• พะยูน สัตว์ทะเลหายาก หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน ที่ปัจจุบันยังพบว่าถูกคุกคามโดยมนุษย์
  • มาเรียม พะยูนน้อยปลุกกระแสคนรักษ์ทะเล 
  • ความสำคัญระหว่าง "พะยูน" กับวิถีชาวเล


"พะยูน" เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีชื่อเรียกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน และอยู่ในบัญชี 1 ของบัญชีไซเตส ห้ามค้าโดยเด็ดขาด แต่ที่ผ่านมา พะยูน ก็ยังถูกคุกคามอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถิ่นที่อยู่ หญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักถูกทำลาย โดนล่าจากความเชื่อผิดๆ อย่างการเลาะฟันมาทำของขลัง

จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ปัจจุบัน "พะยูน" ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 200 ตัว อาศัยอยู่ทั้งในฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่ จ.ระนอง ถึง จ.สตูล และชายฝั่งอ่าวไทย พบมากที่สุดในบริเวณเกาะมุก และเกาะตะลิบง จ.ตรัง 

"มาเรียม" ปลุกกระแสอนุรักษ์พะยูน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "มาเรียม" ลูกพะยูนกำพร้าแม่ ที่ถูกพบนอนเกยตื้นบริเวณอ่าวทึง ม.4 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.62 ได้ปลุกกระแส "อนุรักษ์พะยูน" ขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้หลายคนใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดขยะทะเล แต่ล่าสุดก็มีข่าวสลดใจ เมื่อเจ้าหน้าที่พบศพแม่พะยูนท้องแก่ใกล้คลอด ถูกเลาะฟัน ลอยตายที่หาดเจ้าไหม จ.ตรัง ภาพดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจให้คนที่รักพะยูนไม่น้อย

...

จากการสอบถาม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เปิดเผยว่า ข้อมูลที่ชันสูตรอาจจะยังไม่ครบถ้วน แต่จากร่องรอยบนตัวพะยูน ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลหายากระดับสูง และคุณหมอหลายท่านมีความคิดเห็นว่าเป็นการเจตนาฆ่าพะยูน ซึ่งขณะนี้ความคิดเห็นดังกล่าวยังเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นทางการ ซึ่งตนเองก็มีความคิดเห็นไป ในแนวทางเดียวกันว่าพะยูนคงไม่ได้ตายเพราะอุบัติเหตุ

ดังนั้นหลังจากนี้จึงต้องทำให้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ได้ปรึกษาหารือกันแล้ว ผลักดันเป็นความคิดเห็นที่เป็นทางการ ด้วยการนำเข้าที่ประชุมคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการทะเลแห่งชาติ

โดยจะให้ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลหายากระดับสูง จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต และ ดร.นันทริกา ชันซื่อ รองประธานคณะทำงานฯ รวมไปถึงทีมแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาร่วมกันให้ข้อมูลเพื่อสรุปในที่ประชุมได้ว่า มีผู้เจตนาฆ่าพะยูนแบบทางการได้ รวมทั้งยื่นเรื่องไปยังอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ

โดยข้อเสนอของเราคือ ต้องการหน่วยงานพิเศษที่มีศักยภาพในการสืบหาตัวและปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับหน่วยงานปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งที่ผ่านมาเคยพบว่ามีพะยูนถูกเลาะฟัน แต่ไม่เคยมีหลักฐานว่ามีผู้เจตนาฆ่าชัดเจนเท่ากับครั้งนี้

อาจารย์ธรณ์ เปิดเผยอีกว่า ในปีนี้ 2563 มีพะยูนตายทั้งสิ้น 20 ตัว ส่วนปี 2562 มีพะยูนตาย 23 ตัว หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ใน 2 ปี มีพะยูนตายรวมกันถึง 40 กว่าตัว พะยูนทั้งหมดมีประมาณ 200 กว่าตัว ถือเป็นการตายที่มากผิดปกติตามที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ 2 เท่า ประชากรพะยูนจะต้องลดลงอย่างแน่นอน

"พะยูน" กับ วิถีชีวิตคน และท้องทะเลไทย

หาก “เต่ามะเฟือง” เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ จ.พังงา เมื่อพูดถึง "พะยูน" ก็ทำให้คนนึกถึง จ.ตรัง เป็นเหมือนมาสคอตทำให้คนมาท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชน เมื่อคนรู้จักพะยูน ก็จะช่วยกันอนุรักษ์ทะเลทั้งหมดของประเทศไทย เชื่อว่าชาวบ้านในชุมชนเข้าใจดีว่า หากไม่มีพะยูนแล้วจะได้รับผลกระทบขนาดไหน นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราต้องช่วยกันอนุรักษ์พะยูน.

...

ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphum