อีกเพียงชั่วข้ามคืน พุทธศักราช 2563 ก็จะผ่านพ้นไปและก้าวสู่ปี 2564 เชื่อแน่ว่าหลายต่อหลายคนคงคาดหวังให้ปีใหม่ หรือปี “วัวดุ” ที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของชีวิต หลังจากที่ปี “หนูขวักไขว่” 2563 เป็นปีที่หนักหนาสาหัส โดยเฉพาะการเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้คนทั่วโลกได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า มีผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสมรณะสะสมเฉียด 100 ล้านคน และมียอดผู้เสียชีวิตไปแล้วเกินกว่า 1 ล้านคน
ไม่เพียงแค่ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ผลกระทบที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังลามไปถึงทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน การดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง แต่ละประเทศทั่วโลกประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ให้ประชาชนหยุดอยู่กับบ้านเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค
เช่นเดียวกับวงการการศึกษา ในส่วนของประเทศไทย สถานศึกษาต่างๆต้องปิดการจัดการเรียนการสอนไปโดยสิ้นเชิง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียน การสอนโดยหันมาจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในระหว่างที่เด็กนักเรียนต้องหยุดอยู่ที่บ้าน ให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และโทรทัศน์ที่บ้านแทน เพื่อไม่ให้การเรียนรู้ของเด็กต้องหยุดชะงัก
...
กว่าที่สถานศึกษาต่างๆจะกลับมาเปิดเรียนแบบปกติได้อีกครั้งก็เป็นภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ซึ่งล่าช้าไปกว่าที่เคยเป็นปกติในทุกๆปีไปกว่า 2 เดือน แถมต้องปรับสลับเวลาเรียน เพื่อรักษาระยะห่างทางกายภาพควบคู่ไปกับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ในกรณีหากมีการแพร่ระบาดในวงกว้างในบางพื้นที่
และนั่นสะท้อนว่า ศธ.ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้ากระทรวงคุณครูใหญ่ ณัฏฐพล ทีปสุวรรรณ รมว.ศึกษาธิการ สามารถปรับตัวได้ทันกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคร้าย มีการจัดหลักสูตร มีการระดมสมอง สรรพกำลัง อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆรองรับการเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งก็นับว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง และทำให้เรารู้ว่า ผู้บริหาร ครูไทย เด็กไทยมีศักยภาพ ปรับตัวได้ดี
ขณะเดียวกันในรอบปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่ปัญหาจากเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายเป็นปมปัญหาซึ่งส่งผลต่อวงการการศึกษาชาติเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นร้อนอื่นๆ ที่เป็นข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักเรียนกลุ่มต่างๆที่ตบเท้าดาหน้ากันออกมาเรียกร้องต่อ ศธ.อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “นักเรียนเลว” โดยมีการเปิดประเด็นให้ ศธ.มีการแก้ไขปัญหาการทำร้ายร่างกายนักเรียน การละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนจากครู และผู้บริหารบางคน การทำร้ายร่างกายและจิตใจในสถานศึกษา รวมไปถึงปัญหาการ บูลลี่ในสถานศึกษา ทั้งจากนักเรียนด้วยกัน และครูต่อนักเรียน
พร้อมระบุว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เคยมีการส่งเรื่องร้องเรียนถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และหลายยุคหลายสมัย แต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข เสมือนเสียงของนักเรียนไม่มีความหมาย
และเมื่อข้อเรียกร้องต่างๆของกลุ่มนักเรียนไม่ได้รับการสนองตอบ ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนหนุ่มสาวได้ออกมาเรียกร้องในเรื่องประชาธิปไตย ทำให้กลุ่มนักเรียนที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน และเหมือนอยู่ในสถานะของคนหัวอกเดียวกัน จึงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการเรียกร้องประชาธิปไตยไปโดยปริยาย และดูเหมือนจะเบ่งบานกระจายไปยังโรงเรียนต่างๆอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองของนักเรียนบางส่วน ทำให้คุณครูและนักเรียนเกิดความไม่เข้าใจกัน และแสดงออกด้วยความรุนแรง โดยครูบางคนเลือกที่จะลงโทษนักเรียนด้วยการตี ยึดโบขาว สัญลักษณ์ที่แสดงออกทางการเมือง หรือแม้แต่การห้ามแสดงออกทางความคิด เห็นอื่นๆ เป็นต้น
...
สิ่งเหล่า นี้กลายเป็นการจุดกระแสให้ เกิดข้อ เรียกร้องอื่นๆตามมา โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้มีการ แก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเรื่องทรงผมนักเรียน พ.ศ.2546 ที่เด็กๆมองว่า “ล้าหลัง” ล่าสุดยังเรียกร้องให้มีการ ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถสวมใส่ชุดไปรเวตมาเรียนหนังสือได้
อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องในหลายประเด็นของกลุ่มนักเรียนก็ได้รับการขานรับจาก นายณัฏฐพล โดยมีการตั้ง คณะทำงานพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ไขระเบียบต่างๆ โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นประธานคณะกรรมการ และตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการละเมิดการกระทำความรุนแรงและความปลอดภัยในสถานศึกษา, ด้านกฎระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา และด้านการแสดงออกทางการเมืองในสถานศึกษา ซึ่งแต่ละด้านจะมีการแก้ไขปรับปรุงปัญหาตามข้อเรียกร้องของเด็กเป็นหลัก
...
