นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้เสนอปัญหาการเรียนออนไลน์ อาทิ อุปกรณ์ไม่พร้อม สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่มี ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดรูปแบบการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไว้ 5 รูปแบบ ตามบริบทและความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน คือ 1.ON-AIR 2.ONLINE 3.ON-DEMAND 4.ON-HAND และ 5.ON-SITE ซึ่งไม่จำเป็นว่าโรงเรียนที่ปิดเรียนต้องใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว สามารถเลือกใช้ตามบริบทที่เหมาะสม ส่วนในเรื่องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องให้ญาติพี่น้องมาดูแลนักเรียนในขณะเรียนออนไลน์นั้น หากนักเรียนไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ในขณะที่ผู้ปกครองไปทำงาน ก็สามารถกลับมาเรียนย้อนหลังในเวลาหลังเลิกงานของผู้ปกครอง ผ่านรูปแบบ ON-DEMAND หรือ ON-HAND ก็ได้

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆที่ผู้ปกครองได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้ กับทางโรงเรียน ทั้งค่าอาหารกลางวัน ค่ารถ ค่าที่พัก ค่าเรียนพิเศษ แต่กลับไม่ได้ใช้เพราะต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์แทนนั้น ในส่วนของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าเทอมจากนักเรียน เนื่องจากรัฐบาลได้จัดงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ในส่วนของสถานศึกษาที่เปิดห้องเรียนพิเศษตามโครงการต่างๆ ให้คืนค่าใช้จ่ายที่จะนำไปใช้ในการจัดค่ายวิชาการแก่นักเรียนที่เรียนในห้องเรียนพิเศษตามโครงการต่างๆทุกคน สำหรับค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ สถานศึกษายังคงใช้จ้างครูชาวต่างประเทศเพื่อสอนออนไลน์ให้แก่นักเรียน เช่นเดิม และในสถานศึกษาบางแห่งใช้วิธีการบริหารจัดการ โดยไม่ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในภาคเรียนที่ 2/2563 แต่นำเงินค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไว้ในภาคเรียนที่ 1/2563 ซึ่งไม่ได้ใช้จ่ายเนื่องจากการแพร่ระบาดในรอบแรกมาใช้ในภาคเรียนที่ 2/2563 ทั้งนี้ สพฐ.ได้จัดสนับสนุนค่าใช้จ่ายในรายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกันด้วย.

...