“การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เกษตรกรได้ประสบการณ์จากการระบาดระลอกแรกมาแล้ว ทำให้มีมาตรการในการป้องกันเพิ่มขึ้นจากเดิม ตั้งแต่ระดับฟาร์มเลี้ยงจนถึงมือผู้บริโภค แม้เกษตรกรจะสามารถตั้งรับกับสถานการณ์ได้ แต่ชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง กลับได้รับผลกระทบจากการที่คนไม่กล้าซื้อกุ้งรวมถึงอาหารทะเลอื่นๆ เพียงเพราะแพกุ้ง จ.สมุทรสาคร เป็นแหล่งแพร่เชื้อ ทั้งที่ความเป็นจริงพบเชื้อในคนงาน ไม่ได้พบในตัวกุ้ง ฉะนั้นขอยืนยัน กุ้งรวมถึงสินค้าเกษตรทุกชนิด ที่ขายตามท้องตลาดทุกที่ปลอดภัย”

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันถึงความปลอดภัยในกุ้งและสินค้าเกษตรไทย... สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ความกังวลเริ่มจากกุ้ง ลุกลามไปยังอาหารทะเลชนิดอื่นไปจนถึงสินค้าปศุสัตว์

สำหรับกรณีปศุสัตว์ยืนยันว่าปลอดภัย 100% เพราะไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ป้องกันโรค ASF หรืออหิวาต์หมูได้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จนทำให้มูลค่าการส่งออกแบบก้าวกระโดดถึง 400% นำเม็ดเงินเข้าประเทศถึง 2.3 หมื่นล้านบาท

...

ส่วนในสินค้ากุ้ง ขณะนี้ได้สั่งการให้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กรมประมง และกรมปศุสัตว์ เร่งจัดทำมาตรการช่วยเหลือ เบื้องต้นอาจใช้วิธีจำนำกุ้ง พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันประชาสัมพันธ์และสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าสินค้าประมงมีความปลอดภัยจากโควิด-19 ทุกตลาดที่ยังเปิดให้บริการอยู่ 100%

ส่วนในเรื่องของแรงงานประมง ทางกระทรวงฯมีการตรวจเข้มอยู่แล้ว ทุกอย่างยังดำเนินการตามมาตรฐาน และมีการเข้าไปควบคุมดูแลในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด ขณะที่ฟาร์มเลี้ยงกุ้งทุกฟาร์มก็ปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมประมง ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงไปจนถึงขั้นตอนส่งโรงงาน ฉะนั้นขอให้มั่นใจได้ว่า กุ้งไทย สินค้าเกษตรไทย ปลอดภัยจากโควิด 100%

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง อธิบายเพิ่มเติม...สัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่มีปอดแต่ใช้เหงือกในการหายใจ และยังมีความแตกต่างของผิวเซลล์ ซึ่งปลามีโครงสร้างไม่เหมือนคนทั้งหมด ทำให้โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์เข้าสู่เซลล์ของสัตว์น้ำแทบจะเป็นไปไม่ได้

ขอย้ำว่า ยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรนา 2019 อยู่ในตัวของสัตว์น้ำแต่อย่างใด ที่สำคัญที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานการเกิดโรคจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกันนี้ อาทิ โรคซาร์ส และเมอร์สในสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เลือดเย็นมาก่อน

แต่การปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ จึงขอให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน ไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำดิบหรือไม่สุกดี และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์หยิบหรือตักและล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำ ก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง โดยเชื้อไวรัสโควิด-19 จะถูกทำลายด้วยความร้อนที่ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที และหากความร้อนสูงขึ้น ระยะเวลาที่เชื้อถูกทำลายจะสั้นลง

ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง พิสิทธิ์ นวนนุ่น ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด กล่าวเสริม...เชื้อโควิด-19 ไม่ได้ติดต่อจากกุ้ง ติดจากคน แรงงาน ที่ตลาดสดมหาชัย กุ้งที่ตรงตามสเปกโรงงานสามารถซื้อขายได้ตามปกติ ที่สำคัญกุ้งที่ออกสู่ตลาดทั้งหมด ผ่านมาตรฐานของกรมประมง และต้องมีใบรับรองทุกครั้งในการซื้อขาย ทำให้ต่างชาติมั่นใจในกุ้งที่ผลิตจากประเทศไทย ฉะนั้นขอให้มั่นใจได้ว่ากุ้งไทยปลอดภัย 100%

...

ขณะที่เกษตรกรมีการเตรียมมาตรการป้องกันมาแล้วอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้เพิ่มมาตรการป้องกันเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยได้กำหนดมาตรการป้องกันเชื้อภายในฟาร์มและขั้นตอนการทำงาน เฝ้าระวังแรงงานผิดกฎหมายไม่ให้เข้ามาในพื้นที่

ด้านแพรับซื้อกุ้งก็เพิ่มมาตรการป้องกันคัดกรองคนงาน ทำความสะอาดอุปกรณ์ พ่นฆ่าเชื้อก่อนและหลังจับกุ้งทุกครั้ง คนงานก็มีอุปกรณ์ป้องกัน ห้องเย็นเองก็มีมาตรการตรวจคัดกรองรถขนส่ง ฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงงาน จัดสถานที่พักเฉพาะ.