การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำเอายอดสั่งซื้อถุงมือยางจากไทยโตกระฉูด อานิสงส์ส่วนหนึ่งส่งต่อมาถึงเกษตรกรชาวสวนยาง ถึงขั้นภาครัฐตั้งเป้าไทยเป็นฮับถุงมือยางโลก จะแค่ฝันลมๆ มโนเข้าข้างตัวเอง หรือโอกาสเปิดกว้าง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลปัจจุบันไทยส่งออกถุงมือยางเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออกในปี 2562 ประมาณ 37,381 ล้านบาท

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกเพิ่มมากขึ้น...ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมที่ผ่านมา ไทยส่งออกถุงมือยางสูงถึง 20,540 ล้านคู่

เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 22.08% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 53,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72.47%

แบ่งเป็นถุงมือผ่าตัด 732 ล้านคู่ มูลค่า 7,407 ล้านบาท ถุงมือตรวจโรคหรือถุงมือแม่บ้าน 19,808 ล้านคู่ มูลค่า 46,395 ล้านบาท

5 อันดับแรกนำเข้าถุงมือยางจากไทย ได้แก่ สหรัฐฯ มูลค่า 20,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.29% จากปีก่อน รองลงมา อังกฤษ มูลค่า 3,954 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 941.72% ลำดับที่สาม ญี่ปุ่น มูลค่า 2,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.17% จีน มูลค่า 2,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131.6% และเยอรมนี มูลค่า 2,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.86%

ด้วยความได้เปรียบด้านภาพลักษณ์คุณภาพวัตถุดิบยางไทย ทำให้หลายประเทศทั่วโลกมีความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ยางไทย

ที่สำคัญ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิคการขจัดโปรตีนแพ้ในถุงมือยาง ที่เป็นปัญหาหลักของถุงมือยางที่ผลิตจากทั่วโลกได้แล้ว

...

ขั้นตอนต่อไปจึงต้องผลักดันมาตรฐานถุงมือยาง ในกระบวนการผลิตและการขอใบรับรองทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์

เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว เหลือแค่ความร่วมมืออย่างบูรณาการของอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยและทุกภาคส่วนว่าจะช่วยกัน แค่ไหนเท่านั้น.


สะ-เล-เต