สภาพอากาศระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตง อาทิ แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักเขียว ฟักทอง ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ ให้สังเกตการระบาดของโรคราน้ำค้าง
อาการเริ่มแรกจะอยู่ที่ใบด้านล่างของต้น บนใบจะมีแผลฉ่ำน้ำ แล้วแผลจะขยายลุกลาม ทำให้เห็นแผลเหลี่ยมเล็กเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถ้าตอนเช้าอากาศมีความชื้นสูง จะพบเส้นใยของเชื้อราเป็นขุยสีขาวถึงเทาตรงแผลใต้ใบ จากนั้นแผลจะขยายติดต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ หากอาการรุนแรง จะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น ต้นพืชที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพความหวานของผลจะลดลง ถ้าเป็นโรคในระยะมีผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก บิดเบี้ยว
พบโรคเริ่มระบาด ให้พ่นด้วย แมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64%+4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซมอกซานิล+ฟามอกซาโดน 30%+22.5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ+วาลิฟีนาเลท 60%+6% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งบนใบและใต้ใบ ทุก 5-7 วัน
และหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น รวมถึงให้กำจัดจับด้วงเต่าแตงที่เป็นพาหะนำเชื้อราสาเหตุโรคมาทำลาย หรือพ่นด้วยสารฆ่าแมลง ไดโนทีฟูแรน 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
สำหรับพื้นที่พบโรค หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เก็บเศษซากพืชส่วนที่หลงเหลือ และหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการสะสมของเชื้อรา และทำลายแหล่งอาศัยของด้วงเต่าแตง อีกทั้งควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน และไม่ควรปลูกพืชแน่นจนเกินไป
...
การปลูกใหม่เกษตรกรควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพจากแหล่งปลอดโรค และก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 ํ C นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วย เมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กก.
สะ-เล-เต