2020 หรือปี 2563 และโอกาสของประเทศไทย จาก การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 มหันตภัยโรคร้ายโควิด-19 ส่งผลให้เกิดวิกฤติด้านการสาธารณสุขทั่วโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งไม่หยุดต่อเนื่อง ล่าสุดวันที่ 29 ธ.ค.63 มีผู้ติดเชื้อ 81.66 ล้านคน ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากไวรัสตัวร้ายทะลุไปถึง 1.78 ล้านคนแล้ว

สำหรับประเทศไทยยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่จำนวน 6,440 คน เสียชีวิต 61 คน

ทีมข่าวสาธารณสุข ขอย้อนรอยเหตุการณ์จากโรคโควิด-19 ที่คุกคามสังคมไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้และป้องกันตนเองในปี 2021 หรือปี2564

ปี 2020 หรือปี 2563 ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดระลอกแรก แบบซุปเปอร์สเปรดเดอร์ ช่วง เดือน มี.ค.63 จาก กรณีสนามมวยลุมพินี รวมถึง สถานบันเทิงย่านทองหล่อและรามคำแหง จนรัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศมีผลวันที่ 3 เม.ย.63 เพื่อควบคุมสถานการณ์ จนสถานการณ์คลี่คลาย จึงยกเลิกเคอร์ฟิววันที่ 15 มิ.ย.63 กระทั่ง ต้นเดือน ก.ย.63 มาเจอผู้ติดเชื้อรายแรกเป็น ผู้ต้องขังชายอาชีพดีเจ หลังไทยปลอดเชื้อมาได้ 100 วัน แต่ก็คุมสถานการณ์มาได้จน ปลายเดือน พ.ย. ที่ทำเอาหวาดวิตกกันไปทั่วกับการลักลอบจาก ท่าขี้เหล็ก เมียนมา เข้ามาที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ของหญิงสาวกลุ่มหนึ่งที่พกพาเชื้อมาแพร่ไปยังพื้นที่อื่นอีก 7 จังหวัด รวมไปถึง กรณีบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อจากการทำงานในสถานกักกันโรคทางเลือก ของรัฐหรือ ASQ และก่อนจะสิ้นปี 2563 เพียงแค่ 14 วัน สังคมไทยก็ต้องเกิดอาการหวาดผวาไปทั่ว จากกรณีที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งพบการแพร่เชื้อที่ ตลาดกลางกุ้งและหอพักศรีเมือง ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือเชื่อมโยงมีผู้สัมผัสเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวเมียนมา รวมถึง นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯสมุทรสาคร ที่ลงพื้นที่ทำงานอย่างหนัก ทั้งมีการแพร่กระจายไปอีกหลายจังหวัด และล่าสุดยังพบผู้ติดเชื้อที่แพร่เป็นกลุ่มก้อน ที่ จ.กระบี่ และ จ.ระยอง

...

กระทั่งกระทรวงสาธารณสุข ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค ทุกหน่วยงาน ต้องเร่งระดมค้นหาตีวง เฝ้าระวัง สื่อสาร สร้างความร่วมมืออย่างจริงจังต่อเนื่อง

แน่นอนจากมหันตภัยร้ายโรคโควิด-19 ส่งผลให้ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา การดำเนินชีวิตของคนไทยรวมถึงผู้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนอย่างไม่ทันตั้งตัว สู่ยุคที่เรียกว่า New Normal ไม่เพียงระบบการสาธารณสุขที่เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจกับมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆที่ทำให้ธุรกิจ สถานประกอบการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจสายการบิน ร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยว ต้องพังพาบหยุดกิจการ ผู้คนตกงานนับล้าน เศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาต่อเนื่อง

ภาพการขาดแคลนอุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ อย่างหนักหน่วงต้นปี 2563 ที่มีการระบาดใหม่ๆ เรายังไม่รู้จักโรคโควิด-19 โรคร้ายนี้ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนทั่วโลก เมื่อเห็นภาพผู้คน โดยเฉพาะในต่างประเทศ เสียชีวิตเรียงรายมากมายจนโลงศพไม่เพียงพอ ผู้ป่วยไม่มีเครื่องช่วยหายใจ หลายคนนอนรอความตายอยู่ที่บ้าน เป็นภาพที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้แพทย์ต้องออกมาย้ำเตือนภัยประชาชน พร้อมแนะนำแนวปฏิบัติ 3 มาตรการหลัก คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างทางสังคม แต่อุปกรณ์ป้องกันโรคต่างๆ ขณะนั้นก็เกิดการกักตุนและขาดแคลนอย่างหนัก

ประเทศไทยก็ไม่อาจหนีพ้นผลกระทบที่เกิดขึ้นรอบด้าน แต่ในวิกฤติก็ยังเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ทำ ให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมไทยๆ ต้านภัยโรคโควิด-19

เราจึงได้เห็นศักยภาพคนไทยกับการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆออกมาป้องกันโรคโควิด-19 ในยามที่อุปกรณ์ขาดแคลนไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติรูปแบบต่างๆ เช่น ประตูวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอ่านใบหน้า ฉากกันเชื้อโรคโควิด-19 ชุดตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 หุ่นยนต์ส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ จากหลายสถาบันการศึกษา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ คนไข้ มีระยะห่างทางกายภาพ และนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ขณะที่หน้ากากอนามัยก็มีการหันมาใช้หน้ากากผ้าบรรเทาปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ รวมทั้งเรายังเห็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทย ที่มีการสอนทำเจลแอลกอฮอล์แบบง่าย การทำหน้ากากผ้า และระดมช่วยกันทำแจกจ่ายไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ

...

ที่สำคัญ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยให้กับกระทรวงสาธารณสุข ใช้ตรวจค้นหา คัดกรอง เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคอย่างดียิ่ง

ท่ามกลางเชื้อที่แพร่ระบาดทั่วโลกรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งไม่หยุดในแต่ละวัน แต่จากความร่วมมือร่วมใจของคนไทยกับการตั้งการ์ดดูแลป้องกันตัวเอง รวมถึงระบบการสาธารณสุขที่ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ทำให้ประเทศไทยควบคุมโรคได้ดี ขนาดที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ชื่นชมการรับมือการระบาดโรคโควิด-19 ของประเทศ ไทย พร้อมยกเป็นแบบอย่างให้กับประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ตามโรคโควิด-19 คาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ร่วมกับผู้คนบนโลกนี้ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี จนกว่าการผลิตวัคซีนป้องกันโรคจะประสบความสำเร็จสมบูรณ์เต็มที่

โดยความหวังของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หลังการแพร่ระบาดของโรคครบรอบปี นับจากที่ สาธารณรัฐประชาชนจีน พบผู้ติดเชื้อรายแรกที่เมืองอู่ฮั่น เมื่อเดือน ธ.ค.62 จนกระทั่งวันที่ 9 พ.ย.63 บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์ ของสหรัฐอเมริกา และ บริษัท ไบโอเอ็นเทค เอสอี หุ้นส่วนจากเยอรมนี ประกาศผลสำเร็จการพัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA ซึ่งมีการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 พบประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อได้สูงกว่า 90 % ไล่ตามมาติดๆ บริษัทโมเดอร์นา บริษัทผลิตยาสัญชาติอเมริกันก็ประกาศความสำเร็จถึงประสิทธิภาพการทดลองวัคซีนให้ผลสูงถึง 94.5% รวมทั้ง รัสเซีย ก็โชว์ความเจ๋งของ วัคซีนสปุตนิก ที่มีประสิทธิภาพ 92% ซึ่งไล่เรียงแล้วขณะนี้มีมากกว่า 10 บริษัท รวมทั้งของ จีนและอินเดีย ที่กำลังคิดค้นพัฒนาวัคซีนและอยู่ในขั้นการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 เช่นกัน

...

ขณะที่อังกฤษเป็นประเทศแรกของโลก ที่อนุมัติการฉีดวัคซีนเข็มแรกที่พัฒนาโดยไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.63 ให้กับคุณยายวัย 90 ปี และทยอยฉีดให้กับผู้สูงวัยและกลุ่มเสี่ยง รวมถึงประเทศอื่นๆก็เริ่มทยอยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงบ้างแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย และสหภาพยุโรป

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ลงนามสั่งจองจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จาก บริษัทแอสตราเซเนกาที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด จำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย 13 ล้านคน โดยเป็นการจองพร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับประเทศไทย คาดว่าจะผลิตได้ในกลางปี 2564

ขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็คิดค้นพัฒนาวัคซีนด้วยฝีมือนักวิจัยไทย โดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งใช้เทคโนโลยี mRNA ถือเป็นข่าวดีที่จะพัฒนาวัคซีนได้เช่นเดียวกัน โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม หัวหน้าคณะพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ระบุว่า ไทยเตรียมทดลองฉีดวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1 เดือน เม.ย.64 ขณะที่วัคซีนที่คิดค้นโดย มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่มีความร่วมมือผลิตวัคซีนที่โรงงานในประเทศไทยคือ สยามไบโอไซเอน ก็มีความคืบหน้า รวมถึง วัคซีนจากโปรตีนใบยาสูบ โดยคณะแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่ประสบความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ ก็กำลังก้าวสู่การทดลองในมนุษย์ระยะแรกในเดือน มิ.ย.64 และคาดหวังคนไทยจะได้ฉีดปลายปี 2564

...

นับเป็นข่าวดีกับความก้าวหน้าการผลิตวัคซีนของประเทศต่างๆที่จุดประกายความหวังให้กับมวลมนุษยชาติ การผลิตวัคซีนโควิด-19 หากประสบความสำเร็จ ถือเป็นก้าวสำคัญของโลกและสังคมไทย ซึ่งน่าจะถือโอกาสนี้ทุ่มเทสรรพกำลังในการพัฒนาโรงงาน องค์ความรู้ เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่สิ่งที่ทีมข่าวสาธารณสุขอยากฝากทุกภาคส่วน รวมถึงทุกคนในสังคมไทยคือ การนำเหตุการณ์ ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เป็นบทเรียน

เพราะวัคซีนที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การร่วมแรงร่วมใจผนึกพลังในการดูแลป้องกันตัวเองและสังคมอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก

อย่าให้ความดีที่ทำมาเกือบตลอดปี 2563 ต้องสูญเปล่าไปเลย.

ทีมข่าวสาธารณสุข