กรมประมงประสบความสำเร็จในการคิดค้นสูตรอาหารเลี้ยงปลาโปรตีนสูงสำหรับเลี้ยงปลาทะเลกินเนื้อ ด้วยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ทดแทนปลาป่นและกากถั่วเหลืองได้ด้วยต้นทุนต่ำ
นางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต เผยว่า กากถั่วเหลืองและปลาป่น เป็นตัวทำให้ต้นทุนค่าอาหารของเกษตรกรสูงถึง 50-60% ของต้นทุนการเลี้ยงทั้งหมด กรมประมงมีนโยบายให้พัฒนาสูตรอาหารเรื่อยมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี เพื่อต้องการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร กระทั่งได้สูตรที่ลงตัว พร้อมเตรียมเปิดอบรมให้กับเกษตรกรหลังหมดวิกฤติโควิด-19
ด้วยการนำเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์ปีกที่หาได้ตามโรงงานทั่วไปในพื้นที่มาใช้ทดแทนปลาป่น ส่วนวัตถุดิบทดแทนกากถั่วเหลือง เป็นการนำผลพลอยได้จากกระบวน การผลิตเอทานอลในกิจการอุตสาหกรรม และกากปาล์มเนื้อในเหลือทิ้ง รวมไปถึงเศษเหลือจากการแปรรูปปลาทะเล อาทิ ไส้ สำหรับแต่งกลิ่น
“เราพบว่าวัตถุดิบเหล่านี้เป็นแหล่งโปรตีนที่หาได้ง่าย มีราคาถูก บางอย่างไม่เสียเงินซื้อ เสียแค่ค่าขนส่ง ทางต้นทางผลิต โรงงานต่างๆ ยินดีให้ เพราะไม่ได้นำไปใช้อะไรอยู่แล้ว เมื่อนำมาผสมกันจะให้ระดับโปรตีน 38-42% ซึ่งเป็นระดับโปรตีนที่ปลาทะเลกินเนื้อต้องการ จึงนำมาผสมกันในเครื่องผลิตอาหารเม็ดแบบลอยน้ำ อัดเป็นเม็ดที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดปากปลา ส่วนปริมาณวัตถุดิบ ขึ้นกับความต้องการโปรตีนของปลาทะเลแต่ละช่วงวัย ขณะที่ปริมาณวัตถุดิบก็หาประยุกต์เอาได้ตามฉลากถุงอาหารทั่วไป หรือตามสื่อต่างๆ เช่น หากสูตรปลาเล็กใช้โปรตีนจากปลาป่นเท่านี้ ก็ใช้เศษเหลือจากการแปร รูปสัตว์ปีกปริมาณเท่ากัน”
...
ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต เผยอีกว่า ผลจากการนำสูตรอาหารนี้ไปทดสอบภาคสนาม พบว่าสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์น้ำได้ไม่น้อยกว่า 35% อีกทั้งปลาทะเลที่เลี้ยงมีการเจริญเติบโตที่ดี อัตราแลกเนื้อ และอัตรารอดสูง ไม่ต่างไปจากการเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดทั่วไป รวมทั้งคุณภาพเนื้อปลาทะเลไม่ลดลง ไม่มีของเสียจากตัวปลาทะเล และอาหารที่ทำให้เกิดดิน และน้ำเสียบริเวณแหล่งเลี้ยง ที่สำคัญสามารถเก็บรักษาได้นานกว่าอาหารทั่วไป โดยที่คุณค่าทางอาหารไม่ลดลง สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต 0-7662-1822 ในวันและเวลาราชการ.