กรมอนามัย แนะ "คุณแม่ตั้งท้อง" ต้องไปฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของแม่และลูกได้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การฝากครรภ์เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาคุณภาพประชากร จึงควรปฏิบัติตามแนวทางพื้นฐานของการตั้งครรภ์ โดยฝากก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และในกรณีที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ตลอดอายุครรภ์ ต้องฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง และได้รับการดูแลหลังคลอดไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ซึ่งจากข้อมูล Health Data Center (HDC) ได้ตั้งเป้าหมายในเรื่องของหญิงตั้งครรภ์ที่ไปรับบริการฝากครรภ์ และได้รับการดูแลหลังคลอดอยู่ที่ร้อยละ 75 แต่พบว่ามีการฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ อยู่ที่ร้อยละ 75.6 ฝากครรภ์ครบ 5 ครั้ง มีเพียงร้อยละ 66.27 และได้รับการดูแลหลังคลอดไม่น้อยกว่าจำนวน 3 ครั้ง มีเพียงร้อยละ 52.55 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายในทุกด้าน

อีกทั้งจากสถานการณ์แนวโน้มอัตราส่วนการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ จากระบบเฝ้าระวังของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 พบว่า หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์และคลอด อยู่ที่ร้อยละ 22.5 ต่อแสนการเกิดมีชีพ โดยแบ่งเป็นเสียชีวิตจากสาเหตุทางตรง ที่มีสาเหตุมาจากโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอด และระยะหลังคลอด

ซึ่งพบว่าการตกเลือดหลังคลอดสูงถึงร้อยละ 66 เนื่องจากมดลูกไม่หดรัดตัว และที่พบบ่อยรองลงมาคือ ภาวะรกเกาะติด ร้อยละ 28 เกิดจากการผ่าตัดคลอดซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน หรืออาจเกิดจากการทำหัตถการ การไม่ได้รับการรักษาดูแลที่ถูกต้อง

ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตจากสาเหตุทางอ้อมนั้น ส่วนมากเสียชีวิตจากโรคประจำตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นมาแต่ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์อื่นๆ อาทิ การล่าช้าจากการได้รับบริการที่ถูกต้องจากบุคลากร ยา คลังเลือด และระบบส่งต่อต่างๆ การตัดสินใจไม่เข้ารับบริการของหญิงตั้งครรภ์ หรือการฝากครรภ์ล่าช้า และการเดินทาง หรือการเข้าถึงสถานพยาบาลที่ยากลำบาก

...

ทั้งนี้ มาตรการสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับประเทศ เพื่อลดอัตราหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตจากการตกเลือดนั้น กรมอนามัยได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านระบบตรวจราชการในการขับเคลื่อนงาน 4 ประเด็นดังนี้

1. การดำเนินงานเฝ้าระวังเชิงรุก ผ่านระบบเฝ้าระวัง ทบทวนและวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ โดยมีศูนย์อนามัยเขตทำหน้าที่เป็นศูนย์เฝ้าระวังมารดาตายใน 12 เขตสุขภาพ

2. การคัดกรองค้นหาหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอด และมีโอกาสเกิดภาวะรกเกาะแน่น มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการคลอดและดูแลหลังคลอดเป็นรายบุคคล

3. การดำเนินงานตามมาตรฐานงานอนามัยแม่และเด็ก และเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด เพื่อให้ระบบบริการพื้นฐานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ใช้หลักการดูแลแบบไร้รอยต่อ

4. กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อลดการผ่าตัดคลอดโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีความร่วมมือระหว่าง กรมอนามัย กรมการแพทย์ และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย.