แมลงแหล่งอาหารโปรตีนแห่งอนาคต ทดแทนเนื้อสัตว์ จากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง...ทุกฝ่ายทั้งรัฐ เอกชน ต่างโฟกัสไปที่ “จิ้งหรีด”

จนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หยิบยกมาเป็นอีกนโยบายสร้างรายได้ให้เกษตรกร ล่าสุดถูกนำมาเป็นอีกทางเลือกในการต่อสู้กับภัยแล้ง

เน้นส่งเสริมอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีด สร้างรายได้สู้ภัยแล้ง ผลักดันให้เกิดโครงการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการค้าและการส่งออก โดยอาศัยเทคโนโลยีจากสถาบันการศึกษาที่ได้มาตรฐานเข้ามาช่วย

แต่พัฒนาให้ร่วมสมัยเข้ากับยุคดิจิทัล จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร นำผลงานวิจัย “นวัตกรรมการผลิต Insect-based functional ingredients สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและสัตว์แบบครบวงจร ด้วยระบบ Modern insect farming และ Zero-waste process” มาใช้ประโยชน์

เนื่องจากมหาวิทยาลัยนเรศวรมีความพร้อมด้านทีมผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยเชิงพาณิชย์ มีศักยภาพต่อยอดการใช้ประโยชน์ มีเครื่องจักรแปรรูป โดยเฉพาะการแปรรูปผงโปรตีนจากจิ้งหรีดคุณภาพสูงที่ได้ราคาค่อนข้างดีกำลังเป็นที่นิยมของต่างประเทศ

มีโครงการนำร่องที่สุพรรณบุรีด้วยเหตุผลมีเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาการขาดแคลนรายได้ในช่วงหน้าแล้งมานาน

สำหรับคำถามแล้วเกษตรกรจะทำได้หรือไม่ แต่ไม่น่าห่วงเพราะทางกระทรวงพร้อมให้การสนับสนุนด้านการอบรมให้ความรู้ รวมทั้งจัดสรรอุปกรณ์การเลี้ยง อาหารเลี้ยงต้นทุนต่ำ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ

ที่สำคัญไม่ต้องกลัวเลี้ยงแล้วไม่มีที่ขาย เพราะมีการประกันราคาให้

แต่ประเด็นที่สังคมอยากตั้งข้อสงสัยใคร่รู้...อ้างเหตุผล เพื่อช่วยเกษตรกรมีอาชีพสู้ภัยแล้ง แต่เหตุไฉนถึงต้องเป็นสุพรรณบุรี เพราะถือเป็นจังหวัดที่มีระบบชลประทานดีเป็นอันดับต้นๆของประเทศ

...

ถ้าบอกภัยแล้ง ใครก็รู้ว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือน่าจะเหมาะที่สุด...ไปๆมาๆ จิ้งหรีดสู้แล้ง เพื่อใครและอะไรกันแน่???

สะ–เล–เต