ยิ่งตรวจยิ่งเจอ ไทยพบติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีก 829 คน ส่วนใหญ่มาจากตรวจเชิงรุกในสมุทรสาคร แต่ภาพรวมแค่เดือนเดียวการระบาดลงฮวบจากค่อนประเทศเหลือแค่ 12 จังหวัด ขณะเดียวกัน มาใหม่อีก “คลัสเตอร์โต๊ะแชร์มหาสารคาม” พบติดเชื้อแล้ว 18 คน หลังลุยตรวจหาเชื้อไปกว่า 4 พันคน รวมถึงยังน่าห่วงจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อพบคนไทยจากมาเลเซียลักลอบเข้าประเทศหลุดมาถึง กทม. ด้านสำนักวิจัยแห่งชาติทำเก๋ใช้ระบบ AI ประเมินคนใส่หน้ากากอนามัย พบตกเย็นคนกรุงใส่หน้ากากน้อยลง แถมเขตดอนเมืองคนไม่ค่อยใส่หน้ากากอนามัย
ผ่านเดือนแรกของปี 2564 ที่ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทย มีแนวโน้มดีวันดีคืน เว้นบางพื้นที่ที่ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในลักษณะเป็นกลุ่มหรือคลัสเตอร์จากการจัดเลี้ยงสังสรรค์
ตรวจเชิงรุกเจอติดเชื้อเพียบ
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 ม.ค.เวลา 01.30 น. พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 829 คน เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 822 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 7 คน ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 18,782 คน ยอดหายสะสม 11,615 คน อยู่ระหว่างรักษา 7,090 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดเสียชีวิตคงที่ 77 คน ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 829 คน เป็นผู้ป่วยจากการเฝ้าระวังและระบบบริการ 91 คน จำนวนนี้อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร 79 คน และนครปฐม นนทบุรี ขอนแก่น ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม จังหวัดละ 1 คน ส่วนผู้ป่วยค้นหาเชิงรุกในชุมชน 731 คน พบที่สมุทรสาคร 722 คน (เมียนมา 680 คน ไทย 42 คน) มหาสารคาม 4 คน กทม. ชลบุรี ปทุมธานี ระยอง และสมุทรสงคราม จังหวัดละ1 คน ส่วนผู้ที่ติดเชื้อที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 7 คน เดินทางมาจาก ไอร์แลนด์ 2 คน บาร์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอียิปต์ ประเทศละ 1 คน
...
ยังพบระบาดใน 12 จังหวัด
พญ.พรรณประภา กล่าวอีกว่า หากดูจากแผนที่ประเทศไทย จะพบว่าสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเหลือเพียง 12 จังหวัด แตกต่างจากสัปดาห์ที่หนึ่งและสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ม.ค.ที่มีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อถึง 63 จังหวัด อย่างไรก็ตาม สำหรับ จ.สมุทรสาคร จะยังทำการค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน ค้นหาเชิงรุกให้ได้มากที่สุด และจะมีการปรับมาตรการของแต่ละพื้นที่ในจังหวัดให้เหมาะสมกับการแพร่ระบาด เพราะการระบาดในแต่ละอำเภอมีความแตกต่างกัน
ช่วงเย็นคนกรุงใส่หน้ากากน้อยลง
พญ.พรรณประภา กล่าวว่าศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้รับรายงานการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่นำระบบปัญญาประดิษฐ์มาประเมินการใส่หน้ากากอนามัย หรือ AIMASK ใช้กล้องซีซีทีวีตามเขตพื้นที่ต่างๆ ทำการวิเคราะห์การใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนใน 15 เขตของ กทม.ช่วงวันที่ 21-27 ม.ค.ภาพรวมใส่หน้ากากถูกต้องร้อยละ 97.53 ใส่ไม่ถูกต้องร้อยละ 1.42 และไม่ใส่หน้ากากร้อยละ 1.05 แต่พบว่าที่เขตดอนเมือง ใส่หน้ากากน้อยกว่าร้อยละ 90 นอกจากนี้ ประชาชนมีแนวโน้มใส่หน้ากากไม่ถูกต้องและใส่หน้ากากน้อยลงในช่วงเย็น และกลุ่มที่ใส่หน้ากากไม่ถูกต้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์
ห่วงโควิดปะทุชายแดนใต้
จากนั้นที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ยังต้องให้ความสนใจคือ บริเวณชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ประเทศ ปล่อยตัวผู้ต้องกักขังกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งคนไทยที่ทำงานในมาเลเซีย เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งลักลอบเข้าประเทศทางเส้นทางธรรมชาติ และพบว่าติดเชื้อ เช่น กรณีหญิงไทย 3 คน ลักลอบเข้าไทยทางเส้นทางธรรมชาติ เหมารถตู้มากรุงเทพฯ สุดท้ายพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สันนิษฐานว่าติดระหว่างถูกกักตัว ยังดีที่ผู้ป่วยหญิงรายนี้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาโอกาสการแพร่เชื้อจึงน้อย อยากขอให้คนไทยที่มีญาติอยู่ในมาเลเซียและประเทศอื่นๆ หากจะกลับเข้าประเทศ ขอให้ติดต่อกับทางการและเข้ามาในช่องทางที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเจ็บป่วยเรารักษาแน่นอน แต่หากเข้ามาในช่องทางที่ผิดกฎหมาย เมื่อติดเชื้อจะมีโอกาสแพร่ระบาดไปให้คนอื่น และเมื่อหายแล้ว ต้องถูกดำเนินคดี รวมถึงขอความร่วมมือเจ้าของรถตู้ ก่อนรับผู้โดยสารขอให้สอบถามที่มา หากพบเห็นคนแปลกหน้า ต่างถิ่น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
ชี้จุดติดเชื้อในสมุทรปราการ
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่า สำหรับการแพร่ระบาดที่พบใน จ.สมุทรปราการ จำนวน 20 คน เป็นตัวอย่างการแพร่เชื้อในสถานที่ทำงานและชุมชน สอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยรายแรก เป็นหญิง ชาวเมียนมา อายุ 19 ปี อาชีพพนักงานบริษัท จากการตรวจหาเชื้อพนักงานในบริษัท 281 คน พบเชื้อโควิด 18 คน ช่วงเวลาที่ติดเชื้อคาดว่าเป็นช่วงการพูดคุยกัน และร่วมรับประทานอาหารกัน สำหรับสถานที่เสี่ยงติดเชื้อคือ ห้องน้ำ และห้องอาหาร กรณีนี้เชื่อมโยงกับชุมชนตลาดโต้รุ่ง เบื้องต้นพบผู้ติดเชื้อ 2 คน ทั้งนี้ ชุมชนดังกล่าวมีคนอาศัยหนาแน่นกว่า 1,200 คน ซึ่งกรมควบคุมโรคไปตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชนในวันที่ 31 ม.ค.นี้แล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ติดตามผู้สัมผัสกับผู้ป่วยและนำมากักตัวในสถานที่กักกันของรัฐทั้งหมดแล้ว ขอให้ประชาชนคลายความกังวลใจ แต่หากมีประชาชนอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดโต้รุ่งในเวลาเดียวกันกับผู้ป่วย สามารถขอรับการตรวจเชื้อได้
เชื่อคุมเคสติดเชื้อในห้างได้แล้ว
ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อในห้างไอคอนสยาม นพ. โอภาสกล่าวว่า ยืนยันจำนวนผู้ติดเชื้อที่ 7 คน เท่าเดิม ยังไม่มีเพิ่มเติมถือว่าสถานการณ์นี้ควบคุมได้แล้ว ประชาชนสามารถเที่ยวห้างได้อย่างสบายใจ เพราะห้างไอคอนและเจ้าของกิจการทำความสะอาดและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคในการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ รู้สึกไม่สบายใจ เพราะมีจำนวนผู้ใช้ลดลง เหลือเพียง 6.7 ล้านคน อยากขอให้ประชาชนช่วยกันโหลด เพราะพบว่าบางคนมีการลบหมอชนะออกไป ทำให้การสอบสวนโรคยากขึ้น
...
กระจายวัคซีนเป็นธรรม
ต่อมานายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบแนวทางเกี่ยวกับการบริหารวัคซีนโควิด-19 ยึดหลักให้มีการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานสากล คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจะบริหารแผนการฉีดวัคซีน และกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามประเมินผลการฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิด คาดเริ่มฉีดวัคซีนให้คนไทยคนแรกได้ภายในเดือน ก.พ. รวมถึงรัฐบาลได้สนับสนุนงบฯวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ภายในประเทศ กลุ่มที่ก้าวหน้ามากที่สุดมี 3 ชนิด คือ ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์ ชนิด Protein subunit (Plant-based) ของบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชนิด DNA โดยบริษัทไบโอเนท เอเชีย อยู่ช่วงแสวงหาความร่วมมือ หรือพัฒนาศักยภาพขยายขนาดการผลิต เพื่อผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในอาสาสมัคร
แบ่งกลุ่มเป้าหมายฉีด 3 ระยะ
นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.วันที่ 29 ม.ค.รายงานแบ่งกลุ่มเป้าหมาย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ จะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ผู้มีโรคประจำตัว 6 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ระยะที่ 2 ช่วงที่มีวัคซีนเพิ่มขึ้น ขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนอกเหนือจากด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อโควิด-19 ผู้ประกอบอาชีพที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก และผู้เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ และระยะที่ 3 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณเพียงพอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร จะฉีดให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
...
นายกฯลั่นทำทุกทางให้ได้วัคซีน
ต่อมาเมื่อเวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha มีสาระสำคัญถึงการส่งมอบวัคซีนล่าช้าในหลายประเทศทั่วโลก จากการที่การผลิตวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน ส่งผลให้หลายประเทศอาจไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าอยากให้ทราบจุดยืนตน เราต้องยึดแนวทางที่ทำมาแต่ต้น ที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าเป็นแนวทางที่ได้ผลถูกต้องคือ ดำเนินการเชิงรุกอย่างเข้มงวดตั้งแต่ต้น ควบคุมและป้องกันไม่ให้โควิดเข้ามาในไทย หากเจอเล็ดลอดต้องจัดการทันที คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน คือหนทางที่จะช่วยให้เราอยู่ในสถานการณ์ที่พอจะสามารถใช้ชีวิตและทำมาหากินกันได้บ้างในระดับหนึ่ง แทนที่จะเลือกใช้ชีวิตกันแบบสบายๆ แล้วฝากความหวังไว้ว่าวัคซีน จะมาแก้ปัญหา นี่คือแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ไทย รวมถึงระบุด้วยว่าอาวุธสำคัญในมือเรา คือทุกคนต้องทำหน้าที่เพื่อชาติ ปฏิบัติตามแนวทางสาธารณสุข และอย่าปกปิดข้อมูล อย่าคิดว่าการไม่ทำตามมาตรการบ้างนิดๆหน่อยๆ จะไม่เป็นอะไร สิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนทำมีผลต่อประเทศทั้งสิ้น ขอให้ตระหนักร่วมมือต่อไป รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจยังต้องทำทุกวิถีทางให้ไทยได้รับวัคซีนตามแผน
ระบบหายใจผู้ว่าฯกระเตื้อง
ส่วนความคืบหน้าอาการป่วยของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.08 น. วันที่ 30 ม.ค. รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงอาการผู้ว่าฯสมุทรสาครว่า ไม่มีเว้นวันหยุด คณะกรรมการแพทย์ประชุมกันทุกวันเพื่อหาหนทางเยียวยาพ่อเมืองสาครให้ฟื้นกลับคืนมาได้ใกล้เคียงเดิมที่สุด วันนี้การทำงานของปอดและระบบการหายใจกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย ส่วนการทำงานของอวัยวะอื่นยังได้รับการประคับประคองให้ทำงานกันอย่างยอดเยี่ยมได้อยู่ ตอนบ่ายเช่นเคยคือเปิดโอกาสให้คู่ชีวิตและลูกสาวของพ่อเมืองสาครเข้าเยี่ยม วันนี้มีลูกสาวแฝดสองคนท้ายมาร่วมแจมด้วย การสนทนา family business วันนี้มีหลากหลายอารมณ์กว่าเดิม แถมด้วยเสียงเพลงท่อนสั้นๆจากคู่ชีวิตของท่านด้วย และวันนี้เราได้จัดหาหูฟังขนาดใหญ่ที่ช่วยตัดเสียงรบกวนจากอุปกรณ์การแพทย์ในห้องพักของท่าน พร้อมกับให้ครอบครัวจัดเตรียมเสียงเพลง เสียงสนทนา เสียงพากย์บอล (ตอนหงส์แดงลงแข่ง) และเสียงอื่นที่ท่านโปรด เพื่อนำมาเปิดหมุนเวียนไปตลอดเวลาเท่าที่จะอำนวย หวังผลกระตุ้นการพลิกฟื้นของกายและจิตให้กลับมาไวๆ
...
คาดวิกฤติระลอกใหม่ใกล้สงบ
รศ.นพ.นิธิพัฒน์โพสต์ด้วยว่า ช่วงนี้ทีมโควิดวิกฤติศิริราชงานเบาลงมาก เพราะไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เติมเข้ามา คาดว่าน่าจะปิดซีซันสองได้ในสัปดาห์หน้า รอบนี้คิดว่าศึกโควิดใกล้สงบแล้ว เหลือแค่รอเช็กบิลที่สมุทรสาคร และ กทม.ให้เรียบร้อย แต่ก็ยังไม่วางใจเสียทีเดียวเพราะยังมีผู้ป่วยไปโผล่ในกลุ่มคนไทยและแรงงานต่างชาติในโรงงานที่สมุทรปราการได้ ขอให้พวกเราร่วมมือร่วมใจกันให้มั่นอย่าระย่อ จนกว่า วัคซีนโควิดจะมาและฉีดได้กันครอบคลุมมากพอ
สมุทรสาครติดเชื้อรวมทะลุหมื่น
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ หลายจังหวัดยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครแจ้งว่า ณ เวลา 24.00 น.วันที่ 30 ม.ค. มีผู้ป่วย รายใหม่ 801 คน จำแนกเป็นจากการค้นหาเชิงรุก 722 คน ที่เหลือเป็นผู้ป่วยจากการตรวจในโรงพยาบาล 79 คน สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมดมีจำนวน 10,529 คน ขณะที่ผู้ป่วยยังรักษาตัว มีคนไทย 459 คน แรงงานต่างด้าว 321 คน และเฝ้าสังเกตอาการอีก 5,708 คน ส่วนยอดรวมผู้เสียชีวิต 4 คน
รุกตรวจตามชุมชนทั่ว จว.
ขณะที่ตลอดวันที่ 31 ม.ค. ที่บริเวณตึก 10 เคหะท่าจีน ม.4 ต.ท่าจีน อ.เมืองสมุทรสาคร ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเคหะท่าจีนและพื้นที่ใกล้เคียงทยอยเข้ามารับการตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่และจากสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ นำรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย มาร่วมตรวจด้วยวิธี SWAB ซึ่งมีเป้าหมายตรวจ 2 พันคน ขณะที่ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 8 ส่วนเพิ่มเติม วัฒนาแฟคตอรี่ (2) หมู่ที่ 3 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ก็เริ่มรับผู้ติดเชื้อจากสถานประกอบการต่างๆในจังหวัด ประมาณ 200 ราย เข้ามาดูแลรักษาเป็นวันแรก โดยมีบุคลากรทางการแพทย์จากโรง-พยาบาลต่างๆทั่วประเทศทยอยเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนช่วยค้นหาเชิงรุกและร่วมดูแลรักษาผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 1-6 ก.พ.นี้ รพ.อุตรดิตถ์ ส่งบุคลากรทางการแพทย์ 10 คน ซึ่งมีทั้งแพทย์ พยาบาล-ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ส่วน จ.พังงา จัดส่งบุคลากรฯมาร่วมทีมช่วยเหลือจำนวน 15 คน จะปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ.เช่นเดียวกับ รพ.สมเด็จพระยุพราช–เดชอุดม ส่งบุคลากร 8 คน และพนักงานขับรถจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี 1 คน ส่วนสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูส่งบุคลากรทางการแพทย์ 10 คน ประกอบด้วยแพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 4 คน และพนักงาน ขับรถยนต์ 2 คน มาช่วยงานจนถึงวันที่ 28 ก.พ.นี้
คนแห่ซื้อของตุนก่อนปิดตลาด
ส่วนบรรยากาศที่ตลาดทางรถไฟ ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดวันมีคนไทยและแรงงานต่างด้าว เข้ามาจับจ่ายซื้อของกันอย่างคึกคัก เนื่องจากมีประกาศว่าจะปิดตลาดตั้งแต่วันที่ 1-7 ก.พ.นี้ คนจึงแห่มาซื้อของไปตุน โดยนายพรเทพ และล้ำเลิศ อายุ 37 ปี พ่อค้าผักในตลาดทางรถไฟ เปิดเผยว่า จากที่มีคนติดเชื้อหลายรายบริเวณตลาด ทำให้คนไม่กล้ามา โรงงานเองก็ไม่ยอมให้พนักงานเข้ามาซื้อของ กลัวติดโรคเข้าไปในโรงงาน ที่ผ่านมา คนมาซื้อของน้อยมาก สำหรับตลาดที่จะหยุดนั้น มีตลาดทางรถไฟกับตลาดแม่เน้ย และถ้าในวันที่ 7 พบว่ามีเชื้ออยู่คงจะต้องปิดต่อไป ขณะที่ตลาดยายพ่วงยังไม่ปิด
คลัสเตอร์ใหม่โผล่มหาสารคาม
ส่วนกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) จากการจัดงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ใน อ.เมืองมหาสารคาม การสรุปยอดผู้ป่วยยืนยันแล้ว 16 คน เป็นผู้อยู่ใน จ.มหาสารคาม 15 คน และราชบุรี 1 คน โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงที่ต้องติดตามอาการและเฝ้าระวังอีกจำนวนมาก รวมถึง นร.ชายที่ติดโควิดจากผู้ปกครอง แล้วไปโรงเรียนหลังจากที่เปิดเรียนเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาด้วยนั้น ต่อมานายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผวจ.มหาสารคาม เปิดเผยว่าผู้ป่วยที่ยืนยันผลติดเชื้อมาจากการตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งสิ้น 259 คน และเมื่อวันที่ 30 ม.ค. มีการตรวจเชิงรุกเพิ่มอีก 2,135 คน ผลเพิ่งออกมาแค่ 563 คน ผลเป็นลบทั้งหมด ส่วนที่เหลือทยอยออกมาเรื่อยๆ ส่วนวันที่ 31 ม.ค.ตรวจเชิงรุกเพิ่มอีก 1,660 คน รวม 2 วัน ตรวจเชิงรุกแล้ว 3,795 คน โดยยังต้องประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน อย่างไรก็ตาม จังหวัดได้เตรียม รพ.สนาม พร้อมรับมือไว้แล้วกว่า 350 เตียง
ให้ อ.เมืองเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอำเภอเมืองมหาสารคามได้ออกประกาศให้พื้นที่อำเภอเมืองมหาสารคามเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบกับที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ครั้งที่ 5/2564 วันที่ 31 มกราคม 2564 ได้มีมติให้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Covid-19) ขอความร่วมมือปิดสถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง คาราโอเกะ บ่อตกกุ้ง ร้านอินเตอร์เน็ต ตลาดนัดโคกระบือ และสถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่อำเภอเมืองมหาสารคาม เป็นเวลา 14 วันตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม-13 กุมภาพันธ์ 2564
เคสโต๊ะแชร์ลามนอกจังหวัด
ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ พญ.นาตยา มิลส์ ผอ.รพ.ขอนแก่น ร่วมแถลงอาการผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่และเป็นรายที่ 11 ของจังหวัดขอนแก่น เป็นชาย อายุ 57 ปี ชาวจังหวัดมหาสารคาม ว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวคือ โรคเกาต์ และความดันโลหิตสูง ช่วงแรกที่เข้ารับการรักษาต้องใช้ท่อช่วยหายใจ และเครื่องช่วยหายใจ ขณะนี้อาการดีขึ้นตามลำดับ ไข้ลดลง และอยู่ในการดูแลของแพทย์ที่ รพ.ศรีนครินทร์ อย่างใกล้ชิด ส่วนบุคลากรของทางโรงพยาบาลเอกชนที่รับตัวผู้ป่วยเข้ารักษาภายในโรงพยาบาลนั้น มีบุคลากรที่มีความเสี่ยงต่ำ 6 คน เสี่ยงสูง 8 คน ทางโรงพยาบาลกักตัว 14 วัน และเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อทั้งหมดแล้ว ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดมหาสารคามรายต่างๆ ที่มีไทม์ไลน์สัมผัสร่วมกับคนขอนแก่นนั้น ทีมสอบสวนโรคของจังหวัดขอนแก่นได้ประสานข้อมูลกับสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม และส่งทีมเคลื่อนที่เร็วไปตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงทั้งหมดแล้ว ประกอบด้วย อ.บ้านไผ่ 6 คน อ.พล 1 คน อ.เมืองขอนแก่น 1 คน อ.ชุมแพ 6 คน ผลตรวจทุกคนเป็นลบ
บ้านโป่งติดเพิ่มอีก 2 คน
ส่วนที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของพื้นที่และเป็นผู้ป่วยรายที่ 29 ของ จ.ราชบุรี พบเชื่อมโยงกับเคส จ.มหาสารคาม เนื่องจากเป็นภรรยาของผู้ป่วยนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์โควิด-19 จ.ราชบุรี ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 2 คน เชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายที่ 29 ของจังหวัด คนแรกเป็นชาย อายุ 35 ปี ชาว ต. บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง เป็นบุตรเขยของผู้ป่วยรายที่ 29 ส่วนคนที่สอง เป็นเด็กหญิงวัย 4 เดือน เป็นบุตรสาวของผู้ป่วยชายและเป็นหลานของผู้ป่วยรายที่ 29 ขณะนี้เข้ารักษาอยู่ที่ รพ.บ้านโป่ง
ผู้ติดเชื้อใหม่ระยองไม่รู้ที่มา
ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รอง ผวจ.ระยอง พร้อมด้วยนายแพทย์สุนทร เหรียญภูมิการกิจ สสจ.ระยอง ร่วมแถลงความคืบหน้าสถานการณ์ โควิด-19 ประจำวันของ จ.ระยอง โดยรอง ผวจ.ระยองระบุว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 คน เป็นชาย อาชีพพนักงานส่งเอกสารภายในโรงงาน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าติดเชื้อมาจากที่ใด เบื้องต้นเรียกตัวภรรยา และบุตร รวม 2 คน พร้อมเพื่อนสนิท 2 คน นอกจากนี้ยังมีเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงน้อย อีก 22 คน เข้ามาตรวจหาเชื้อ เบื้องต้นไม่พบเชื้อ จึงกักตัวไว้รอดูอาการ 14 วัน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 580 คน รักษาหายแล้ว 562 คน ยังเหลือผู้ติดเชื้อรักษาตัวอยู่ 17 คน แต่เนื่องจากมีการเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.พ.นี้แล้ว ดังนั้น การเดินทางข้ามจังหวัด ไม่ต้องขออนุญาต ส่วนสถานประกอบการที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการ ประกอบด้วย ผับบาร์ อาบอบนวด สนามชนไก่ โรงมหรสพทุกประเภท ร้านเกม สนามมวย สระว่ายน้ำสาธารณะ สวนน้ำ ฟิตเนส ร้านสักลาย บ่อตกปลา และบ่อตกกุ้ง ทั้งนี้ ภายหลังแถลงข่าวทางจังหวัดได้นิมนต์พระเทพสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดระยอง มาให้พรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวระยองระบุว่าขอให้ประชาชนใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท พระสังฆราชได้ประทานบทสวดมนต์ รัตนสูตร เพื่อขจัดปัดเป่าโรคภัย โดยทุกวัดจะสวดกันทุกวัน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ
ส่ง 191 เมียนมากลับประเทศ
ขณะที่บริเวณด่านพรมแดนถาวรสะพานมิตรภาพ ไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียนใต้ ต.ท่า-สายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อช่วงสายวันที่ 31 ม.ค.เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก รับตัวแรงงานชาวเมียนมาที่ถูกส่งตัวจากที่ถูกคุมขังตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง มานานเกือบ 5 เดือนหลังจากโควิด ทำให้มีการปิดชายแดนส่งกลับไม่ได้ จำนวน 191 คน เพื่อรอการตรวจสอบเอกสารก่อนผลักดันกลับไปฝั่งจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา มีนายเว่ยตู ผู้ช่วยทูตแรงงานจากสถานทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย มารออำนวยความสะดวกเรื่องเอกสาร
กทม.คง 5 จุดตรวจคัดกรอง
ส่วนใน กทม.นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และสามารถติดตามควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชนให้ระมัดระวังตนเอง ให้คงตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางเข้า- ออกกรุงเทพฯ ต่อไปอีก 5 จุด โดยประสานกอง บัญชาการตำรวจนครบาล กอ.รมน.กทม. อปพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมปฏิบัติภารกิจ และสำนักงานเขตต่างๆหมุนเวียนสับเปลี่ยนปฏิบัติงานประจำจุดตรวจ ดังนี้ 1.จุดถนนบรมราชชนนีบริเวณจุดตัดถนนพุทธมณฑลสาย 3 ตัดถนนบรมราชชนนี เขตทวีวัฒนา 2.จุดถนนเพชรเกษมบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เขตหนองแขม 3.จุดถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน 4.จุดถนนเอกชัยบางบอนบริเวณหน้าโรงเรียนศึกษานารี เขตบางบอน และ 5.จุดถนนบางนา-ตราดบริเวณหน้าครัวเจ๊ง้อ เขตบางนา ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.นี้เป็นต้นไป
ระดมทำความสะอาดห้าง
ที่ห้างไอคอนสยาม คลองสาน กทม.ผู้สื่อข่าวว่าหลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายคนที่ร้านอาหารภายในห้าง และต่อมาผลการตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 238 คน ไม่พบเชื้อแต่อย่างใด ทำให้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ห้างประกาศปิดให้บริการ 1 วัน เพื่อทำความสะอาด โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเขตคลองสาน กทม.และความร่วมมือจากร้านค้าผู้เช่าทุกราย ร่วมจัดกิจกรรมเมกะ บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ ระดมพลังทุกภาคส่วนกว่า 2,500 คน ร่วมทำความสะอาดทั่วทุกพื้นที่ของห้าง ทั้งด้านในและด้านนอก ใช้เวลา 24 ชั่วโมง ในการทำความสะอาดทุกจุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสูงสุดให้กับลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงในเดือน ก.พ.นี้ ได้อย่างปลอดภัย.
ฝรั่งเศสชะลอ-ออสซีล็อกดาวน์เพิ่ม
สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศ ยอดติดเชื้อรวมทั่วโลกเพิ่มเป็น 103 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 2.23 ล้านคน โดยที่ฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ยืนยันคำสั่งชะลอการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นรอบที่ 3 ให้ใช้เพียงปิดการสัญจรข้ามพรมแดนที่ไม่จำเป็น สาเหตุเพราะเชื่อมั่นประชาชนจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อได้ ขณะที่สาธารณสุขรายงานว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในฝรั่งเศส เป็นเชื้อกลายพันธุ์ B.1.1.7 จากอังกฤษ ส่วนรัฐบาลออสเตรเลีย สั่งล็อกดาวน์รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ทางภาคตะวันตกของประเทศ 5 วัน หลังพบพนักงานรักษาความปลอดภัยโรงแรมในเมืองเพิร์ธ ติดเชื้อกลายพันธุ์จากอังกฤษ
แนะฉีดวัคซีนอย่ากินยาแก้ปวด
ส่วนที่สหรัฐฯ ยอดติดเชื้อรวมพุ่งเป็น 26.6 ล้านคน เสียชีวิตรวม 450,381 คน โดยมีรายงานว่าศูนย์หลักในการกระจายฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ต้องปิดให้บริการชั่วคราวเป็นเวลาหลายชั่วโมง หลังมีกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการฉีดวัคซีน รวมตัวปิดกั้นทางเข้าออก ขณะที่กลุ่มที่ปรึกษาทางการแพทย์ของสหรัฐฯ ออกคำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมว่า หากฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงเช่น เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดแขน ก็ไม่ควรรับประทานยาต้านอักเสบ ยาแก้ปวดอย่างไอบิวโพรเฟน หรือพาราเซตามอล เพราะอาจไปลดประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย