ต้องยอมรับ โลกเราวันนี้กำลังถูกพายุดิสรัปชันอย่างน้อย 3 ลูก ทั้งพายุดิจิทัล ภาวะโลกร้อน และภัยโควิด-19 โหมกระหน่ำภาคการเกษตร ส่งผลให้ภาคการผลิตและการค้าขาย มีการเปลี่ยนแปลงผิดแผกไปจากวิถีเดิม จนเกิดวิถีใหม่ที่เรียกกันว่า ชีวิตวิถีใหม่...นิวนอร์มอล

ในภาวะเช่นนี้ ภาคเกษตรควรปรับตัวกันอย่างไร...???

ลองไปฟังมุมมองของธุรกิจภาคเกษตรอย่าง สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรรายใหญ่ เขามีวิธีการปรับตัวนำพาองค์กรฝ่าภาวะวิกฤตินี้อย่างไร เพื่อจะได้เป็นต้นแบบให้คนภาคเกษตรได้ปรับตัวให้อยู่รอด

“การดิสรัปชันที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล วันนี้ผู้คนในภาคเกษตรต่างต้องการเทคโนโลยี เครื่องจักรกล อุปกรณ์ในการทำเกษตร ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับโครงการโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น เพื่อให้การทำเกษตรมีความแม่นยำสูง ใช้แรงงานน้อยลง ลดต้นทุน และให้ผลผลิตสูง เรื่องแรกที่เราทำคือ พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรรองรับเกษตรยุค 5G เช่น โดรนเพื่อการเกษตร โรงเรือนอัจฉริยะ (Green House) รวมถึงการเก็บข้อมูล Big Data เช่น ระบบ KIS คูโบต้า นวัตกรรมอัจฉริยะ ที่เชื่อมต่อการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตรกับระบบเทเลเมติกส์ ในการนำข้อมูลการใช้งานมาวิเคราะห์และวางแผนการเพาะปลูกให้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสารหลายช่องทางในรูปแบบออมนิแชนแนล (OMNI Channel) ให้เกษตรกรสามารถสั่งซื้ออะไหล่แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ KUBOTA Store พร้อมบริการจัดส่งถึงบ้านได้ง่ายๆ”

...

นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขายการตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงสิ่งที่โลกดิจิทัลกำลังเปลี่ยนภาคเกษตร

การดิสรัปชันของภาวะโลกร้อนก็เช่นกัน นอกจากจะทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนไป ฤดูกาลไม่แน่นอนเหมือนในอดีตอีกต่อไป การทำเกษตรต้องอาศัยความแม่นยำมากว่าเดิมแล้ว สังคมโลกเริ่มมีมาตรฐาน การทำเกษตรแบบลดโลกร้อน มาใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า

เพื่อรับมือการเปลี่ยนที่เกิดขึ้นนี้ สยามคูโบต้าได้นำเทคโนโลยี IoT ผสานนวัตกรรมการทำเกษตรแม่นยำต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศ เพื่อช่วยคาดการณ์และวางแผนการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้เกษตรกรลดความเสี่ยงของผลผลิตจากสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ พร้อมจับมือกับภาครัฐ เอกชน เกษตรกร จัดทำโครงการ “เกษตรปลอดการเผา Zero Burn” เพื่อลดมลภาวะและปัญหาสิ่งแวด-ล้อม โดยเน้นให้ความรู้และส่งเสริมให้เปลี่ยนจากเผามาเป็นวิธีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ จำพวก ตอซัง ฟางข้าว และใบอ้อย ด้วยการไถกลบตอซังเป็นปุ๋ย การอัดฟางก้อนเพื่อเป็นอาหารโคนม โคเนื้อ และการอัดใบอ้อยส่งโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร ดีกว่าเผาทิ้งอย่างไร้ค่า

“ส่วนวิกฤติโควิด-19 ที่โหมกระหน่ำมาตั้งแต่ต้นปี 63 ทำให้แรงงานในเมืองใหญ่กลับคืนสู่ถิ่นฐานและหันมาทำการเกษตรมากขึ้น แต่ขาดทักษะการใช้เครื่องจักร และความรู้ด้านเกษตร ทางสยามคูโบต้าร่วมกับกระทรวงแรงงานได้จัดอบรมหลักสูตรการขับเครื่องจักรกลการเกษตร ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้

แม้โควิด-19 จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลก แต่ในแง่มุมหนึ่งยังนับว่าเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ หรือเป็นตัวกระตุ้นการใช้ดิจิทัลในภาคการเกษตรให้เกิดเร็วมากยิ่งขึ้น ในฐานะผู้ผลิตเครื่องจักรกล ต้องรู้จักปรับตัว และพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเทรนด์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์เกษตรกรรุ่นใหม่ในอนาคต”

...

จากปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นายพิษณุ มองว่า การพัฒนาภาคการเกษตร เป็นสิ่งที่ยังดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้เกิดความสมดุลอย่างมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน สิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยพัฒนาต่อเนื่อง ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จจากประสบการณ์จริง พร้อมขยายผลสู่ระดับท้องถิ่น ซึ่งสยามคูโบต้าได้ส่งเสริมด้านพัฒนาสังคม ผ่านโครงการชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า หรือ SIAM KUBOTA Community Enterprise (SKCE)

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ภาครัฐต้องสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร โดยการนำผลผลิตมาแปรรูปใหตรงกับความต้องการที่แท้จริงของตลาด ถึงจะทำให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน สามารถต่อยอดได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และช่วยให้ภาคเกษตรฝ่าวิกฤติแห่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไปได้.


ชาติชาย ศิริพัฒน์