พูดถึงประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมของไทย คงต้องยอมรับโดยดุษฎี เรายังคงด้อยกว่าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ประเทศที่เชี่ยวชาญการเลี้ยงโคนมค่อนข้างมาก
ยิ่งในยามใกล้เวลาเปิดเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ และนิวซีแลนด์ จะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ดูเหมือนผลกระทบยิ่งบีบใกล้เข้ามาทุกขณะอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
ฉะนั้นการตั้งตาตั้งใจสู้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อันมีประสิทธิภาพ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรไทย ย่อมดีกว่านั่งรอให้ผลกระทบมาเยือนอย่างเดียว
โครงการจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง (Thai-Denmark Smart Dairy Farm) จึงเกิดขึ้นตามมติ ครม. เมื่อปี 2562 โดยอนุมัติงบประมาณให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ยืมเงินจำนวน 51.7 ล้านบาท ลงทุนจัดตั้งฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
ขณะนี้โครงการก้าวหน้าเป็นลำดับ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ อ.ส.ค.จะซื้อแม่โคไม่น้อยกว่า 100 ตัวเข้าสู่ฟาร์ม เพื่อผลักดันเป็นฟาร์มสาธิต ถือเป็นฟาร์มสาธิตนำร่องแห่งแรกของประเทศ
ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมของประเทศ ใช้ในการศึกษา พัฒนารูปแบบการบริหารจัด การฟาร์มด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
อาทิ การสแกนเบอร์โคเพื่อเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ระบบรีดนมแบบไปป์ไลน์ ที่บันทึกปริมาณน้ำนมดิบรายตัวรายวัน มีระบบทำความสะอาด กำจัดของเสียในฟาร์ม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์ม เช่น การเลี้ยงแบบขังในคอก และใช้อาหารผสมสำเร็จที่มีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของโค
การจัดการคอกพักโค และระบบระบายความร้อน ที่ทำให้แม่โคอยู่สบายตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ การบริหารจัดการ และเก็บข้อมูลโครายตัวในระบบคอมพิวเตอร์
...
มีเป้าหมายให้มีการฝึกอบรม และศึกษาดูงานในฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง สำหรับนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ปีละไม่น้อยกว่า 680 คน และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมกิจการฟาร์มไม่น้อยกว่า 10% จากปัจจุบันที่ปีละ 60,000 คน.
สะ-เล-เต