“รถไฟฟ้า”...พลังงานสะอาดแก้ปัญหามรสุมฝุ่น PM 2.5 ได้แน่นอน ร้อยเปอร์เซ็นต์...เทคโนโลยีวันนี้เทียบกับความคุ้มทุนถือว่าไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วสำหรับ “คนไทย”...“ประเทศไทย”

กฤศ โกษานันตชัย ซีอีโอ บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บอกว่า วันนี้ภาพรวมตลาดรถไฟฟ้า “EV” ในต่างประเทศมีการ พัฒนาไปค่อนข้างเยอะมากเมื่อเทียบกับ 5 ปี หรือ 10 ปีที่ผ่านมา...เรียกได้ว่า เติบโตอย่างรวดเร็ว และประเทศที่มีจำนวนรถไฟฟ้าเยอะที่สุดก็คือ “จีน”

รองลงมาก็ “อเมริกา” ที่คุ้นหูก็คือเทสลา และที่ตามมาเติบโตขึ้น เรื่อยๆก็คือยุโรป

การพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง อาทิ แบตเตอรี่ โครงสร้าง ระบบการจัดการ กรณียุโรปรถ EV ก็พัฒนามาจากค่ายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ด้วยมาตรการมาตรฐานที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ ยูโร 5 ยูโร 7 ปรับสูงขึ้นจนบางค่ายมองว่าปรับมากกว่านี้ต้องใช้เงินลงทุนที่มากขึ้น ก็เลยเบนเข็มเปลี่ยนมาพัฒนา “รถไฟฟ้า EV” เลยน่าจะดีกว่า

...

สถานการณ์เป็นเช่นนี้ก็เลยจะเห็นโฟล์ก เบนซ์ บีเอ็มฯ เริ่มเห็น EV มากขึ้น กฤศ ย้ำว่า จีนค่อนข้างพัฒนาแปลกกว่าชาวบ้าน ประเทศจีนไม่ค่อยรู้จักค่ายรถยนต์แต่ที่พัฒนาได้รวดเร็วเหมือนกับว่าไปเทกบริษัทจากยุโรป อเมริกา แล้วเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอด ประกอบกับประชากรเยอะ รัฐสนับสนุนมากก็เลยไปได้เร็ว

ประเทศจีนมีแผนระบุชัดเจนเลยว่า ภายในกี่ปีจะต้องมีรถ EV กี่ล้านคัน...ทุกๆปีจะต้องผลักดันเงินสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ปีแรกๆ ก็สนับสนุนเต็มที่ 70–80% แล้วก็ลดลงมาจนเหลือ 20–30%

การสนับสนุนลดลงแต่เทคโนโลยีก็พัฒนาเพิ่มขึ้นให้ได้เรื่อยๆได้มาตรฐาน จึงทำให้ตลาดเมืองจีนเติบโตค่อนข้างมาก คาดว่าปัจจุบันจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่จำหน่าย น่าจะเป็นอันดับ 1 ของโลกไปแล้ว

กลับมาที่ “ประเทศไทย” ผมมองว่าเป็นตลาดเฉพาะทางหนึ่ง ไม่เหมือน ประเทศอื่นๆ แต่ในแง่ผู้ประกอบการก็มีความพร้อม แต่ยังคงมองได้แค่ในส่วนของงานประกอบรถ พวกผลิตชิ้นส่วนก็พอมีจากพื้นฐานค่ายรถเดิมที่เป็นฐานอยู่แล้ว ที่ต้องเพิ่มเติมก็คือระบบไฟฟ้าที่แม้ว่าบ้านเราจะมีแต่ก็ยังไม่เยอะมาก

“เราต้องมาเรียนรู้ พัฒนา และอุปกรณ์หลักเช่น มอเตอร์ แบตเตอรี่ อินเวอร์เตอร์ ระบบควบคุมไฟฟ้า วันนี้บ้านเราก็ยังไม่มีเจ้าไหนที่ผลิตได้ในเชิงแมส ในราคาที่จับต้องได้ ผลทำให้ชิ้นส่วนเหล่านี้ยังต้องนำเข้า”

ตอกย้ำรถไฟฟ้า EV เทคโนโลยีในส่วนที่เราทำได้เองจริงๆก็คือการประกอบรถและซอฟต์แวร์ที่เราเก่งมาแต่ไหนแต่ไรก็คือระบบควบคุมการจัดการประสิทธิภาพภายในรถ เพราะรถต้องมีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ดี

