- เปิดหลักสูตรโดดร่ม การฝึกโหดพิชิตภารกิจเสี่ยงอันตราย
- รู้จักเครื่องหมาย "ปีกร่มดาวดำ" ความภาคภูมิใจที่นักโดดร่มใฝ่ฝันนำมาประดับอก
- หลักสูตรพิเศษ แทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธี HALO / HAHO คืออะไร
หลังจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พลโทหญิงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการกองบัญชาการ ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก) และพระราชทานพระยศเป็น พล.อ.หญิง ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.64 ที่ผ่านมา
ต่อมามีการรายงานว่า พล.อ.หญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเข้ารับการฝึกและศึกษาหลักสูตรการแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูง HALO และ HAHO ร่วมกับหน่วยรบพิเศษ กรมรบพิเศษที่ 3 ณ โรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี และทำการกระโดดจริง 11-26 ก.พ.64
วันนี้ J. Mashar จึงพาทุกคนไปรู้จักหลักสูตรต่างๆ ของการโดดร่ม ซึ่งกว่าที่จะผ่านการทดสอบได้นั้น บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งอีกด้วย เพราะการโดดร่มเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งหลักสูตรการโดดร่มนั้นมี 2 แบบ ได้แก่
1. การโดดร่มแบบสายกระตุกคงที่ (Static line)
- หลักสูตรการโดดร่มขั้นพื้นฐาน (AIRBORNE)
- หลักสูตรการโดดร่มเพื่อแต่งตั้งในตําแหน่งนักโดดร่ม
- หลักสูตรการโดดร่มทบทวนประจําปี
- หลักสูตรผู้ควบคุมการโดดร่ม (JUMPMASTER)
...
2. การโดดร่มแบบกระตุกเอง (FREE FALL)
- หลักสูตรการโดดร่มแบบกระตุกเองขั้นพื้นฐาน (FREE FALL) หรือ "หลักสูตร SKY"
- หลักสูตรการโดดร่มแบบกระตุกเองขั้นสูง (ADVANCE FREE FALL)
จากการสอบถาม พ.ต.อ.รังสรรค์ เนตรเกื้อกิจ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ค่ายนเรศวร) อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หรือ "ผู้กำกับกบ" ผู้ฝึกสอนนักเรียนกระโดดร่มมาแล้วหลายรุ่น ได้ให้ความรู้ว่า หลักสูตรการฝึกโดดร่มใหม่แบบสายกระตุกคงที่ (ร่มกลม) เป็นการส่งกำลังทางอากาศ เมื่อกระโดดลงมาจากอากาศยานแล้วร่มจะกางเอง
การฝึกแบบนี้จะใช้เวลาในการฝึกทั้งหมด 5 สัปดาห์ แบ่งเป็น ฝึกภาคพื้นดิน 3 สัปดาห์ ฝึกภาคอากาศ 2 สัปดาห์ โดยจะฝึกให้กับนักเรียนนายร้อยตำรวจ กำลังพลในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กำลังพลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ขณะที่หลักสูตรการโดดร่มแบบกระตุกเอง ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกจะต้องผ่านการฝึกกระโดดร่มแบบสายกระตุกคงที่มาก่อน
การฝึกโดดร่มแบบกระตุกเอง เมื่อกระโดดลงจากอากาศยานจะต้องเปิดร่มด้วยตนเอง ระยะเวลาในการฝึก 4 สัปดาห์ แบ่งเป็นภาคพื้นดิน 1 สัปดาห์ และภาคอากาศ 3 สัปดาห์ โดยจะฝึกให้กับกำลังพลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึงเหล่าทัพก็ได้ส่งกำลังพลมาฝึกร่วมด้วย โดยจะต้องขออนุมัติจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ก่อนมาทำการฝึก
...
หลังเข้ารับการฝึกแล้ว นักโดดจะได้รับเครื่องหมายแสดงความสามารถเป็นความภาคภูมิใจ โดยมีเครื่องหมาย 5 ชนิด ดังนี้
ชั้นที่ 3 จะต้องผ่านการโดดร่ม 5-29 ครั้ง ลักษณะของเครื่องหมายเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 เว้นแต่ไม่มีดาวและ ช่อชัยพฤกษ์อยู่เหนือร่ม
ชั้นที่ 2 จะต้องผ่านการโดดร่ม 30-64 ครั้ง ลักษณะของเครื่องหมายเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 เว้นแต่ไม่มีช่อชัยพฤกษ์อยู่เหนือร่ม
ชั้นที่ 1 ผ่านการโดดร่ม 65 ครั้งขึ้นไป ลักษณะของเครื่องหมายเช่นเดียวกับชั้นพิเศษ เว้นแต่ไม่มีดาวโลหะ สีดําขนาดเล็กรูปห้าแฉกบนพื้นปีกทั้งสองข้าง
แต่ถ้าถามเครื่องหมายที่นักโดดร่มหลายคนใฝ่ฝันอยากนำมาประดับอกเพื่อเป็นความภาคภูมิใจก็คือ "ปีกร่มดาวดำ" หรือ "ปีกร่มชั้นพิเศษ" ผู้ที่จะได้รับเกียรตินั้นจะต้องโดดร่มแบบกระตุกเอง โดดลงมาแล้วจะต้องถ่วงเวลาไม่ต่ำกว่า 15 วินาที ก่อนจะเปิดร่ม
ลักษณะเครื่องหมายเป็นรูปร่มชูชีพกางเต็มทางดิ่งอยู่เหนือรูปอาร์ม พื้นของรูปอาร์มทำด้วยไหมสีธงชาติ มีดิ้นเงินปักเป็นวงรอบ 1 เส้น ตรงกลางมีรูปนักโดดร่มปักด้วยดิ้นเงิน ประกอบด้วย ปีกนกทั้ง 2 ข้าง ขนาดของปีกกว้าง 4 ซม. สูง 2 ซม. ปักด้วยดิ้นเงิน มีดาวโลหะสีเงินห้าแฉก 1 ดวงอยู่เหนือร่ม และมีช่อชัยพฤกษ์โอบใต้ดาวโลหะสีเงิน บนพื้นปีกนกทั้ง 2 ข้าง มีดาวโลหะสีดำรูปห้าแฉกขนาดเล็กติดอยู่ตรงกลางข้างละดวง สาบทำด้วยสักหลาดสีแดงเลือดหมู
...
ชั้นกิตติมศักดิ์ ลักษณะของเครื่องหมายเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 เว้นแต่สาบ ทําด้วยสักหลาดสีฟ้าและตรงกลางไม่มีรูปนักโดดร่ม โดยจะให้แก่ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือ สนับสนุนกิจการของตำรวจตระเวนชานแดน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือคนที่มาบรรยายให้ความรู้แนวทางกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4 ปี โดยใน 1 ปี ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง รวมไปถึงผู้การจังหวัด ผู้ว่าฯ ราชการจังหวัด โดยจะได้รับมอบจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
หลักสูตรพิเศษ HAHO / HALO คืออะไร
ผู้กำกับกบ กล่าวว่า หลักสูตรพิเศษ HAHO หรือ High Altitude High Opening โดดสูงเปิดร่มสูง และ HALO หรือ High Altitude Low Opening โดดสูงเปิดร่มต่ำ เป็นหนึ่งในยุทธวิธีส่งกำลังทางอากาศ ผู้ที่จะทำการฝึกจะต้องมีทักษะความชำนาญจะต้องบังคับท่าทางตัวเองในอากาศได้
...
ถือเป็นอีกขั้นของการฝึกโดดร่มแบบกระตุกเอง โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการฝึกทบทวนเพื่อให้มีความชำนาญขั้นสูงเพิ่มขึ้นไป ก่อนจะโดดจริงต้องเข้ารับการทดสอบร่างกาย ฝึกท่าทาง การบังคับทิศทางในอากาศ การฝึกพับร่ม การแก้ปัญหา ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องจำลองเสมือนจริง หรือ "อุโมงค์ลม" ที่ใช้ในการฝึกกำลังพลก่อนจะมีการโดดจริง เพื่อให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งในประเทศไทยมี "อุโมงค์ลม" เพื่อจำลองการฝึกอยู่ 2 แห่ง ดังนี้
1. อุโมงค์ลมทางดิ่งแบบปิด ของทหารบก ณ สถานีฝึกการลอยตัว โรงเรียนสงครามพิเศษ ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี
2. อุโมงค์ลมชัยจินดา ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ณ ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
การโดดร่มแบบ HALO หรือ โดดสูงเปิดร่มต่ำ จะกระโดดออกจากอากาศยาน เหนือพื้นที่เป้าหมาย ที่ความสูงประมาณ 10,000 ฟิตจากพื้นดิน จนกระทั่งความสูงประมาณ 4,000 ฟิต จะเปิดร่ม ทำให้มีเวลาอยู่ในอากาศประมาณ 30 วินาที เพื่อลงสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนยุทธวิธีโดดร่มแบบ HAHO หรือ โดดสูงเปิดสูง เป็นยุทธวิธีของการแทรกซึมเบื้องสูงของทางทหาร ในยามสงครามนักโดดจะกระโดดออกจากอากาศยานนอกพื้นที่ของข้าศึก ในระดับความสูงประมาณ 20,000 - 50,000 ฟิต จากระดับพื้นดิน แล้วทำการเปิดร่มบังคับทิศทางไปในพื้นที่หรือหลังแนวของข้าศึก เพื่อปฏิบัติการทางยุทธวิธีภาคพื้นดิน ซึ่งการโดดแบบนี้จะทำให้นักโดดบังคับร่มไปได้ในระยะไกล 30 - 50 กม. ยากต่อการถูกฝ่ายตรงข้ามตรวจพบ
แต่การโดดที่ระดับความสูงมากๆ นั้น จำเป็นต้องมีหน้ากากออกซิเจน เพื่อป้องกันภาวะขาดออกซิเจน รวมไปถึงอุปกรณ์ทางทหารอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญอย่างมากในการฝึก นักโดดจะต้องมีร่างกาย จิตใจที่แข็งแรง และต้องมีความชำนาญ คล่องตัว ถือเป็นหลักสูตรที่ต้องมีสติอยู่เสมอ เพราะมีชีวิตเป็นเดิมพัน.
ผู้เขียน : J. Mashar
กราฟฟิก : Jutaphun Sooksamphun