ทะเลคือแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงมวลมนุษยชาติมาช้านาน แต่ปัจจุบันความต้องการด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น บวกกับวิวัฒนาการการจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณมาก และธรรมชาติทางทะเลถูกทำลายลงไปมาก ทำให้ปลาและสัตว์น้ำน้อยใหญ่ถูกคุกคามลดน้อยลงเป็นเงาตามตัว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านที่ยึดอาชีพประมงชายฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ชาวบ้าน ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ที่อาศัยท้องทะเลหาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงร่วมกันก่อตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเกาะช้างใต้

มีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และผู้นำชุมชนให้การสนับสนุน จัดทำซั้งปะการังเทียมด้วยทางมะพร้าว ภายใต้โครงการ “สร้างบ้านปลาฟื้นฟูชีวิตหลังวิกฤติโควิด-19

นายอภัยภูมิ ศิลประสาร ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเกาะช้างใต้ เปิดเผยว่า การทำซั้งทางมะพร้าวเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมตั้งแต่โบราณ ถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น วัสดุที่ใช้หาได้ง่ายในชุมชน

เริ่มจากนำทางมะพร้าวมาตัดให้ได้ขนาดแล้วใช้เชือกไนลอนมัดติดกับไม้ไผ่ทำเป็นโครงในแนวตั้ง ลักษณะเป็นซุ้มยอดแหลม สูงราว 3 เมตร ฐานล่างกว้าง 1 เมตรทั้ง 3 ด้าน สะดวกต่อการขนย้ายด้วยเรือประมงเล็กนำไปวางไว้ในทะเล

จุดที่วางซั้งจะเลือกระดับน้ำลึกประมาณ 5-6 เมตร ระยะห่างจากฝั่ง 15-20 เมตร โดยใช้ไม้ไผ่ยาว 7-8 เมตรมัดติดกับซั้งโผล่เหนือน้ำ เป็นสัญลักษณ์ให้เรือที่วิ่งผ่านมองเห็น ระยะห่างขึ้นอยู่กับพื้นที่บริเวณนั้นๆ ก่อนปล่อยซั้งจะใช้ก้อนหินใส่ถุงอวนมัดถ่วงไว้ที่ฐานล่างทั้ง 3 มุม

ประโยชน์ของซั้งทางมะพร้าวช่วยเป็นแหล่งที่พักอาศัย เปรียบเสมือนบ้านของปลาและสัตว์น้ำนานาชนิดไว้เป็นที่หลบซ่อนภัยจากนักล่า ที่สำคัญเป็นที่วางไข่เพาะขยายพันธุ์ลูกหลานได้เป็นอย่างดี ไม่ถูกรบกวนจากสัตว์ใหญ่

...

ซั้งปะการังเทียมจากทางมะพร้าวเป็นวัสดุต้นทุนต่ำ อยู่ในทะเลได้หลายเดือน หากจุดวางซั้งไม่มีคลื่นลมแรงอยู่ได้นานเป็นปีๆ ช่วยให้ปลาเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจึงร่วมมือร่วมใจกันทำซั้งทางมะพร้าวเป็นประจำทุกปี

เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้เป็นแหล่งอาหารและอาชีพของลูกหลานต่อไป.

วรโชติ ระลึกชอบ