ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา...วงการลำไยมักเกิดปัญหาระหว่างล้งกับเกษตรกรบ่อยครั้ง ล้งต้องการผลผลิตให้ได้ตามโควตาที่ตกลงกับผู้ส่งออกไว้ ส่วนเกษตรกรต้องการราคาผลผลิตที่พออยู่ได้ จึงกลายเป็นที่มาของการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระหว่างกัน ส่วนเรื่องของราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด
“ด้วยมีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นข้อผูกมัด ทำให้เกษตรกรไม่สามารถไปขายให้เจ้าอื่นได้ ปัญหาต่างๆก็ตามมา โดยเฉพาะเกษตรกรบางรายเอาเงินจากล้งล่วงหน้ามาส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นค่าปุ๋ย ค่ายา สุดท้ายไม่ว่าล้งจะบอกอย่างไร ก็จำใจต้องขาย กลายเป็นว่า วันที่เก็บผลผลิต แทนที่จะกลายเป็นวันที่มีความสุข กลับกลายเป็นวันที่เครียดที่สุด บางคนถึงกับหลั่งน้ำตา ทะเลาะเบาะแว้ง ถึงขั้นฆ่ากันก็มีให้เห็น เหล่านี้ล้วนเกิดจากกลโกงหลากหลาย ที่ล้งสรรหามาเอาเปรียบชาวสวน”
ดร.วิมล หอมยิ่ง นักวิชาการอิสระ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยบนพื้นที่ 100 ไร่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี อธิบายที่มาของปัญหา...ปกติการซื้อขายลำไย จะแบ่งเป็น 5 เกรด เบอร์ใหญ่ (1-2) เบอร์กลาง (3-4) ที่เหลือตีเป็น เบอร์ 5 หรือลำไยร่วงราคาถูก ที่ในสัญญาระบุไว้ กก.ละ 3 บาท
...
ส่วนเบอร์อื่นราคาเป็นไปตามกลไกตลาด
เดิมเบอร์ใหญ่และเบอร์กลาง จะถูกเก็บจากคนงานของล้งลงตะกร้าเดียวกัน...แต่ปัจจุบันบางล้งตีเบอร์กลางเป็นลำไยร่วงไปด้วย ทำให้เกษตรกรขาดทุนไปนับสิบเท่า เพราะบางช่วงลำไยเกรดราคาขึ้นไปถึง กก.ละกว่า 30 บาท แต่กลับได้ราคาแค่ 3 บาท
ที่สำคัญการคัดขนาดทุกอย่างคัดกันด้วยสายตา ไม่มีการใช้มาตรฐานใดๆมาชี้วัดว่าเบอร์ใหญ่ขนาดเท่าใด เบอร์เล็กขนาดเท่าไร
ประการต่อมา ล้งมักมาเก็บลำไยไม่ตรงตามเวลา ถึงเวลาเก็บมักอ้างโน่นอ้างนี่ ขาดแรงงาน เพราะการเก็บแต่ละครั้งต้องใช้แรงงานค่อนข้างมาก บางครั้งก็อ้างลำไยยังไม่ได้ขนาด ผิวไม่สวย ฯลฯ เกษตรกรจึงจำใจต้องปล่อยให้ลำไยเสียหายคาต้น จะไปขายคนอื่นก็ไม่ได้ เพราะมีสัญญาซื้อขายต่อกัน
หากเกษตรกรไม่ยอม หรือพยายามสร้างเงื่อนไข ล้งจะขู่ไม่เก็บลำไยให้สวนนั้น เจ้าของสวนส่วนใหญ่เลยต้องจำใจขาย เพราะไม่มีทางเลือก เนื่องจากเบิกเงินมาใช้แล้วบางส่วน และหากปล่อยลำไยทิ้งไว้ สุกแล้วแค่สัปดาห์เดียว ลำไยจะผิวดำคล้ำ ส่งออกไม่ได้ สุดท้ายลำไยดีๆจะกลายเป็นลำไยลร่วง
ประการสุดท้ายที่เจอกันแทบทุกสวน...โกงน้ำหนัก ปกติการเก็บลำไยจะใช้น้ำหนักตะกร้าเป็นเกณฑ์ ตามสัญญาซื้อขายคือ ตะกร้าละ 11.5 กก. รวมน้ำหนักตะกร้า (ล้งเป็นผู้เอาตะกร้ามา) เอาเข้าจริงบางครั้งอัดใส่ถึงตะกร้าละ 14-15 กก. โดยใช้วิธีเด็ดกิ่งออกให้เยอะ ตะกร้าจะได้บรรจุผลลำไยได้มาก ที่สำคัญจะสุ่มชั่งน้ำหนัก ไม่ได้ชั่งน้ำหนักทุกตะกร้า
...
“ปัญหานี้แก้ได้ถ้าทุกคนช่วยกัน ภาครัฐควรบังคับให้มีการคัดขนาดลำไยด้วยการใช้ตะแกรงร่อนคัดไซส์ให้ได้มาตรฐาน ไม่ใช่วัดด้วยสายตาจนนำไปสู่การเอาเปรียบชาวสวน ส่วนน้ำหนักเกิน ควรบังคับและสร้างมาตรฐานด้วยการชั่งน้ำหนักทุกตะกร้า ที่สำคัญรัฐอย่าทำแต่เรียกร้องให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน แต่กลับไม่มีมาตรฐานล้งที่เป็นรูปธรรม ฉะนั้นรัฐควรมีการออกหนังสือรับรองมาตรฐาน ให้ล้งที่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เพื่อชาวสวนได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในการขาย”
ดร.วิมลเสนอแนะวิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ สั้นๆ...แต่ไม่รู้ว่าภาครัฐจะเข้าใจภาษาชาวบ้านหรือเปล่า เพราะวิธีการเดียวกันนี้ไม่เพียงจะแก้ปัญหาลำไยเท่านั้น ยังสามารถนำไปปรับใช้กับสินค้าเกษตรได้หลายชนิด.
กรวัฒน์ วีนิล