ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบัน วิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์การศึกษาที่ได้ผลกระทบของจากโรคโควิด-19 พบว่า โรคโควิด-19 ทำให้ห้องเรียนส่วนใหญ่ต้องถูกปิด แม้จะเปลี่ยนมาทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการเรียนในห้องเรียน

ทำให้เด็กมีปัญหาทั้งการเรียนที่ต้องหยุดชะงัก ความไม่พร้อมของผู้ปกครอง การขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ทำให้เกิดความเครียดทั้งเด็กและครู ที่สำคัญทำให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ลดลง เพราะขาดการทบทวนบทเรียนเป็นเวลานาน ความรู้ก็อาจจะหายไป ส่วนข้อดี คือ ทำให้ครูคิดนวัตกรรมการเรียนการสอนทางไกลเป็นจำนวนมาก เช่น การส่งหนังสือ อุปกรณ์การเรียน พร้อมคำแนะนำไปให้เด็กในพื้นที่บนดอยหรือครูในเมืองก็มีการใช้รถพุ่มพวงการศึกษาที่มีหนังสืออุปกรณ์ออกไปสอนเด็กๆ ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจนั้นพบว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมีมากขึ้น เพราะเด็กขาดเรียนมากขึ้น และครอบครัวอุดหนุนการศึกษาน้อยลง

ดร.ภูมิศรัณย์กล่าวอีกว่า ขณะนี้แต่ละประเทศมีแนวทางแก้ปัญหาแตกต่างกัน บางประเทศจัดติวเตอร์อาสาสมัครไปสอนหนังสือให้กับเด็กในพื้นที่ หรือมีการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อเติมเต็มช่องว่างของทรัพยากร รวมไปถึงการปรับรูปแบบการศึกษาออกนอกกรอบ เช่น การยกเลิกการสอบแบบมาตรฐาน ซึ่งไทยก็มีการยกเลิกการสอบโอเน็ตเช่นกัน ซึ่งภายใต้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นโมเดลใหม่ๆทางการศึกษาเกิดขึ้นมากมาย.