หลายคนเอ่ยว่าปีนี้ทั้งปีเป็นปีแห่งความหดหู่ คงไม่ต้องบอกว่าเราร่วมชะตากรรมอะไรกันอยู่ตั้งแต่ต้นปีจนมาถึงบัดนี้ โควิด-19 ทำให้ข้อความที่ว่า “One World One Destiny” เป็นภาพที่ชัดขึ้นจนบางทีเราก็รู้สึกเจ็บลึกๆ อยู่ในใจ แต่ตราบใดที่ยังหายใจ ทุกชีวิตก็ต้องก้าวต่อไปอย่างมีสติ และรับมือให้ถูกทาง คงไม่เพียงแค่ “เรารอด” แต่หาก “เขา” หรือ “ใคร” อีกหลายๆ คน “รอด” เราเองก็รอดเช่นกัน …รอดด้วยการให้ ส่งต่อพลังและความสุขให้แก่กัน
ส่งต่อพลังจาก “การให้” แก่กันและกัน
เพราะมนุษย์อยู่ในสังคมเดียวกัน ผลจากคนคนหนึ่งสะท้อนถึงอีกคนหนึ่งอย่างชัดเจน โรคระบาดทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ หลายคนสูญเสียงาน หลายคนขาดรายได้จุนเจือครอบครัว นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งให้ใครหลายคน ไม่ว่าจะ “ตัวเล็ก” หรือ “ตัวใหญ่” จาก “ต้นน้ำ” หรือ “ปลายน้ำ” ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อคนอื่น พร้อมจับมือกันเดินไปข้างหน้าในภาวะแห่งความยากลำบากนี้
ในต่างประเทศ บางคนทำตามแนวคิด “พลังจากการจ่ายล่วงหน้า” ซึ่งเริ่มมาจากภาพยนตร์เรื่อง “Pay It Forward” ในปี 2000 ที่เล่าทฤษฎีเกี่ยวกับการเริ่มทำสิ่งดีๆ สำหรับคน 3 คน เปรียบเสมือนการจ่ายคุณความดีล่วงหน้าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และเชื่อว่าพลังจากการทำสิ่งนั้นจะทำให้คน 3 คนนั้นทำต่อไปอีก 3 คน และต่อกันเป็นทอดๆ หลายแห่งนำแนวคิดและวิธีเลี้ยงกาแฟคนแปลกหน้าที่ขาดแคลน มาใช้เลี้ยงอาหารสักจานสำหรับคนที่กำลังต้องการ โดยสั่งสำหรับตัวเอง ก่อนจะจ่ายล่วงหน้าไว้อีกสักแก้ว หรือสักจาน สำหรับคนอื่น หรือคนไร้บ้านที่ต้องการในช่วงนั้น
คุณค่าจากความหมายใหม่ของการ “ขอบคุณ”
สำหรับบ้านเรา การช่วยเหลือผู้อื่นในรูปแบบต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยเสมอมา แต่ภาวะวิกฤติเช่นนี้ หลายคนก็ทำมากกว่าที่เคย ด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกันด้วยใจจริง หลายคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองมี ไปเป็นพลังให้ผู้อื่น บางคนลุกขึ้นมาใช้ทักษะที่ตัวเองมีเปลี่ยนเป็นงานเพื่อสังคม อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วงที่คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ หลายคนยังได้เปลี่ยนความชอบไปสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นในความหมายใหม่ๆ อย่างกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีในไทย หรือนักโฆษณาที่จากเดิมจ่ายค่าโฆษณาไปกับสื่อกลางแจ้งบนบิลบอร์ด หรือจอ LED ขนาดใหญ่ ก็เปลี่ยนมาใช้บริการท้ายรถตุ๊กตุ๊ก เพื่อกระจายรายได้ไปถึงคนตัวเล็ก
ไม่เพียงแค่คนธรรมดาๆ ที่เชื่อว่าตัวเองมีคุณค่าในฐานะผู้ส่งต่อพลังให้คนอื่นๆ ได้ในรูปแบบต่างๆ เท่านั้น หลายหน่วยงาน หลายองค์กร ไม่ว่าจะ “คนปลายน้ำ” หรือ “คนต้นน้ำ” ก็ลงมือทำสิ่งเดียวกันนี้เช่นกัน เพื่อฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน อย่างแคมเปญหนึ่งที่เรียกว่าได้ใจมากก็คือการที่ Grab เข้ามาช่วยเป็นตัวกลางสำหรับให้พ่อค้าแม่ขายในตลาดกับผู้ซื้อได้เจอกันง่ายๆ แบบไม่ต้องเดินทางไปด้วยตนเองเพื่อลดการสัมผัสผ่านโครงการ “ตลาดสดคนไทย” โดย GrabMart ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเดินทางมาพบกันที่พอเหมาะพอเจาะของเทคโนโลยีและแนวคิดจนนำไปสู่การกระจายประโยชน์ รวมถึงรายได้ไปยังคนหลายๆ กลุ่ม
ไม่เพียงแค่พี่ๆ น้าๆ พ่อค้าแม่ขายในตลาดที่จะมีโอกาสได้ขายของมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังไล่เรียงไปถึงคนต้นทางอย่างลุงป้าเกษตรกรที่มีโอกาสนำผลผลิตจากแหล่งผลิตกระจายและส่งต่อไปถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น และง่ายขึ้น โดยมีตัวกลางอย่างพี่ๆ “นักเดินทางแจ็กเกตเขียว” ส่งต่อมาถึงมือเรา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลแบบนี้ที่เราต้องการกระเช้าผลไม้ ผักสดๆ หรือแม้แต่อาหารสด เอาไว้เพื่อขอบคุณใครสักคนส่งท้ายปี ทว่าวันนี้กระเช้าขอบคุณคนปลายทางจากเราก็ได้สร้างคุณค่าใหม่ๆ อีกมากมายไปในตัว
ได้ขอบคุณลุงป้าเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง ที่ไม่หยุดสร้างผลผลิตเพื่อให้เรายังได้มีแหล่งอาหาร ขอบคุณพ่อค้าแม่ขายที่ออกไปทำงานและนำผลิตผลเหล่านั้นมาถึงเรา พร้อมขอบคุณคนตัวกลางอีกหลายคนที่ส่งต่อสิ่งเหล่านั้นมาถึงมือ นี่คือคุณค่าของ “พลังจากการจ่ายล่วงหน้า” ด้วยคำขอบคุณในอีกความหมายหนึ่งเพื่อร่วมกันเดินข้ามผ่านวิกฤติเดียวกัน
กระเช้าขอบคุณเพียงหนึ่งกระเช้าช่วยสร้างรอยยิ้ม และส่งต่อลมหายใจให้ใครได้อีกหลายคน ทำให้ร้านค้าเล็กๆ ปรับตัวได้ไม่ยากเกินไปนักในช่วงวิกฤติ ทำให้หลายครอบครัวยังได้มีกินต่อไปในภาวะแห่งความยากลำบาก และช่วยให้อีกหลายคนยังได้ทำอาชีพที่ตัวเองรักต่อไป ในขณะที่เราเองก็อุ่นใจว่าไม่ได้ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง หากแต่ได้ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อใครสักคน
เราไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ในวันเดียว เหมือนที่สุภาษิตฝั่งตะวันตกกล่าวเอาไว้ว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว (Rome Was Not Built In A Day) แต่ภายใต้การเดินทาง นักเดินทางก็มักจะเห็นคุณค่าจากเรื่องราวที่อยู่รายล้อมช่วงเวลาของการเดินทางเสมอ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ใครหลายคนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อคนอื่น
ไม่ต้องขอบคุณวิกฤติ แต่ให้ขอบคุณกันและกัน… เพราะของขวัญที่ดีที่สุดคือการช่วยกัน