ทั้งยังมีการ ตั้งศูนย์ช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียน นักศึกษาที่ถูกละเมิดทางเพศ เบื้องต้นมีการ ไล่ครูที่ละเมิดทางเพศนักเรียนออกจากราชการไปแล้ว 16 คน และเร่งรัดกระบวนการสอบสวนครู ที่ทำผิดให้รวดเร็วขึ้น ล่าสุดคณะทำงานยังพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษายังได้เห็นชอบเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการมีการแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเรื่องทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2546 ตามข้อเรียกร้องของนักเรียนแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ยังคงไม่มีการพูดถึง
...
สำหรับอีกปัญหาหนึ่งที่มีการพูดกันและอยู่ในระบบการศึกษาไทยมานาน นั่นคือ “การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” ซึ่งเป็นเรื่องที่ชุมชนหลายแห่ง คัดค้านมาโดยตลอด แต่ ปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดลง ทำให้โรงเรียนมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เต็มที่ ยังผลให้เกิดปัญหาครูผู้สอนไม่ครบชั้นเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอนล้าสมัย อาคารเรียน อาคารประกอบอื่น ๆ รวมไปถึงบ้านพักครูที่ชำรุดทรุดโทรม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบถึงคุณภาพของผู้เรียน
ล่าสุด รมว.ศึกษาธิการกำหนดนโยบายในการสะสางปมปัญหาดังกล่าวนี้ด้วย การจัดทำรูปแบบการพัฒนาการศึกษาประจำจังหวัด เพื่อทำเป็นต้นแบบในการยกระดับคุณภาพการศึกษาใน 3 แนวทางหลัก คือ 1.การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพให้ชุมชน โดยจะเลือกโรงเรียนขนาดเล็กดำเนินการ 2.การยกระดับโรงเรียน Stand Alone และโรงเรียนขนาดกลาง และ 3.การพัฒนาโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง โดยในทุกแนวทาง ศธ.จะทุ่มพัฒนาทั้งระบบ ทั้งบุคลากรผู้สอนต้องครบชั้นเรียน มีครูภาษาอังกฤษ ครูธุรการ รวมถึงบุคลากรอื่นๆที่จำเป็น มีอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย อาคารเรียน อาคารประกอบที่ครบครัน พร้อมรองรับจำนวนนักเรียนที่จะขยับเพิ่มขึ้นในอนาคต
โดย นายณัฏฐพลยืนยันหนักแน่นที่จะใช้แนวทางดังกล่าวยกระดับคุณภาพโรงเรียนทุกระดับแทนการยุบรวมโรงเรียน ซึ่งยากที่จะสู้แรงเสียดทานจากคนในชุมชนได้ โดยคาดหวังว่าเมื่อโรงเรียนแต่ละกลุ่มได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นจนมีมาตรฐานในระดับแนวหน้าแล้ว ผู้ปกครองนักเรียนและคนในชุมชนจะให้การยอมรับและเลือกที่จะย้ายบุตรหลานเข้ามาเรียนในโรงเรียนที่ ศธ.ได้เข้าไปพัฒนาในที่สุด ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดที่จะดำเนินการในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ตและสมุทรสงคราม เพื่อทำเป็นโมเดลนำร่องให้จังหวัดอื่นๆได้มองเห็นภาพ โดยแต่ละแนวทางจะมีการคัดเลือกโรงเรียนเพื่อจัดทำเป็นต้นแบบ 1 แห่ง คาดว่าจะสตาร์ตเดินหน้าโปรเจกต์สำคัญนี้ได้ในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 และหากต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้ครบทุกจังหวัดอาจจะต้องใช้เม็ดเงินในการยกเครื่องคุณภาพการศึกษาไทยครั้งนี้มหาศาล ถ้าทำพร้อมกันทั่วประเทศบวกลบคูณหารแล้วก็น่าจะต้องใช้งบประมาณนับแสนล้านบาท
ในปี 2564 “ปีวัวดุ” “ทีมการศึกษา” เชื่อว่ายังเป็นอีกปีที่ยังมีสารพัดปัญหาในแวดวงการศึกษา ทั้งที่มีการหยิบยกจากกลุ่มนักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาการศึกษาระดับจังหวัด ที่ต่อเนื่องจากปี 2563 “ปีหนูขวักไขว่” และอาจจะมีการหยิบยกประเด็นปัญหาใหม่ๆมาเป็นโจทย์ให้รัฐบาลและเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการได้สะสาง
และทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือความท้าทายและบทพิสูจน์ความจริงใจรัฐบาลที่จะมุ่งมั่น ทุ่มเทให้งาน “สร้างคนสร้างชาติ” แค่ไหน...!!!
ทีมการศึกษา