“ฤดูฝน” พ้นผ่านประเทศไทยก็เข้าสู่ “ฤดูฝุ่น”...ด้วยวิกฤติฝุ่นจิ๋วพิษ PM2.5 มาเยือนกระจายตัวทั่วถึงแทบจะทุกพื้นที่ ตอกย้ำข้อมูลช่วงเดือนธันวาคม 2563 ประกอบสาเหตุการเกิด “ฝุ่น PM2.5” ในช่วง “ฤดูหนาว” นี้...
อันดับที่ 1 ในเขต กทม.และปริมณฑล ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกถึงวันที่ 31 ต.ค.63 กทม. มีรถที่จดทะเบียนทั้งสิ้น 10.9 ล้านคันเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้ว 7 แสนคันมีรถเครื่องยนต์ดีเซลประมาณ 2.8 ล้านคันเป็นรถบรรทุกสินค้า 1.5 แสนคัน และ...เป็นรถบัสรถโดยสาร 4.2 หมื่นคัน
ส่วนใหญ่ของรถขนาดใหญ่ใช้เครื่องยนต์ยูโร 3 ใช้น้ำมันยูโร 4 ที่มีค่ากำมะถันในน้ำมัน 50 ส่วนในล้านส่วน...นี่คือสาเหตุหลักของการปล่อยฝุ่น 2.5 ในช่วงความกดอากาศสูงพัดจากประเทศจีน มีลมสงบและเกิดการหักเหของชั้นอุณหภูมิในบรรยากาศหรือเป็นช่วงอากาศปิด
อันดับสอง...ภาคกลาง ภาคตะวันตกและอีสาน...ดีเดย์สำหรับโรงงานน้ำตาลกำหนดให้เปิดหีบอ้อยผลิตวันที่ 15 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป...เป็นเวลา 3 เดือน ประเทศไทยมีไร่อ้อยประมาณ 8.0 ล้านไร่ ชาวไร่อ้อยมีจำนวนประมาณ 2 แสนคน มีโรงงานน้ำตาลที่รับอ้อยทั่วประเทศจำนวน 57 แห่ง
...
“ปริมาณอ้อย” ปีนี้คาดว่ามีประมาณ 69 ล้านตัน มีรถตัดอ้อยทั่วประเทศ 3 พันคัน รัฐบาลกำหนดให้มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกินร้อยละ 20 ของอ้อยเข้าหีบทั้งหมด โดยหักเงินจากชาวไร่ที่ส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบราคาตันละ 30 บาท แต่...ข้อเท็จจริงมีว่า “ชาวไร่” กับ “โรงงาน” อาจทำไม่ได้เนื่องจากขาดแรงงาน
บวกกับมีปัญหาโควิดจึงต้องการอ้อยสดร้อยละ 60 และอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 40 เข้าหีบของปีนี้ แต่รัฐก็ยังกำหนดโควตาเช่นเดิมคือ “อ้อยไฟไหม้” ร้อยละ 20 ดังนั้น...การ “เผาไร่อ้อย” จะเริ่มต้นในกลางถึงปลายเดือนธันวาคมปีนี้ หากอากาศปิดในช่วงนั้นจะเกิดปัญหาฝุ่น 2.5 ปกคลุมพื้นที่แน่นอน
ข้อมูลข้างต้นนี้โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก “Sonthi Kotchawat” ช่วงต้นเดือนธันวาคมเชื่อมโยงไปถึงประเด็นการใช้กฎหมายควบคุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง หนึ่ง...วันนี้ค่าฝุ่น PM2.5 ใน กทม.มีค่าเกินมาตรฐานเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนเคหะดินแดงและถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด มีค่ามากกว่า 110 มคก.ต่อ ลบ.ม.ไปแล้ว
มติ ครม. 1 ต.ค.62 กำหนดไว้หากฝุ่น PM2.5 มีค่าตั้งแต่ 76-100 มคก.ต่อ ลบ.ม.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจบัญชาการและใช้กฎหมายในการควบคุมพื้นที่ ควบคุมกิจกรรม และแหล่งกำเนิดฝุ่นได้
สอง...ผู้ว่าฯอาจใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2560 มาตรา 28/1 วรรค 1 ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ กำหนดแหล่งกำเนิดหรือกิจกรรมที่จะควบคุมให้ชัดเจน หากละเมิดหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติมีโทษปรับไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อค่าฝุ่นลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดสามารถประกาศยกเลิกได้
โดยมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 กำหนดให้ผู้ว่าแต่งตั้งเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนนี้ได้
สาม...ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจในการจัดการกับแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมทั้งสั่งควบคุมพื้นที่โดยห้ามไม่ให้รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปเข้ามาในเขต กทม.ชั้นในตามเวลาที่เคยคิดกำหนดไว้ได้ เช่น 06.00-21.00 น. ย้ำว่า...“ฝุ่น PM2.5” ใน กทม.เริ่มรุนแรงขึ้นภาครัฐต้องแอ็กชันได้แล้ว
พลิกตัวอย่างข้อมูลสถิติ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.63 มีฝุ่น PM2.5 ในเขต กทม.เกินค่ามาตรฐานถึง 58 สถานีตรวจวัด ทุกแห่งอยู่ริมเส้นทางจราจรโดยค่าสูงสุดที่สถานีดินแดงมีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกิน 100 มคก.ต่อ ลบ.ม.ไปแล้ว...นอกจากนั้นยังมีค่าเฉลี่ยเกิน 76 มคก.ต่อ ลบ.ม.มากกว่า 6 แห่ง
ขณะที่เว็บไซต์ Air visual จัดให้ กทม.มีคุณภาพอากาศเลวร้ายอันดับ 6 ของโลกแล้ว
ขีดวงพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดถือเป็นผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์สามารถที่จะใช้อำนาจควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิด และกิจกรรมที่เกิดมลพิษ
...
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า ผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีแอ็กชันสำหรับการจัดการคุณภาพอากาศใน กทม. สาเหตุที่มาจากอากาศปิดนั้นแก้ไม่ได้ แต่สาเหตุจากแหล่งกำเนิดสามารถจัดการได้
นั่นก็คือ “รถยนต์” จำนวนมากถึง 10.9 ล้านคันที่ติดบนท้องถนน รถยนต์ดีเซล 2.8 ล้านคันใน กทม. และรถบรรทุกสินค้ามากกว่า 1.5 แสนคันที่วิ่งอยู่ใน กทม.
รวมทั้งต้องควบคุม กำกับอย่างเข้มงวดสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมหรือไซต์งานก่อสร้างหรือกิจกรรมต่างๆที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ถ่าน ถ่านหิน
“หากต้องการให้คนใช้รถยนต์น้อยลงในช่วงฝุ่นปกคลุม ไม่ใช่ทำแค่การรณรงค์อย่างเดียวแต่รัฐต้องควรช่วยสนับสนุน โดยช่วยลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลงมาสักครึ่งและให้จอดรถฟรีในที่จอดรถไฟฟ้าตามสถานีต่างๆรวมถึงขายน้ำมันยูโร 5 ราคาถูกให้รถเครื่องยนต์ดีเซลด้วย”
ขยายพื้นที่ไปอีกจุดสำคัญ...จังหวัดสมุทรสาคร อีกพื้นที่ที่มีค่า “ฝุ่น PM2.5” สูงมาก สาเหตุเป็นเพราะอะไร? อาจารย์สนธิ บอกว่า ช่วงนี้พื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดโดยมีค่าเกิน 70 มคก.ต่อ ลบ.ม.ไปแล้ว ซึ่งมีผล กระทบต่อสุขภาพของประชาชนคือบริเวณริมถนนพระรามที่ 2 หลังโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย เมืองใหม่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ พื้นที่ จ.สมุทรสาครมีนิคมอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ 3 แห่ง
...มีโรงงานทั้งขนาดเล็กและใหญ่มากกว่า 140 แห่ง หลายแห่งใช้ถ่านหินและน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อใช้กับหม้อต้มน้ำหรือบอยเลอร์ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญ
...
ถัดมา...การจราจรที่ติดขัดมากรถยนต์ดีเซลยิ่งปล่อยฝุ่น PM2.5 ออกมามากขึ้น กรมทางหลวงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับบนเกาะทางหลวงหมายเลข 35 หรือสายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย โดยก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ)
ช่วงตั้งแต่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนถึงถนนเอกชัยช่วง กม.1 -กม.20 ระยะทางประมาณ 8.3 กิโลเมตร ระหว่างการก่อสร้างจะลดช่องจราจรจากเดิม 14 ช่องเหลือ 12 ช่องจราจร (ไป-กลับ) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2565
น่าสนใจว่า “รถยนต์” ที่ใช้เส้นทางพระรามที่ 2 มีมากกว่าวันละ 2 แสนคัน โดยมีรถเครื่องยนต์ดีเซลบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งผ่านวันละประมาณ 6 หมื่นกว่าคันที่ใช้เส้นทางนี้
ประเด็นที่สี่...ทิศทางลมช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคมลมพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่าน กทม.ที่มีการก่อสร้างมากและรถเครื่องยนต์ดีเซลจำนวนมากกว่า 2.8 ล้านคัน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญโดยลมจะพัดไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านจังหวัดสมุทรสาครเพื่อออกสู่ทะเล
ฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดทุกแหล่งจึงมาสะสมอยู่ในพื้นที่นี้ก่อนพัดออกสู่อ่าวไทย
...
สุดท้าย...ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงพัดเอาความหนาวเย็นจากประเทศจีนลงมาประเทศไทยแต่กำลังอ่อนลง ลมค่อนข้างนิ่งและเกิดภาวะผกผันของอุณหภูมิในบรรยากาศ... ทำให้ “ฝุ่น PM2.5” ที่มารวมกันที่จังหวัดสมุทรสาครลอยขึ้นในแนวดิ่งไม่ได้ และพัดออกทะเลได้น้อยจึงปกคลุมพื้นที่หรือเกิดสภาวะ Fumigration... “การรมควัน” ที่ทำให้พื้นที่นี้มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่าพื้นที่อื่นนั่นเอง
ฝุ่นจิ๋วพิษ “PM2.5”...ต้องแก้ที่ “ต้นเหตุ” ปัญหาหนักหนาสาหัสนี้จะบรรเทาได้ด้วยการแก้ปัญหาอย่างจริงใจและจริงจัง.