ปี 2564 ประเทศไทยจะต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนหรือ “แกว่ง” ของสถานการณ์น้ำ ทั้งน้ำท่วม-แล้ง ส่วนสถานการณ์ใดจะมีมาก-น้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับฟ้าฝน
ขณะที่สภาพฝนของประเทศไทยขึ้นอยู่กับดัชนีของอุณหภูมิผิวน้ำทะเล 3 ตัว ประกอบด้วย
1.มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกที่กำลังเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ที่เข้ามาตั้งแต่เดือน ส.ค.2563 และจะเป็นลานีญาจนถึงเดือน เม.ย.2564 และการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก
2.สมุทรศาสตร์บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ซึ่งมีผลต่อลม และ
3.สภาพของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดีย ที่ส่งผลต่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมแห่งฤดูฝน
หมายความปี 2564 ปรากฏการณ์ลานีญา ที่เป็นปรากฏการณ์เชื่อมโยงตรง กันข้ามกับ “เอลนีโญ” จะมีอิทธิพลต่อสภาวะอากาศในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เป็นอย่างมาก และ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั้ง 3 ตัว คล้ายกับปี 2539 ทำให้ฝนที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 จะมีแนวโน้มคล้ายกับปี 2539 เพราะมีอุณหภูมิน้ำทะเลคล้ายกัน นั่นก็คือ จะมีน้ำมาก และจะมีภาวะฝนตกหนัก แต่ไม่ทุกพื้นที่
...
นั่นย่อมหมายถึงสภาพน้ำของประเทศไทย ปี 2564 จะ “ท่วมกระจุกแล้งกระจาย”
“ประเทศไทยเข้าสู่ลานีญาตั้งแต่ ส.ค. 2563 ส่งผลให้ภาคใต้ฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วม ขณะที่ภาคอื่นไม่มีฝนเกิดขึ้นแล้ว และกว่าที่ฝนจะตกต้องรอจนถึง เม.ย.2564 โดยสถานการณ์ฝนปี 2564 โดยภาพรวมทั้งปีจะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ ร้อยละ 9–10 ยกเว้นบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติบางแห่ง แต่ฝนจะดีกว่าปี 2562 –2563 ที่มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ โดยปี 2562 ฝนน้อยกว่าปกติร้อยละ 17 ส่วนปี 2563 ฝนน้อยกว่าปกติร้อยละ 9 สำหรับปริมาณฝนรายเดือนปี 2564 จะสลับกันมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งนี้ ในภาคเหนือ ฝนจะตกมากที่ จ.เชียงราย น่าน ภาคตะวันออก ที่ จ.จันทบุรี ตราด ภาคตะวันตก ฝนจะมากตลอดแนว ทำให้เขื่อนศรีนครินทร์กับเขื่อนวชิราลงกรณ น้ำมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ภาคตะวัน-ออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่ จ.ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนฝนน้อย ภาคใต้ ที่ จ.ภูเก็ต” ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) วิเคราะห์สถานการณ์น้ำปี 2564
ถ้าจำแนกแยกแยะสถานการณ์น้ำเป็นรายเดือน จะพบว่า ปี 2564 ตั้งแต่เดือน เม.ย.ฝนจะมาเร็วและอาจเกิดพายุฤดูร้อนได้บ่อยครั้ง โดยปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ย 60 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นเดือน พ.ค.ฝนจะน้อยลง ส่วน มิ.ย.ฝนจะกลับมาตกเพิ่มขึ้น ขณะที่ ก.ค.-ส.ค.จะมีฝนทิ้งช่วง แต่ในเดือน ก.ย.ฝนจะตกมากที่สุดของปี คือมากกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนนี้ในอดีตประมาณ 80 มิลลิเมตรหรือมากกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ และอาจเกิดน้ำท่วมได้ จากนั้น เดือน ต.ค.ฝนจะน้อยลง และจะมามีฝนอีกครั้งในเดือน พ.ย.-ธ.ค. โดยเฉพาะที่ภาคใต้
“จริงอยู่แม้ในปี 2564 จะมีฝนมากกว่าปกติ แต่น้ำในเขื่อนไม่ได้มีมากไปด้วย เนื่องจากปี 2562–2563 มีฝนน้อยกว่าค่าปกติมาต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน โดยเฉพาะในภาคเหนือ ส่งผลให้น้ำไหลลงเขื่อนในภาคเหนือมีน้อย ซึ่งเป็นต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันจะเห็นว่าน้ำในเขื่อนเหลือน้อยใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งได้เกิดภัยแล้งรุนแรงในหลายพื้นที่ เขื่อน 9 แห่งจาก 35 แห่ง สถานการณ์น้ำยังคงอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย-บำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นับจากวันสิ้นสุดฤดูฝนคือวันที่ 1 พ.ย.2563 มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมแค่ 5,771 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ประมาณการความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งและสำรองสำหรับช่วงต้นฤดูฝนของปี 2564 ทั้งอุปโภค บริโภค การเกษตรและระบบนิเวศ คือประมาณ 12,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังขาดน้ำอยู่ถึง 6,229 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ต้องงดทำนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องอีกปี และจะต้องรอถึงเดือน เม.ย.2564 ฝนจึงจะตกลงมาช่วยได้ ขณะที่สถานการณ์ของ 4 เขื่อนหลักในปีที่ผ่านมามีฝนตกลงเขื่อนเพียง 36 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 64 เปอร์เซ็นต์ไปตกท้ายเขื่อน เพราะฉะนั้นจึงพึ่งพาน้ำในเขื่อนยากขึ้น ซึ่งเดือน ม.ค.–ก.พ.–มี.ค.จะทำอย่างไรให้รอดจากภัยแล้งให้ได้ก่อนที่เดือน เม.ย. จะมีฝน” ผอ.สสน.กล่าว
...
ส่วนปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนหลักลุ่มน้ำแม่กลอง คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และ เขื่อนวชิราลงกรณ ก็มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก จะมีการงดส่งน้ำสำหรับนาปรังปี 2563/2564 ไปแล้ว คือประมาณ 4 พันล้าน ลบ.ม. และยังต้องผันมาช่วยลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.
“ปี 2564 เดือน เม.ย.ต้องเตรียมเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด ถือเป็นโอกาสตอนฝนเริ่มตก ถ้าฝนเดือน เม.ย.2564 เหมือนกับ เม.ย.2539 ที่ฝนตกถึง 136 มิลลิเมตร ถือว่ามากจะได้เก็บเอาไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนและฝนทิ้งช่วง” ดร.สุทัศน์ระบุ
และนี่คือความท้าทายฝีมือการบริหารจัดการน้ำของประเทศ!
...
เพราะต้องอย่าลืมว่าประเทศไทยมีร่องรอยการใช้น้ำต่อหัวสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยภาคการเกษตรทั้งในเขตชลประทาน 26.46 ล้านไร่ และโดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน 128.05 ล้านไร่ จะใช้น้ำมากที่สุด ทั้งโดยตรงและตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร และหลายปีที่ผ่านมาเรามักจะใช้น้ำสูงกว่าแผนเสมอ
ประเทศไทยมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยในประเทศปีละ 754,720 ล้าน ลบ.ม.มีปริมาณน้ำท่าที่เกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 282,963 ล้าน ลบ.ม. แต่มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยเพียงปีละ 42,620 ล้าน ลบ.ม. มีความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลาง 76,067 ล้าน ลบ.ม. มีความจุปริมาณน้ำใช้การ 52,165 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เปอร์เซ็นต์น้ำฝนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ ในภาคเหนือมีแค่ 8.6 เปอร์เซ็นต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.3 เปอร์เซ็นต์ ภาคกลาง 11.4 เปอร์เซ็นต์ ภาคตะวันออก 1.7 เปอร์เซ็นต์ และภาคใต้ 4.0 เปอร์เซ็นต์...แต่ความต้องการใช้น้ำจากการสำรวจถึงปีละ 153,578 ล้าน ลบ.ม. และในอนาคตจะมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน...จะทำ อย่างไร?
“สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2563/2564 ลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวม 5,943 ล้าน ลบ.ม. จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งตั้งแต่เดือน พ.ย.2563-เม.ย.2564 รวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 ของปริมาณน้ำต้นทุน โดยจะนำไปใช้ในส่วนของอุปโภคบริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 2,200 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. พืชต่อเนื่อง 400 ล้าน ลบ.ม. และปรับปฏิทินการเพาะปลูกบางระกำ 115 ล้าน ลบ.ม. และสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2564 เดือน พ.ค.-ก.ค.2564 รวม 2,443 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41 ของน้ำต้นทุน โดยนำไปดูแลเรื่องอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,656 ล้าน ลบ.ม. และสำหรับฝนทิ้งช่วง 787 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าปริมาณน้ำมีเพียงพอสำหรับอุปโภคและบริโภค” ดร.สุทัศน์ กล่าวถึงแผนการจัดสรรน้ำปี 2564 ส่วนในอนาคตการบริหารจัดการน้ำควรต้องใช้น้ำซ้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กหรือน้ำชุมชน โดยนำน้ำที่มีอยู่ไปใช้หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น
...
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า ปัญหาน้ำ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกชีวิต กระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ รุนแรงขึ้น
เพราะเมื่อธรรมชาติก่อให้เกิดภาวการณ์น้ำของประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนหรือ “แกว่ง” จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
การบริหารจัดการน้ำจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและท้าทายศักยภาพของรัฐบาลในปี 2564.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม