พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ มีการวิจัยกันมาหลายปี แม้จะมีออกมาให้เห็นกันบ้าง แต่ก็ต้องยังถือว่าราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไป แต่ในยุค 5G เราข้ามเลยพลาสติกชีวภาพกันไปแล้ว โดยโฟกัสไปถึงขวดพลาสติกจากพืช หรือ PEF (Polyethylene Furanoate) ที่กำลังเป็นเทรนด์โลกมาแรง ซึ่งถูกจัดให้เป็น 1 ใน 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง (10 Technologies to Watch) ที่อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจและชีวิตหลังยุคโควิด-19 ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นปีละประมาณ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพียง 0.5 ล้านตัน อีก 1.5 ล้านตัน ต้องกำจัดด้วยการเผาหรือฝังกลบ โดย 0.3 ล้านตัน เป็นขยะประเภทขวดพลาสติก และอีก 1.2 ล้านตัน เป็นประเภทถุงพลาสติกและซองบรรจุภัณฑ์ต่างๆแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
...
แต่ต่อไปจะมีวัสดุที่เรียกว่า PEF (Polyethylene Furanoate) ผลิตจากวัสดุชีวภาพหรือ biobased 100% ซึ่งสามารถลด carbon footprint ได้กว่า 50% เมื่อเทียบกับการผลิตขวด PET จากปิโตรเคมี ทำให้คาดว่า PEF จะมาแทนที่พลาสติก PET ในอนาคต
คุณสมบัติเด่นของ PEF ที่เหนือกว่า PET คือผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ 100% มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรง มีความเสถียรทางความร้อนสูง สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% ในระบบเดียวกับพลาสติกทั่วไป และยังมีสมบัติกันน้ำ และก๊าซผ่านเข้าออกได้ดีกว่าพลาสติกแบบเดิม ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงคาดว่า PEF จะเป็นโพลิเมอร์รุ่นต่อไปที่มีศักยภาพในการแทนที่พลาสติกแบบเก่า
ทั้งนี้ สวทช.โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค กำลังเริ่มศึกษาเกี่ยวกับ PEF โดยมีความร่วมมือกับ Prof. Xiaoqing Liu นักวิจัยจาก Ningbo Institute of Materials Technology and Engineering ประเทศจีน ในการนำ PEF มาพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ
เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่จะนำมาสู่ต้นแบบกระบวนการผลิต PEF และผลิตภัณฑ์จาก PEF สำหรับถ่ายทอดสู่อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้พลาสติกจากโพลิเมอร์ชีวภาพแทนพลาสติกจากปิโตรเลียม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกและลดภาวะโลกร้อน และยังถือเป็นการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ต้องติดตามว่าเทคโนโลยีใดจะสามารถกอบกู้ประเทศของเราให้รอดพ้นจากวิกฤติต่างๆ พร้อมทั้งสร้างโอกาสแก่ธุรกิจ และชีวิตวิถีใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ขนาดไหน และภายใน 3–5 ปีนี้ เราจะได้เห็นขวดพลาสติกจากพืชกันหรือไม่.