“โครงการ U2T เป็นการช่วยเหลือลูกหลานชาวบ้าน 6 หมื่นคน ให้มีงานทำในภาวะวิกฤติโควิด-19 ขณะเดียวกัน จะสร้างคน 6 หมื่นคนด้วยทักษะใหม่ ให้เป็นคนที่จะมาพลิกโฉมประเทศไทย จาก 3 พันตำบล สู่อำเภอ สู่จังหวัดและทั่วทุกภูมิภาค”
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ “U2T” ที่ส่งคน 6 หมื่นคนลงพื้นที่ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า เราจะต่อจิ๊กซอว์เล็กๆ เหล่านี้ให้เป็นภาพประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปและที่สำคัญ U2T เป็นโครงการแรกในประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย 76 แห่ง อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษาและประชาชนลงไปทำงานชุมชนพร้อมกัน เพราะเมื่อจะรบแล้วต้องชนะ
U2T เป็นโครงการจ้างงาน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่และประชาชน 60,000 คน ให้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างงานและพัฒนาแก้ไขปัญหาและเศรษฐกิจของตำบลแบบพุ่งเป้า โดยดำเนินการ 1 ปี
...
สำหรับโรดแม็ปของโครงการ U2T ขณะนี้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เริ่มพัฒนาทักษะการทำงานในด้านต่างๆผ่านระบบออนไลน์ ทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะด้านการเงิน ภาษาอังกฤษ และทักษะสังคม รวมทั้งทักษะเฉพาะด้านที่สอดคล้องกับงานพัฒนาชุมชน พร้อมๆกับการจัดทำข้อมูลชุมชน ข้อมูลตำบลใน 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อวิเคราะห์ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของตำบลนั้นๆ ในการใช้ทำแผนการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะจัดเก็บลงในระบบการจัดเก็บข้อมูล หรือ Data Lake ผ่าน application U2T ในมือถือ โดยข้อมูลจะมีทั้งด้านการท่องเที่ยว ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม ด้านชุมชนเมืองของตำบล เป็นต้น
“การเข้าไปช่วยชุมชนครั้งนี้ เราไม่ได้แค่จะสอนชาวบ้านให้รู้จักวิธีจับปลา แต่เราจะช่วยแนะนำสร้างแหล่งเลี้ยงปลา สอนวิธีเลี้ยงปลา และช่วยหาหนทางนำปลาไปทำกับข้าวกิน หรือเอาไปขายสร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว เพราะโครงการนี้ รัฐบาลอนุมัติเงินกู้กว่า 10,000 ล้านบาทให้มา ซึ่งไม่ใช่เงินน้อย ที่สำคัญเงินกู้ คือ เงินที่เรายืมจากลูกหลานในอนาคตมาใช้ หมายความว่า เราต้องคืนเงินนี้และต้องใช้เงินนี้เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับพวกเขาให้คุ้มค่าที่เขาไว้ใจเรา ระยะเวลา 1 ปี คือวันแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งของผู้ได้รับการจ้างงาน 60,000 คน และชีวิตของคนใน 3,000 ตำบล และอีกความท้าทายคือต้องช่วยกันทำให้ประเทศของเราลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และแก้ปัญหาสังคม โดยเราจะสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในปีแรกที่เราหวังไว้ได้ถึง 42,190 ล้านบาท จากต้นทุนเงินกู้ 10,000 ล้านบาท สำคัญที่สุดคือให้คนรู้ว่าบัดนี้ เรานำมหาวิทยาลัยออกจากหอคอยงาช้างแล้ว” ศ.ดร.เอนก กล่าว
ขณะที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการสื่อสารโครงการ U2T เล่าถึงแผนและรูปแบบในการทำงานว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้โครงการประสบผลสำเร็จคือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำ อว.โดยมหาวิทยาลัย 76 แห่งต้องทำงานร่วมกับอาจารย์และผู้เข้าร่วมโครงการอีก 60,000 ชีวิต ถ้าใช้วิธีการสื่อสารแบบเดิมจะไม่สามารถส่งต่อข้อความหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้ทัน จึงต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เราเรียกว่า online community เพื่อใช้สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อความและข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถส่งข้อความ มอบหมายภารกิจ แจ้งกำหนดการให้ผู้ร่วมโครงการได้ตลอดเวลา มากไปกว่านั้นผู้ร่วมโครงการสามารถสื่อสารหากันข้ามพื้นที่ และสื่อสารกับมหาวิทยาลัย หรือ อว.ได้ด้วย
“การสื่อสารกับผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆทั้งชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่รวมแล้วมีจำนวนกว่าแสนคน จำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จึงได้สร้างแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ (Online community platform) ขึ้นในชื่อเว็บไซต์ “www.U2T.ac.th” ที่มีรูปแบบ ทันสมัย เหมาะกับสังคมยุคใหม่ เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และเข้าใจภารกิจชัดเจน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การนำเสนอภารกิจภายในตำบลอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำ Blog หรือ Vlog ของกิจกรรมในแต่ละตำบล การสร้างเว็บบอร์ดสำหรับแบ่งปันเรื่องราวของกิจกรรมที่ทำ การสร้างความมีส่วนร่วมจากเรื่องราวที่แชร์ไปยังโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เป็นต้น รวมถึงเติมเต็มความรู้ จากเรื่องราวของวิทยากรที่ประสบความสำเร็จและผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดเพื่อสร้างแนวคิดในการพัฒนาท้องถิ่น สร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนร่วมในโครงการ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon)เพื่อเฟ้นหาผลงานที่โดดเด่นและมีผลสัมฤทธิ์ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาท้องถิ่นให้กับตำบลอื่นๆต่อไป” นายเอกนัฏ กล่าว
...
ศ.ดร.เอนก กล่าวด้วยว่า ผมเรียนหมอที่จุฬาหวังเพื่อจะได้ช่วยผู้คน ผมเคยเข้าป่าไปกับกลุ่มนักศึกษาสมัยปี 19 ก็เพราะหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ผมไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาด้านรัฐศาสตร์ กลับมาเป็นอาจารย์ก็เพราะหวังว่าจะช่วยให้ความรู้กับเยาวชนเพื่อไปช่วยกันพัฒนาชาติบ้านเมือง สิ่งที่ผมทำและหวังมาตลอด เมื่อเวลาผ่านไป ผมตระหนักดีว่าผมจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ด้วยกำลังของผมคนเดียวไม่ได้ ผมต้องการคนที่คิดแบบผม และผนึกกำลังร่วมมือเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นไปด้วยกัน นี่คือความท้าทาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคน 60,000 คน และชีวิตของคนในอีก 3,000 ตำบลทั่วประเทศ
“ผมอยากให้ประชาชนร่วมมือกับพวกเรา ช่วยตรวจสอบ ช่วยให้กำลังใจ” รมว.อว.กล่าวทิ้งท้าย
...
“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า U2T เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเปลี่ยนอนาคตของคนและชุมชน จึงต้องมีการดำเนินการอย่างมีแบบแผนที่รัดกุม เพราะสิ่งที่ อว.จะดำเนินการต่อคือ การจ้างงานเพิ่มอีก 4,900 ตำบลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็น 7,900 ตำบล
สิ่งที่ต้องจับตานับแต่นี้ คือผลสัมฤทธิ์ของโครงการ U2T ใน 1 ปี ว่า ผู้ได้รับการจ้างงานและชุมชน มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
นี่คือคำถามที่รอคำตอบด้วยผลงานของ อว. ผ่านโครงการ U2T ที่มีเงื่อนเวลา 1 ปีเป็นเดิมพัน.
ทีมข่าวอุดมศึกษา