ล่าช้า...ไม่ทันการณ์...นี่คือความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ที่สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารงานคณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคม (มส.) โดยเฉพาะความล่าช้าในการแต่งตั้ง “เจ้าคณะภาค” จำนวน 26 ตำแหน่ง แบ่งเป็นฝ่ายธรรมยุต 8 รูป ฝ่ายมหานิกาย 18 รูป โดยปัจจุบันเจ้าคณะภาคที่ทำหน้าที่อยู่...อยู่ในฐานะ “รักษาการ” มานานนับปี

สุญญากาศวงการสงฆ์ ยิ่งล่าช้า ยิ่งเสื่อม

ถามว่า ตำแหน่งเจ้าคณะภาค สำคัญอย่างไร?

คำตอบ คือ ตามข้อ 10 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ กำหนดให้เจ้าคณะภาคมีอำนาจหน้าที่การปกครองคณะสงฆ์ในเขตภาคของตน ดังนี้ 1.ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช 2.ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี 3.วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นจังหวัด 4.แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะจังหวัดให้เป็นไปโดยชอบ 5.ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย และ 6.ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน

...

ความล่าช้าที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 6+1 คือ 1.ด้านการปกครอง 2.ด้านการศาสนศึกษา 3.ด้านการเผยแผ่ 4.ด้านการสาธารณูปการ 5.ด้านการศึกษาสงเคราะห์ และ 6.ด้านการสาธารณสงเคราะห์ และอีก 1 คือ การพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

สุญญากาศวงการสงฆ์ ยิ่งล่าช้า ยิ่งเสื่อม

จริงอยู่ว่า “ตำแหน่งรักษาการ” ยังสามารถทำงานได้ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ความมั่นใจ มั่นคงของตำแหน่งรักษาการลดระดับลงไป เพราะผู้รับการปฏิบัติต้องอยากรับฟังนโยบายจากเจ้าคณะภาคตัวจริงมากกว่า

ที่สำคัญเรื่องนี้ ทำให้หลายภาคส่วนมองว่า มส.ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ ไม่ดำเนินการตามกฎ มส. ที่ให้เจ้าคณะปกครองต้องเอื้อเฟื้อสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีมากกว่า

เพราะการปกครองคณะสงฆ์ มีการแบ่งการปกครองลดหลั่นตามลำดับตั้งแต่เจ้าใหญ่ เจ้าคณะหน ลงมาถึงเจ้าคณะภาค ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ เจ้าคณะภาคหนึ่งๆ คุม 4-5 จังหวัด ต้องสั่งการลงไปยังเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนา

ศ.พิเศษ บรรจบ บรรณรุจิ
ศ.พิเศษ บรรจบ บรรณรุจิ

แต่เมื่อไม่มีการแต่งตั้งเจ้าคณะภาคตัวจริง การขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนาจะไปทางไหน?

“ขณะนี้คณะสงฆ์น่าจะอยู่ในภาวะกึ่งสุญญากาศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่องานคณะสงฆ์ และส่งผลลงไปในระดับเจ้าคณะปกครองรองลงไป จะแต่งตั้งก็ไม่ได้ จะตัดสินอธิกรณ์ก็ไม่ได้ เข้าใจว่าอาจจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของกฎหมายใหม่ ต้องใช้ความ รอบคอบ อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ แต่เชื่อว่าจะดีขึ้น” ศ.พิเศษ บรรจบ บรรณรุจิ ภาคีสมาชิกราชบัณฑิต สาขาศาสนา กล่าวถึงเหตุผลความล่าช้าการแต่งตั้งเจ้าคณะภาค

นอกจากคณะสงฆ์แล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) องค์กรที่ทำหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ ก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกัน

เนื่องจากตำแหน่งผู้บริหารสำคัญๆ ก็ว่างลงและยังไม่มีการแต่งตั้งเป็นจำนวนมาก อาทิ รอง ผอ.พศ. 2 ตำแหน่ง ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารที่ส่วนกลางและเป็นตำแหน่งสำคัญที่ทำหน้าที่ขับ เคลื่อนงานคณะสงฆ์ทั้งเรื่องการปกครองการศึกษา และเผยแผ่ ว่างลงถึง 5 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ตำแหน่ง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ก็ว่างโดยไม่มีการแต่งตั้งกว่า 10 ตำแหน่ง ที่สำคัญ มีบางตำแหน่งว่างมานานถึง 13–14 เดือน

พระเมธีธรรมาจารย์
พระเมธีธรรมาจารย์

...

รวมผู้บริหารระดับ 9 ว่างถึง 20 ตำแหน่ง...ทำไมถึงไม่ตั้ง ?...และปล่อยให้เกิดสภาวการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร?

แน่นอน นี่คือคำถามที่รอคำตอบจากนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.พศ.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาน) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “พศ.เกิดสุญญากาศมานาน ทำให้การขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาเป็นไปด้วยความล่าช้า ดังนั้น ผู้รับผิดคือนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.พศ. ควรเร่งรัดให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อให้การทำงานสนองงานคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว”

“ทีมข่าวศาสนา” มองว่า ปัญหาความล่าช้าในคณะสงฆ์และองค์สนอง คือ พศ.เป็นประเด็นปัญหาที่ต้องมีการสะสางกันอย่างเร่งด่วน

เพราะในกิจการของคณะสงฆ์นั้น ย่อมไม่มีใครรู้ได้ดีเท่ากับพระสงฆ์ด้วยกันเอง...ขณะที่การขับเคลื่อนงานในหลายๆส่วนก็ต้องมีองค์กรสนอง อย่าง พศ.เป็นจักรกลสำคัญเช่นกัน

คงไม่มีพุทธศาสนิกชนคนไหนอยากเห็นความล่าช้า ที่เกิดจากการตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศของคณะสงฆ์และองค์กรสนอง ส่งผลต่อพุทธศาสนา

วันนี้จึงมีคำถามที่ต้องการคำตอบ และการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม คือ การจัดการกับสภาวะความเสื่อมถอยที่กำลังก่อตัวขึ้นแล้วอย่างไร?.

ณรงค์ ทรงอารมณ์
ณรงค์ ทรงอารมณ์

...

ทีมข่าวศาสนา