมันอยู่ โดยพื้นฐานหลอดจะเป็นพลาสติก ชนิดพลีโพรพิลีน (Polypropylene) หรือ PP เป็นพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นฟู้ดเกรด (Food Grade) รีไซเคิลได้ แต่สิ่งที่ทำให้ "หลอด" นำไปรีไซเคิลยาก มีดังนี้
1. ลักษณะของหลอดที่เป็นแท่งและมีความบาง แต่ถ้าม้วนกลมๆ แล้วจะเกิดความหนา ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้ไม่เข้ากับกระบวนการรีไซเคิลแบบปกติ ซึ่งกระบวนการรีไซเคิลจะแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ
- พลาสติกแข็ง แบบเป็นชิ้น เช่น แก้ว ขวด กระป๋อง
- พลาสติกที่เป็นฟิล์ม หรือเป็นแผ่น เช่น ถุงพลาสติก
แม้ว่าทั้ง 2 กระบวนการจะเป็นพลาสติกเกรดเดียวกัน แต่กระบวนการรีไซเคิลจะแยกกัน การสับให้เป็นชิ้นต่างกัน และใช้เครื่องจักรที่ต่างกัน ซึ่ง "หลอดพลาสติก" ไม่เข้ากับทั้ง 2 กระบวนการ จะเป็นฟิล์มก็ไม่ใช่ จะเป็นของแข็งก็ไม่ใช่ เมื่อนำเข้าเครื่องบดสับจะเกิดปัญหา หลอดจะเข้าไปติดในเครื่องจักร และด้วยคุณสมบัติที่กึ่งๆ กลางๆ นี้จึงทำให้หลอดพลาสติกไม่ถูกนำไปรีไซเคิล
2. หลอดพลาสติก มักจะมีน้ำ อาหาร ติดอยู่ตรงกลาง ทำให้หลอดสกปรก ล้างยาก ทำให้กระบวนการรีไซเคิลยากไปด้วย
3. ระยะหลังมีการรณรงค์ไม่ใช้หลอดพลาสติก มีการนำหลอดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) มาทดแทน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท
- Biodegradable เป็นพลาสติก PP เหมือนเดิม แต่ใส่สารบางอย่างเข้าไปในเนื้อพลาสติกให้แตกตัวได้ง่ายขึ้น เช่น ใส่แป้งจากธรรมชาติเข้าไป บางครั้งจะอ้างว่า เป็นวัตถุจากธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วคือ พลาสติกที่ผสมแป้งเข้าไป เมื่อโดนแสงแดด แป้งจะย่อย แต่ตัวพลาสติกไม่ย่อย เพราะเป็นไมโครพลาสติกชนิดหนึ่ง หลายคนจะเรียกว่า หลอดย่อยสลายได้
...
- Biobased หลอดที่ทำจากธรรมชาติทั้งอันเลย ตอนนี้ที่เห็นจะเป็นหลอดจาก PLA หรือ Polylactic Acid ทำมาจากน้ำตาล ข้าวโพด ไม่ใช่หลอดกระดาษ แต่เป็นหลอดพลาสติกธรรมดา ซึ่งจะมีราคาแพงกว่าหลอด Biodegradable
ดังนั้น ในตลาดตอนนี้จะมีหลอดพลาสติก 3 ชนิด คือ 1.หลอดพลาสติกดั้งเดิม 2.หลอด Biodegradable 3.หลอด PLA แต่เมื่อนำหลอดทั้ง 3 มาอยู่ด้วยกันแล้ว แทบจะไม่สามารถแยกด้วยตาเปล่า ยิ่งทำให้กระบวนการรีไซเคิลเป็นไปไม่ได้
ในกรณีที่นำหลอดมาใช้ประโยชน์ทำเป็น "หมอนหลอด" หากนำหลอดที่เป็น Biodegradable มีคุณสมบัติแตกตัวได้ จะทำให้ตัวหมอนอายุสั้นลง ใช้ได้ประมาณครึ่งปี และไม่มีคนใช้เยอะขนาดนั้น ตอนนี้จึงเป็นปัญหาของการทำหมอนหลอด
ขณะเดียวกัน หลอดพลาสติก ยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ เช่น หลอดถูกกระแสน้ำพัดเข้าไปในจมูกเต่าทะเล หรือการที่เต่าทะเลคิดว่าถุงพลาสติกเป็นแมงกะพรุนแล้วกินเข้าไป หรือการที่หลอดเป็นสีๆ อาจจะทำให้นกทะเลเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสีสะท้อนของเกล็ดปลา ก็จะกินเข้าไปได้
นอกจากหลอดพลาสติกแล้ว "แก้วพลาสติก" ก็มีปัญหาเดียวกัน เพราะแก้วพลาสติกมีหลายเกรด และลักษณะคล้ายกันมาก ถ้าไม่ใช่ผู้ชำนาญก็แทบแยกด้วยตาเปล่าไม่ออก หรือแก้วบางชนิดไม่มีโรงงานรีไซเคิลรองรับเลย ยกตัวอย่าง แก้ว PET ที่คนใช้เยอะสุด จะมีข้อจำกัดที่โรงงานไม่รับ เช่น การสกรีนที่แก้วจะควบคุมสีของพลาสติกที่รีไซเคิลยาก จึงนิยมใช้ขวดน้ำ PET แทน
ส่วน "โฟม" จะมีน้ำหนักเบา ไม่คุ้มค่าขนส่ง ยกตัวอย่าง ซาเล้งมารับซื้อของเก่าใส่โฟมจนเต็มรถ น้ำหนักยังไม่ถึง 1 กิโลกรัมเลย หรือถ้าใช้รถกระบะคันหนึ่งใส่โฟมจนเต็ม จะได้ประมาณ 50 กิโลกรัม ในขณะที่การขนส่งระยะ 10 กิโลเมตร ต้องเสียต้นทุน 20 บาท ซึ่งตัวโฟมมีมูลค่าแค่ 5 บาท ดังนั้นกระบวนการรีไซเคิลโฟมจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่คุ้ม ยกเว้นโรงงานที่มีโฟมใหญ่รวมแล้วน่าจะ 500 กิโลกรัมขึ้นจึงคุ้มค่าขนส่ง
อีกปัญหาคือ กล่องโฟมมักจะมีรูพรุน เช่น เวลาใส่อาหารพวกเศษอาหารจะไปติดในรูของกล่องโฟม ซึ่งโฟมจะดูดซับไขมันจากเศษอาหาร ทำให้เวลารีไซเคิลจะได้พลาสติกเหม็นๆ ไม่มีใครอยากนำไปใช้ต่อ ทำให้การรีไซเคิลกล่องโฟมในความเป็นจริงทำได้ค่อนข้างยาก
ผลกระทบต่อผู้รับซื้อพลาสติก
ผมคิดว่า ผู้ประกอบการรีไซเคิลไม่ได้รับผลกระทบในทางลบ แต่จะมีผลกระทบในด้านบวก ทิศทางของขยะพวกนี้ถ้าไม่ลดการใช้ ก็ต้องนำไปรีไซเคิล และของบางอย่างก็ไม่สามารถลดการใช้ได้
ในด้านของธุรกิจ เราไม่สามารถบอกให้ผู้ประกอบการลดการผลิตพลาสติกได้ ทั่วโลกเป็นระบบทุนนิยมก็ต้องทำให้ธุรกิจเติบโต "ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องบริโภค ก็ต้องเพิ่มการรีไซเคิล"
ยกตัวอย่าง ถุงกับแก้วพลาสติกที่จะเลิกใช้ในปี 2565 เราสามารถทำให้มันหนาขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการรีไซเคิล หากเป็นแก้วบางๆ กว่าซาเล้งจะเก็บได้ 1 กิโลกรัม จะต้องเก็บแก้ว 200 ใบ แต่ถ้าแก้วหนาขึ้นจะเหลือแค่ 100 ใบ จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้น เพราะฉะนั้นการยกเลิกของที่ single-use plastic หรือ ขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และบางมากๆ จะเป็นผลดีต่อธุรกิจรีไซเคิล
"ซาเล้ง" ในวันที่ขยะพลาสติกลดลง
ผมเชื่อว่า แม้จะลดการใช้ แต่ก็ไม่สามารถลดพลาสติกได้ทั้งหมด และเห็นด้วยกับการยกเลิกของที่รีไซเคิลไม่ได้ อย่างเช่น หลอดพลาสติก ถึงลดไปก็ไม่มีใครมีปัญหา เช่นเดียวกับถุงพลาสติกที่บางมาก ก็ควรยกเลิก
แต่จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการยกเลิกตามความหนาเท่าไร เพราะบางอย่างแค่เพิ่มความหนาอีกนิดก็พ้นเกณฑ์ ความสำคัญควรอยู่ที่กระบวนการจัดเก็บที่มันต้องพัฒนาขึ้นมากกว่า
ยกตัวอย่าง ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้สิ่งที่เรียกว่า EPR หรือ Extended Producer Responsibility การให้ผู้ผลิตมีส่วนรับผิดชอบในขยะที่ตัวเองสร้างขึ้น ซึ่งมันไปได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การเพิ่มค่าบรรจุภัณฑ์ในต่างประเทศจะมีตู้สำหรับคืนขวด คนที่นำขวดมาคืนก็จะได้เงินคืน เป็นหลักการที่เพิ่มความรับผิดชอบให้กับผู้ผลิตไปด้วย
ถ้าเราไม่มีหลักการนี้ จะเป็นการผลักทุกอย่างให้กับซาเล้ง แม้ว่าถุงจะหนาขึ้น แต่ไม่เพิ่มค่าถุง ก็เหมือนบังคับให้ซาเล้งเก็บถุง บางครั้งซาเล้งอาจไม่อยากเก็บก็ได้ แม้ว่าถุงจะหนาขึ้น หนักขึ้น แต่ยังราคาถูก
แต่ถ้าสมมติว่าใช้หลัก ถุงใช้ได้ แก้วใช้ได้ แต่ต้องเสียภาษีที่แพงขึ้น ถ้าใช้ 1 ใบ เสียเพิ่ม 1 บาท เพื่อนำ 1 บาทไปเพิ่มมูลค่าให้กับขยะรีไซเคิล จูงใจให้ซาเล้งเก็บ จะเป็นระบบขั้นตอนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ผลิตหนาขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสรีไซเคิล แต่ไม่มีระบบรองรับเพื่อจูงใจเลย ผมคิดว่าระยะยาวมันจะไม่เกิดผลได้อย่างเต็มที่
ปี 2565 จะสามารถลดพลาสติกได้จริงหรือไม่
คุณเปรม กล่าวว่า ก่อนที่จะออก Road Map นี้ ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐมีการปรึกษากับทางอุตสาหกรรมแล้ว จึงมีการประกาศยกเลิกพลาสติกที่บาง และหลอดพลาสติก ในอนาคตคาดว่าจะมีการอนุญาตให้ใช้หลอด PLA ได้อย่างเดียว จะส่งผลดีต่อบางเอกชนที่เป็นผู้ผลิต แต่อาจจะเพิ่มต้นทุนให้กับเจ้าของกิจการ
ส่วนแก้วกับถุง น่าจะเป็นข้อตกลงของอุตสาหกรรมพลาสติกของรัฐ ผลิตให้หนาขึ้น ผมเชื่อว่า Road Map ไม่กระทบผู้ผลิตมากเท่าไร แต่จะกระทบกับเจ้าของกิจการแน่นอนเพราะว่าต้นทุนสูงขึ้น หลอดซื้อแพงขึ้น ถุงต้องซื้อแพงขึ้น แก้วต้องซื้อหนาขึ้น
สิ่งที่ผมอยากจะเสนอก็คือ ในฐานะของผู้บริโภค เราค่อนข้างมีพลังในการเรียกร้องต่อผู้ผลิต ของบางอย่างที่ผู้ผลิตไม่ได้รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เราสามารถเรียกร้องได้ โดยการเรียกร้องผ่านโซเชียล หรือเรียกร้องโดยตรง
ผมเองมีลูกเพจหลายท่านที่เรียกร้องไปถึงผู้ผลิตโดยตรงว่า อันนี้เขาไม่ชอบนะ ทำไมต้องแจกอันนี้ด้วย ถ้าเราเรียกร้องบ่อยๆ และเรามีเสียงของคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ผลิตเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้เอง รวมไปถึงการเรียกร้องต่อภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ภาครัฐจะต้องทำตามใจประชาชน ผมเชื่อว่าเสียงของคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญในการผลักดันให้ก้าวต่อไป
"การทำเพื่อโลก เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องยากเสมอ แม้ว่าจะมีทางลัดที่เราเลือกใช้ได้ง่าย แต่ได้ประสิทธิภาพน้อยกว่า เช่น รัฐเลือกใช้การแบนบางอย่าง สุดท้ายแล้วมันก็ต้องไปไล่แบนเรื่อยๆ มันจะไม่จบไม่สิ้น
เราต้องทำของที่ยากกว่า อาจจะใช้เวลานาน แต่ได้ประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การร่างกฎหมายบรรจุภัณฑ์ กฎหมาย EPR ซึ่งมันเป็นในเชิงหลักการที่มันถูกต้อง มากกว่าการไปไล่แบนทีละชิ้น การไปขอความร่วมมือของแต่ละห้าง".
ผู้เขียน : J. Mashare