แม้ว่ารถมีฮาร์ดแวร์ที่ดีมาก แต่ถ้าเขียนโปรแกรมไม่ดีควบคุมก็ใช้งาน ไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ข้อดีเหล่านี้...ทำให้เราแข่งกับตลาดโลกได้ดีกว่าที่จะไปแข่งกับธุรกิจต้นน้ำที่เขาผลิตกันมานานนับสิบปีแล้ว

กระนั้นแล้วผมมองว่าก็ยังมีอีกอย่างที่มีโอกาสนั่นก็คือ “แบตเตอรี่” พอที่จะเป็นไปได้ ผลิต...ประกอบในประเทศไทย อย่างไรเสียแบตเตอรี่ก็เป็นหัวใจของรถไฟฟ้า มีตลาดรองรับชัดเจน ไม่ว่า...ตลาดรถไฟฟ้าระบบ โซลาร์เซลล์ ตลาดอุปกรณ์แบ็กอัป ยาวไปถึงคอนซูมเมอร์อิเล็กทรอนิกส์...เป็นตลาดใหญ่ที่เราสามารถทำได้

ฤดูฝุ่นจิ๋วพิษ “PM 2.5” วนเวียนมาทุกปี สร้างปัญหาสาหัสให้ทุกชีวิต ถามว่าทำไม? คนกรุงเทพฯ ไม่มี “รถเมล์ไฟฟ้า” ให้บริการเสียที ในฐานะคนไทย บริษัทสัญชาติไทย 100% ที่มีประสบการณ์ผลิตรถไฟฟ้าขนาดใหญ่มานานกว่า 25 ปี กฤศ บอกว่า ประเทศไทยเรื่องรถเมล์ไฟฟ้าควรจะมีแล้ว ในแง่รถไฟฟ้า EV หลายๆประเทศที่เกิดทั่วโลก คนแรกที่จะเป็นคนผลักดันก็คือ... “ภาครัฐ” ต้องเป็นผู้นำในการใช้ ทดลองอะไรใหม่ๆ

ด้วยกำลังซื้อ อำนาจต่อรอง...ที่สามารถกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน ในการบังคับให้หน่วยงานต่างๆเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า EV...เราจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงใกล้ตัวมากขึ้น เห็นรถ EV มาวิ่งมากขึ้นในเมืองไทย

รถทุกประเภท มอเตอร์ไซค์ ตุ๊กๆ รถเก๋ง รถตู้ รถเมล์ รถใหญ่...อย่างไร “รถใหญ่ EV” จะต้องเกิดก่อนเพราะเป็นการขนส่งหลัก ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้บริการได้เลย ได้เรียนรู้...ศึกษา ได้ประสบการณ์ก่อน แล้วค่อยมาตัดสินใจ ในแง่การคุ้มทุนตัวเลขยิ่งค้นหาได้ง่าย โดยเฉพาะความ คุ้มค่าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสุขภาพ ค่ารักษา สุขภาพจากผลกระทบฝุ่นควันพิษที่ “รถไฟฟ้า EV” ตอบโจทย์ดีที่สุด

...

ปัจจุบัน “รถไฟฟ้า EV” ทุกชนิดยังมีราคาที่สูงอยู่ เพราะ “แบตเตอรี่” ยังมีราคาแพงอยู่แม้ว่าจะลดลงมามากแล้วก็ตาม แต่ในระยะยาวก็น่าจะลดลง ไปเรื่อยๆมากขึ้น แน่นอนว่าในอนาคตจะเป็นยานพาหนะที่เข้าถึงได้มากขึ้น คงราคาใกล้เคียงกับเครื่องยนต์สันดาป...เผลอๆอาจจะถูกกว่าได้

บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผ่านประสบการณ์ผลิตรถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาแล้วมากมาย อาทิ “EVT E-BUS 7.6 M”... จำนวนที่นั่ง 22+1 รวมคนขับระบบขับเคลื่อนมอเตอร์กำลัง (สูงสุด) 80 (150) กิโลวัตต์ แรงบิด 1,700 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต ความเร็วสูงสุด 70 กม./ชม. ระยะทางวิ่งต่อชาร์จ 100 กิโลเมตร ซึ่งต่อยอด พัฒนา ค้นคว้าวิจัยโดย “คนไทย” อย่างแท้จริง

“ความถนัดสำคัญของเราก็คือการออกแบบ ดีไซน์ รถไฟฟ้า EV ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นมอเตอร์ พลังงานก็เปลี่ยนจากน้ำมันเป็นแบตเตอรี่ ลึกลงไปกว่านั้น...ต้องคิด บริหารจัดการ ออกแบบให้รถไฟฟ้า EV เหมาะสมกับการใช้งาน ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่จะนำไปใช้”

เริ่มตั้งแต่ระยะเส้นทาง ระยะเวลาการให้บริการ...รอบการวิ่ง เพื่อจะเอามาคำนวณประเภทรถที่เหมาะสมกับการใช้งานจริงอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเราเน้นตลาดรถใหญ่เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อน

คำนวณในเรื่องของแบตฯ เวลาชาร์จ สภาพภูมิประเทศ...ภูมิอากาศ รถของเราจึงมีรูปร่างที่หลากหลาย เหมาะสมใช้งานในแต่ละงานที่ส่งให้ลูกค้า ทั่วประเทศ ล่าสุด ม.เชียงใหม่ ก็ใช้วิ่งภายในมหาวิทยาลัย

“รถไฟฟ้า EV มองแบบรถยนต์น้ำมันไม่ได้ ซื้อมาหนึ่งคันไปใช้ได้เลย อาจจะไม่ตอบโจทย์...ถ้าลูกค้าบอกแค่ต้องการให้วิ่งได้ไกลๆเหมือนรถน้ำมันก็ทำได้ แต่จะมีปัญหาใช้แบตฯใหญ่ขึ้นก็ต้องชาร์จนานขึ้น”

...

แล้วจะคุ้มไหม...ขับไปแล้ว ต้องใช้เวลาชาร์จที 8-10 ชั่วโมง จะตอบโจทย์ไหม กลับกันออกแบบแค่พอเพียงกับการใช้งาน วิ่งวันละ 200 กิโลเมตร แล้วทำเป็นควิกชาร์จ 30 นาทีเต็ม แล้วก็วิ่งต่อจะดีกว่าไหม

โครงการล่าสุด...“รถเมล์ไฟฟ้า EV” เราร่วมมือกับ สวทช., การไฟฟ้าฯ, ขสมก.สนับสนุนรถเมล์น้ำมันยูโรสีส้มที่ปลดระวางแล้วให้มาเปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้า EV ไซส์ขนาด 12 เมตร เป็นคันต้นแบบ 1 คัน

วันนี้...ถือว่าประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วกำลัง จะเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบครั้งสุดท้าย...ทดลองวิ่งจริงบริการรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางจริงของรถเมล์ ขสมก. แล้วก็เก็บเป็นข้อมูล สอบถามความคิดเห็นจาก ผู้ใช้บริการว่ามีความเห็นเป็นเช่นใดบ้าง คาดว่า...กลางปีนี้น่าจะเกิดขึ้น เริ่มเห็น

ถึงตรงนี้...หลายๆคนอาจจะมีคำถามตามมาว่า ถ้าคนไทยทำรถเมล์ไฟฟ้าได้เอง ทำไม? ไม่ทำมาวิ่งให้บริการแบบจริงๆจังๆเสียเลย...ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งหมดทันทีก็ได้ แต่ค่อยๆปรับค่อยๆทดแทนรถน้ำมันไปเรื่อยๆ

“เราก็อยากจะผลักดันให้เกิด แทนที่จะเอารถเก่ามาใช้ แต่ภาครัฐเอง ก็อาจจะมองเรื่องความคุ้มค่า...ข้อติดขัดทางกฎหมาย รถที่เอามาดัดแปลงเป็นรถที่ปลดระวางแล้ว...ผ่านการใช้งานมานานแล้ว ถูกปลดระวางปีละเป็นร้อยคัน...รวมๆแล้วน่าจะมีเก็บอยู่เป็นพันคัน...จอดทิ้งไว้เฉยๆ” กฤศ โกษานันตชัย ทิ้งท้ายว่า

...

“รถต้นแบบราคาสูงพอๆกับซื้อรถใหม่ แต่ถ้าทำหลายๆคันมีจำนวนมากพอหลักร้อยคัน ต้นทุนก็จะต่ำลงอีกมากอาจครึ่งต่อครึ่ง...ทำไปวิ่งในเมือง ในต่างจังหวัดต่างๆ...ก็สะดวก ถือเป็นโอกาสที่ดีถ้าจะเริ่มทำ”

การนำทรัพยากรที่มีอยู่มาดัดแปลง “รียูส” ให้วิ่งได้เหมือนรถใหม่ ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีแน่นอน...ถ้ามีช่องทางทำให้เกิดขึ้นได้ “รถเมล์ ไฟฟ้า” ฝีมือคนไทย สัญชาติไทย...จะเกิดขึ้นได้จริงๆเสียที.