นับว่ายังมีเรื่องดีอยู่ในวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ที่ได้ กระชากหน้ากาก “ขบวนการขนแรงงานเถื่อน และบ่อนพนัน” ให้ผุดขึ้นเห็นชัดมากยิ่งขึ้น หลังซุกซ่อนหมักหมมฝังรากลึกในสังคมมาช้านาน จนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้
ทว่าขบวนการนี้ถูกกล่าวอ้างรับรู้กันมาช้านานเช่นกันว่า คนมีสี ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐบางคน เข้ามายุ่งเอี่ยวรับผลประโยชน์ เพื่อให้ได้รับการอะลุ่มอล่วย “หลับตาข้างเดียว” จนอยู่รอดการจับกุมมาถึงทุกวันนี้
กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก ทำให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดกรณีการเข้าเมืองผิดกฎหมาย และสถานที่เล่นการพนัน ที่เป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ด้วยการรายงานลับผลการตรวจสอบให้นายกฯ พิจารณาสั่งการทุกรอบ 30 วัน
เสมือนเป็นการ “ไขลาน จนท.ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง” ในการกวาดล้างบ่อนพนัน และแรงงานเถื่อนอย่างเข้มงวด ด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายทุกฉบับที่มีอยู่อย่างเด็ดขาด ทั้งตามล่าติดตามนายทุนผู้อยู่เบื้องหลัง ผู้อำนวยความสะดวก ผู้ละเว้น หรือผู้ปล่อยปละละเลยมาดำเนินการลงโทษด้วยเช่นกัน
...
ท่ามกลางเสียงปรารภดูหมิ่นดูแคลน “รัฐบาลตั้งกรรมการสางบ่อนพนัน และแรงงานเถื่อน” อาจเป็นแค่เพียงการซื้อเวลาหรือไม่ เพื่อเป็นการลดกระแสกดดันต่อต้านรัฐบาล ที่ปล่อยให้เกิดการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ จนทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนซ้ำเติมมากยิ่งขึ้น
แนวทางการขจัดธุรกิจสีเทาให้สิ้นซากไปจากสังคมไทยนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มองว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดกรณีการลักลอบเปิดเล่นพนัน และแรงงานเถื่อนนี้ ไม่ใช่ทีมชุดไล่ล่าปราบปรามจับกุมกวาดล้างขบวนการกระทำผิดธุรกิจสีเทา
แต่เป็นคณะทำงานในเชิงการศึกษาตรวจสอบขบวนการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน และการขนแรงงานเถื่อน เพื่อชี้เป้าหมายสรุปผลรายงานให้ “นายกฯ” รับทราบในการพิจารณาดำเนินการติดตามนายทุนที่อยู่เบื้องหลัง ผู้อำนวยความสะดวก ผู้ละเว้น หรือปล่อยปละละเลยมาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายต่อไป
ลักษณะคล้ายการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ที่มี วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน แต่คณะตรวจสอบ 2 ชุดนี้จะมีความเข้าใจใน “ปัญหาขบวนการธุรกิจสีเทา” ที่สามารถสรุปได้มากเพียงใดคงติดตามกันต่อไป
เมื่อมีรายงานผลสรุป...ชี้เป้าใครอยู่เบื้องหลัง หน่วยงานใดผิด เรื่องจะเงียบ กระแสเบาบางลงที่จะเป็นเหมือนการซื้อเวลาดังผลสรุปรายงานของวิชา มหาคุณ หรือไม่คงต้องติดตามกันต่อไปเช่นกัน
ประเด็นที่อยากฝากถึง “กรรมการ 2 ชุด” อย่าเน้นค้นหาตัวบุคคล “ผู้รับผลประโยชน์” เพราะมีความซับซ้อนอาจทำให้เสียเวลาเปล่าประโยชน์ และไม่มีทางสาวถึง “ตัวบงการใหญ่” ออกมาได้ง่าย แม้ว่า “มีข้อมูลระบุตัวผู้มีพฤติกรรมรับส่วยสินบนชัดเจน” สุดท้ายก็ไม่มีหลักฐาน ด้วยเหตุจากมี “ระบบคัตเอาต์” อยู่หลายชั้นหลายขั้นมาก
เว้นแต่ “ผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริง” จะถูกดำเนินคดีและสอบสวน จนเกิดอาการ “จวนตัว” รับสารภาพซัดทอดถึงระบบการนำทรัพย์สินจัดประโยชน์อื่นใดให้ “ข้าราชการผู้ใหญ่” คนใดบ้างเพื่อให้หลับตาไม่ทำหน้าที่ของตน
สิ่งที่ควรเน้น คือ “ตรวจสอบ จนท.กระทำให้เกิดความบกพร่อง” จนก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงดีกว่า ตั้งแต่ฝ่ายปกครอง ตำรวจท้องที่ ผู้การจังหวัด ผู้บัญชาการภาค ไม่เว้นแม้แต่ ผบ.ตร. ถ้ามีบุคคลใดกระทำความผิดจริงก็นำสู่การสอบสวนพิจารณาลงโทษทางวินัยร้ายแรงในการปลดออก หรือไล่ออกจากราชการกันต่อไป
เรื่องนี้เชื่อว่า “นายกฯ” มีจุดประสงค์เจตนาดีต่อการแก้ปัญหาบ่อนพนัน และแรงงานเถื่อนอย่างจริงจัง แต่อาจเป็นสัญญาณที่ดีได้ในระดับหนึ่ง เพราะด้วยเหตุ “ไม่มีเจ้าภาพ” ในการติดตามดำเนินการให้ต่อเนื่องเป็นรูปธรรม อย่างเช่นสมัยเป็น “กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย” ที่มี รมว.มหาดไทย ปลัด และ สนง.ปลัดกระทรวง
...
ซึ่งเป็นกลไกคอยช่วยเหลือกำกับดูแล “ตำรวจ” ให้ปฏิบัติหน้าที่ช่วย “นายกฯ” อีกทางหนึ่งได้ แต่ปัจจุบัน “สตช.” ขึ้นตรง “นายกฯ” เมื่อมีคำสั่งไปแล้วถ้าไม่ติดตามผลการดำเนินงานทุกอย่างมักจบแบบเงียบๆเสมอมา
ด้วยเหตุนี้ “นายกฯ” ก็คงต้องอาศัยพึ่งพา “ประธาน และกรรมการ 2 ชุด” ในขีดความสามารถการหาพยานหลักฐานตรวจสอบ “บ่อนการพนัน” ที่อาจต้องย้อนถึง “บ่อนเก่า” เคยถูกจับกุมปิดไปด้วย เช่น “บ่อนพระราม 3” ในวงการรู้ดีถึง “เจ้าของตัวจริง” โดยเฉพาะการเปิดปิดบ่อนนี้ถ้าไม่มีแบ็กเคลียร์มาก่อนแล้วคงทำไม่ได้
ฉะนั้นการตรวจสอบการลักลอบเปิดบ่อนพนัน ต้องเก็บข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ที่มีการจับบ่อนการพนันทั่วไทยไปทั้งหมดกี่ครั้ง ในพื้นที่อำเภอ จังหวัดใด และมีการสั่งย้ายทุกครั้งที่ตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบ “รับส่วยสินบน” หรือ “บกพร่องต่อหน้าที่” หรือไม่อย่างไรด้วย
ในส่วน...“การขนแรงงานเถื่อน” มีรูปแบบไม่ต่างจาก “บ่อนพนัน” มักมีข่าวลือเสมอว่า “ต้องมีการเคลียร์จ่ายรายเดือน” ให้ข้าราชการบางคน ตั้งแต่ จนท.พื้นที่ที่มีการส่งต่อให้ จนท.ชั้นผู้ใหญ่บางคน ในการดูแลเคลียร์ให้เส้นทางผ่านสะดวก แต่ว่า จนท.ชั้นผู้ใหญ่อาจจะไม่รู้รายละเอียดจำนวนลักลอบเข้ามามากน้อยเพียงใด
...
