- น้ำประปาเค็ม หรือน้ำประปากร่อย ในปี 2564 เกิดจากอะไร
- คนที่ต้องคุมปริมาณโซเดียม อาจจะต้องหลีกเลี่ยง ดื่มน้ำประปากร่อย
- กปน. เผยแผนรับมือน้ำประปากร่อยในอนาคต ยัน ประชาชนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดหน้าแล้ง
ช่วงนี้ หลายคนอาจจะได้ยินข่าวน้ำประปาเค็ม ทำให้เกิดความกังวล สำหรับผู้ที่ต้องบริโภคน้ำประปาโดยไม่ผ่านเครื่องกรองน้ำ ว่าจะปลอดภัยต่อร่างกายหรือไม่
นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การประปานครหลวง ในฐานะโฆษกการประปานครหลวง เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำประปามีรสชาติเปลี่ยนไป หรือหลายคนเรียกว่า "น้ำประปาเค็ม" ซึ่งน้ำประปาเค็ม คือต้องเค็มแบบน้ำทะเล หรือเค็มแบบน้ำปลา แต่น้ำประปาของการประปานครหลวงขณะนี้ไม่เค็มถึงขนาดนั้น อยากให้ใช้ว่า "น้ำประปากร่อย"
สามารถเทียบปริมาณน้ำกร่อยได้ โดยนำน้ำจืดมาตั้ง 1 ลิตร แล้วนำเกลือมาใส่ประมาณ 1 ช้อนชา ซึ่งปริมาณโซเดียมที่ได้จะน้อยกว่าโซเดียมในก๋วยเตี๋ยว คนที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถบริโภคได้ตามปกติ ส่วนคนที่ต้องควบคุมปริมาณโซเดียม อาจจะต้องหลีกเลี่ยง
...
สาเหตุ น้ำประปากร่อยในปี 2564
สถานการณ์น้ำกร่อยในปีนี้ ค่อนข้างส่งผลกระทบมาก เนื่องจากเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง และเกิดปรากฏการณ์ยกตัวของน้ำทะเลที่ปากอ่าวไทยสูงกว่าปกติ ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีน้อย ซึ่งต้องใช้ในการรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำเจ้าพระยาตามปกติ รวมไปถึงกิจกกรรมการใช้น้ำในด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ทำให้ไม่สามารถปล่อยน้ำมาช่วยผลักดันน้ำเค็มได้อย่างเต็มที่ หากปล่อยน้ำจำนวนมาก อาจจะทำให้มีน้ำใช้ไม่เพียงพอในฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ เนื่องจากในปีก่อนๆ เราใช้น้ำจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน ผ่านคลองพระยาบันลือ คลองพระพิมลมาลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยเจือจางน้ำเค็ม แต่ในปีนี้น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำของแม่กลองมีน้ำน้อยกว่าปีก่อนครึ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถนำน้ำมาช่วยได้
ทั้งนี้ กปน. มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำกร่อย จะเป็นกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่ได้รับน้ำจากโรงกรองน้ำบางเขน โรงกรองน้ำสามเสน และโรงกรองน้ำธนบุรี ขณะที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กรองมาผลิตน้ำ ณ โรงผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ บริเวณถนนกาญจนาภิเษก ทำให้ฝั่งตะวันตกไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำกร่อย
อย่างไรก็ตาม กปน. ได้เตรียมความพร้อมเปิด "ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์น้ำ" ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีมาตรการสร้างเสถียรภาพในระยะยาว มาตรการจุดบริการน้ำประปาดื่มได้ช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
"ตลอดฤดูแล้งปี 2564 นี้ กปน. ขอยืนยันว่าจะสามารถให้บริการน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ มีน้ำประปาใช้ไม่ขาดแคลน เพียงแต่พื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาผลิตเป็นน้ำประปา อาจได้รับผลกระทบจากรสชาติน้ำประปาที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างในบางวันและบางช่วงเวลา
แต่น้ำประปายังคงสะอาดปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก และนนทบุรีบางส่วน จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากรับน้ำจากเขื่อนแม่กลองมาผลิตน้ำประปา ทั้งนี้ การประปานครหลวงจะมีการแจ้งข้อมูลให้ทราบล่วงหน้าเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที"
...
ในปี 2564 น้ำประปากร่อย จะเกิดในช่วงเวลาไหนบ้าง
นายคมกฤช เปิดเผยว่า ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจอีกครั้งว่า ปัญหาน้ำประปามีรสชาติเปลี่ยนไปจากเดิม จะเกิดขึ้นในบางวันและบางเวลา ซึ่งจะเป็นไปตามปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง พูดง่ายๆ คือ จะมีการเฝ้าระวังน้ำหนุนสูงในทุกช่วงวันพระของแต่ละเดือน
ช่วงที่ผ่านมาก็เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนมกราคม ล่าสุด เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง และเกิดปรากฏการณ์ยกตัวของน้ำทะเลที่ปากอ่าวไทยสูงกว่าปกติ (คล้ายกับช่วงวันที่ 10-18 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ) ประกอบกับช่วงนี้มีคลื่นลมแรงจากทะเลอ่าวไทยเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นตัวแปรที่เร่งให้เกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ช่วงวันที่ 31 มกราคม และวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา น้ำประปามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแทบตลอดวัน
แม้ กปน. จะมีการเฝ้าระวัง และดำเนินการบริหารจัดการการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ด้วยความรัดกุม หลีกเลี่ยงการสูบน้ำดิบที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้มากที่สุด เพื่อนำมาผลิตน้ำประปาที่โรงงานผลิตน้ำบางเขน สามเสน และธนบุรี ให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง แต่ข้อจำกัดสามารถหลีกเลี่ยงได้เพียง 4 ชั่วโมง
...
ในขณะที่ภาวะน้ำหนุนสูง เกิดขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 10 ชั่วโมง และในวันที่ 31 มกราคม น้ำทะเลหนุนสูงกว่า 19 ชั่วโมง เลยทีเดียว และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ประชาชนจะต้องเฝ้าระวังฝนช่วงวันที่ 10-15 กุมภาพันธ์ อีกครั้ง และจะกลับมาเป็นปกติเมื่อน้ำในเขื่อนมากพอที่จะผลักดันน้ำเต็ม หรือเข้าสู่ช่วงฤดูฝน
น้ำประปากร่อย ดื่มแล้วอันตรายไหม
การประปานครหลวง ขอแนะนำแนวทางการใช้น้ำประปาในช่วงภัยแล้งสำหรับประชาชน ตามคำแนะนำของ กรมอนามัย ดังนี้
- ผู้ที่มีสุขภาพปกติ สามารถบริโภคน้ำประปาได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากคนเราควรบริโภคเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน (2,000 มิลลิกรัม) ซึ่งร่างกายเรามักได้รับโซเดียมจากอาหารทั่วไปมากกว่าในน้ำประปา ส่วนปริมาณความเค็มที่พบในช่วงนี้ในน้ำประปาที่มีรสชาติกร่อย ถือว่าน้อยมาก เฉลี่ยประมาณแก้วละ 35 มิลลิกรัม เท่านั้น
- กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคบางช่วงเวลา ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก
วิธีตรวจสอบ น้ำประปากร่อย ด้วยตัวเอง
นายคมกฤช กล่าวว่า น้ำประปาไม่ได้มีรสชาติกร่อยตลอดทั้งวัน ช่วงเวลาที่เป็นน้ำจืดสามารถรองน้ำไว้ดื่มได้ ส่วนช่วงเวลาอื่นสามารถนำน้ำมาทำกิจกรรมอื่นๆ ภายในบ้านได้ตามปกติ เช่น อาบน้ำ ซักผ้า
สำหรับประชาชนที่ต้องการรองน้ำไว้ดื่ม สามารถติดตามข้อมูลคาดการณ์คุณภาพน้ำประปารายวัน จะเป็นกราฟบอกช่วงเวลาที่จะเริ่มรับรู้รสกร่อย กับช่วงเวลาปกติ ผ่านทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ของการประปานครหลวงได้ ทั้ง facebook / twitter /IG / Line ในชื่อ "MWAthailand" ส่วนทางแอปพลิเคชัน ชื่อว่า MWA onMobile และเว็บไซต์ www.mwa.co.th เพื่อสำรองน้ำในช่วงปกติไว้สำหรับการบริโภค และตอนนี้ กปน. กำลังพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำแบบ real time จะสมบูรณ์ทั้งระบบเร็วๆ นี้
...
นอกจากนี้ กปน. ยังได้เปิดจุดบริการน้ำประปาดื่มได้ให้บริการฟรี ให้ประชาชนสามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาได้ ดังนี้
- สำนักงานประปาสาขาสุวรรณภูมิ
- สำนักงานประปาสาขามีนบุรี
- สำนักงานประปาสาขาสมุทรปราการ
- สำนักงานประปาสาขาบางเขน
- สำนักงานประปาสาขาสุขุมวิท และสำนักงานประปาสาขาพระโขนง
- สำนักงานประปาสาขาพญาไท
- สำนักงานประปาสาขาแม้นศรี
- สำนักงานประปาสาขาลาดพร้าว
- สำนักงานประปาสาขาประชาชื่น
- สำนักงานประปาสาขาทุ่งมหาเมฆ สำนักงานประปาสาขานนทบุรี
- สำนักงานประปาสาขาบางกอกน้อย
- และจุดให้บริการที่ ชุมชนซอยสามัคคี 30 เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00-20.00 น.
- สำนักงานใหญ่ กปน. ฝ่ายมาตรวัดน้ำ สถานีสูบจ่ายน้ำคลองเตย สถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง สถานีสูบจ่ายน้ำบางพลี และสถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี เปิดให้บริการในวันและเวลาราชการ เวลา 08.30-16.30 น.
สำหรับมาตรการรับมือน้ำประปากร่อยในอนาคต กปน. ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 โดยขยายกำลังการผลิตน้ำของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ เชื่อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเพิ่มอีกหนึ่งเส้นทาง รองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ กปน. ขอความร่วมมือประชาชนทุกท่าน ใช้น้ำอย่างประหยัด และหมั่นตรวจสอบระบบประปาภายในบ้านตนเอง และซ่อมแซมทันทีหากพบการแตกรั่ว หากพบเห็นท่อประปาแตกในพื้นที่สาธารณะ สามารถแจ้งได้ที่ MWA call center 1125 หรือแอปพลิเคชัน MWA onMobile ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดการสูญเสียน้ำประปา และสงวนต้นทุนน้ำให้ทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอ.