“ปีที่แล้วปริมาณฝนสะสมบ้านเรา น้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 4 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยเฉพาะภาคเหนือฝนน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 17 ส่งผลปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ น้อย โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักที่ส่งน้ำหล่อเลี้ยงลุ่มเจ้าพระยา ส่งผลให้เริ่มต้นฤดูแล้ง 1 พ.ย.2563 มีปริมาณน้ำใช้การแค่ 5,771 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมีสูงถึง 12,000 ล้าน ลบ.ม.”

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) บอกถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่มีต่อเนื่องมาเป็นปีที่สองติดต่อกัน...ปัจจุบันการระบายน้ำตามแผนเพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศไปแล้ว 2,524 ล้าน ลบ.ม. ยังต้องระบายน้ำอีก 976 ล้าน ลบ.ม. ไปจนสิ้นสุดฤดูแล้ง

แต่ปัจจุบันเกษตรกรกลับทำนาปรังไปแล้วกว่า 2.8 ล้านไร่ ทำให้มีการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา คลองชลประทาน จนทำให้น้ำผลิตน้ำประปาหลายแห่งมีไม่เพียงพอ และมีแนวโน้มว่าอาจขาดน้ำเพื่อผลิตประปา

ประกอบกับช่วงต้นปี 2564 ความเค็มเริ่มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมากขึ้น โดยมีค่าความเค็มสูงที่สุดเท่าที่มีการตรวจวัดมาในรอบ 10 ปี บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี แหล่งน้ำดิบสำคัญของการประปานครหลวง ผลิตน้ำให้กับกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกทั้งหมด

...

เมื่อ 30 ม.ค. เวลา 20.40 น. มีค่าความเค็มสูงถึง 2.53 กรัมต่อลิตร ขณะที่ค่าความเค็มจะเกินมาตรฐานในการผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร และเกณฑ์มาตรฐานน้ำใช้เพื่อการเกษตรต้องไม่เกิน 2.0 กรัมต่อลิตร...แม้ในปัจจุบันความเค็มจะลดลง แต่ก็ยังมีค่าความเค็มสูงอย่างต่อเนื่อง

โดยความเค็มที่รุกตัวสูงมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อย และการเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ จากอิทธิพลของลมใต้ที่เริ่มพัดปกคลุมทะเลอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. ส่งผลให้เกิดการยกตัวของระดับน้ำทะเลพัดเข้าสู่อ่าวไทยตอนบน เสริมให้น้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้าเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้นผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องระวังการบริโภคน้ำประปา ขณะเดียวกันต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มได้รับความเสียหายจำนวนมาก

“ในปีที่ผ่านๆมา เราได้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์เป็นแหล่งน้ำต้นทุน มาช่วยผลักดันน้ำเค็มในเจ้าพระยา แต่ในปีนี้เขื่อนทั้งสองแห่งน้ำน้อยมาก ปัจจุบันมีน้ำใช้การแค่ 3,662 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอใช้แค่ในลุ่มน้ำแม่กลอง มีเหลือพอผันมาช่วยเจ้าพระยาได้เพียง 350 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ไม่พอผลักดันน้ำเค็มเหมือนปีที่แล้ว ที่ผันน้ำจากแม่กลองมาช่วยถึง 1,000 ลบ.ม.”

ส่วนสถานการณ์ฝน คาดว่าฝนจะมาเร็วและเริ่มตกมากขึ้นตั้งแต่ เม.ย. โดยสถานการณ์ฝน ปี 2564 ทั้งปีจะคล้ายกับปี 2539 ฝนมากกว่าค่าปกติ ตกหนัก แต่ทิ้งช่วงยาว

เม.ย. จะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติ อาจเกิดพายุฤดูร้อนได้บ่อยครั้ง สถานการณ์ภัยแล้ง และความเค็มจะเริ่มคลี่คลายลง ดังนั้นเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องเข้าใจสถานการณ์น้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤติ ไม่สูบน้ำไปจากแม่น้ำลำคลอง เพราะจะทำให้น้ำที่ใช้อุปโภค-บริโภคเกิดปัญหา ประชาชนทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำอย่างประหยัดแบบจริงจัง

“การแปลงเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อปริมาณฝนของไทยมาก ทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติติดต่อกัน 2-3 ปี ต่อเนื่องขึ้นและบ่อยครั้ง รวมถึงฝนตกพื้นที่ท้ายเขื่อนมากกว่าเหนือเขื่อน โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีฝนตกอยู่ในพื้นที่รับน้ำเขื่อนแค่ 36% ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศมีน้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางเพียงปีละ 42,620 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นถึง 153,578 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 25% ใน 20 ปีข้างหน้า”

...

ดังนั้น การพึ่งพาน้ำในเขื่อนอย่างเดียว คงรอดพ้นภัยแล้งได้ยาก ฉะนั้นต้องหันมาเก็บกัก บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตัวเอง ใช้น้ำหมุนเวียน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชหลากหลาย ลดพืชเชิงเดี่ยว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และผลผลิต.

กรวัฒน์ วีนิล