หนำซ้ำ...“แรงงานต่างด้าว” มักถูกเรียกรับเงินจาก “เจ้าหน้าที่รัฐบางคน” อยู่บ่อยๆเช่นกัน ด้วยเงื่อนไขอาศัยไม่ตรงเอกสาร เปลี่ยนนายจ้าง ทำให้จ่ายตัดปัญหาบานปลายเสี่ยงถูกดำเนินคดีผลักดันกลับประเทศ
“สถานการณ์ที่ “นายกฯ” ตั้งกรรมการตรวจสอบบ่อนพนัน และแรงงานเถื่อนขึ้นนี้กำลังส่งผลให้ “ข้าราชการบางคน” ที่มักมีพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์ต่าง “กระสับกระส่าย” เกรงมีปัญหามาถึงตัวเอง ทำให้ในช่วงนี้ต้องเก็บตัวอยู่อย่างสงบนิ่งไปก่อน เพื่อรอจังหวะกระแสกดดันลดลงค่อยกลับมาเริ่มต้นใหม่” พ.ต.อ.วิรุตม์ ว่า
ดังนั้น การ “ตั้งกรรมการ 2 ชุดขึ้นมานี้” ที่เป็นสถานการณ์ภายใต้ “รัฐบาล” ถูกแรงกดดันจาก “ภาคสังคมอย่างหนัก” เพราะบ่อนพนัน และแรงงานเถื่อน เป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้ “นายกฯ” ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วนเป็นการเฉพาะหน้าชั่วคราว เพื่อลดกระแสแรงต่อต้านลงก็ได้
...
เมื่อเข้าสู่สภาวะปกติ “บ่อนพนัน และแรงงานเถื่อน” อาจกลับมา ในสังคมไทยดังเดิม อย่าลืมว่า “หน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรง” ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบยังไม่มีมาตรการขจัดปัญหาเป็นรูปธรรมชัดเจนด้วยซ้ำ...
ถ้าต้องการขจัดปัญหาอย่างถาวร ต้องเริ่มจากต้นตอด้วย “การปฏิรูปตำรวจ” เพราะมักถูกครหาเป็นต้นเหตุปัญหาบ่อนพนัน และการขนแรงงานเถื่อน มีความเชื่อมโยงในองค์กรกำกับดูแล และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อไม่ให้ระบบตำรวจมีรวมศูนย์ผูกขาด สตช. แต่ต้องให้ “ฝ่ายปกครอง” มีอำนาจสอบสวนถ่วงดุลอำนาจได้ด้วย
แก้ปัญหาป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในระบบตำรวจ และงานสอบสวนในอนาคต
ประการต่อมา...“การปฏิรูปตำรวจ” ก็ไม่ยาก หาก “นายกฯ” เด็ดขาดใช้หลักผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งมากกว่าตัวองค์กร เพราะที่ผ่านมามักสอบถามความคิดเห็นตำรวจอยู่เสมอ
ทำให้การปฏิรูปตำรวจไม่คืบหน้ามา 3 ปีนี้ แต่ล่าสุดนับเป็นข่าวดีมีอยู่บ้าง “ครม.” มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับปรับปรุงแก้ไข
เพื่อเตรียมส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ตอกย้ำว่า...ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ระบาดเลวร้ายครั้งนี้ ก็ยังมีเรื่องราวดีๆเกิดขึ้นให้เห็นอยู่ ด้วยการทำให้ “บ่อนพนัน และแรงงานเถื่อน” ผุดงอกโผล่ขึ้นมาเปิดเผยสู่สาธารณชนได้เห็นถึงปัญหาที่ถูกซุกซ่อนไว้มายาวนาน คราวนี้ทำเอา “ตำรวจ” ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในการปล่อยปละละเลยให้มีสิ่งผิดกฎหมายได้ด้วยซ้ำ
สุดท้ายก็ต้องฝากความหวังไว้กับ “กรรมการ 2 ชุด” ต้องกล้าหาญในการแสวงหาตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอต่อ “นายกรัฐมนตรี” อย่างตรงไป ตรงมาครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้พิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป อีกทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลผลสรุปการตรวจสอบสู่สาธารณชน ในการช่วยตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งได้ด้วย
แม้ว่าความหวังแก้ปัญหาบ่อนพนัน และแรงงานเถื่อนนี้ดูเหมือนจะเหลือริบหรี่ แต่ว่า “ประชาชน” ก็ยังไม่สิ้นหวัง และเริ่มหัวใจพองโตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยเหตุที่ว่า “นายกรัฐมนตรี” ลุกขึ้นมาประกาศแข็งกร้าวในการใช้กฎหมายที่มีขจัดขบวนการธุรกิจสีเทา และเครือข่ายให้สิ้นซากไปจากสังคมไทย...