นักวิ่ง หัวใจวาย วูบหมดสติ เสียชีวิตจากการออกกำลังกาย วันเดียว 3 คน ใน 2 รายการวิ่ง และ 1 ในนั้น คือ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค หนึ่งในทีมสู้โรคโควิด-19 ของประเทศไทย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสูญเสียให้กับวงการสาธารณสุข และสร้างความตกใจให้กับผู้รักการออกกำลังกายทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ โดยเฉพาะกีฬาวิ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะจากกระแสนักร้องนักวิ่ง พี่ตูน...บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ
การวิ่งมีประโยชน์มากมาย เช่น ป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ช่วยให้เส้นเลือดไหวเวียนดี ช่วยให้ปอด หลอดลมแข็งแรง ร่างกายเผาผลาญได้ดีขึ้น เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบบประสาท กระดูกข้อต่อแข็งแรงขึ้น สมองปลอดโปร่ง ช่วยลดน้ำหนัก
แต่การวิ่งที่ถูกต้องจะต้องเตรียมตัวอย่างไร โดยเฉพาะปัจจุบัน มีการจัดการแข่งขันวิ่งระยะต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งนักวิ่งหน้าใหม่จะมีการเตรียมร่างกายอย่างไร รวมทั้งข้อควรระวังสำหรับนักวิ่งมืออาชีพ และผู้จัดการแข่งขัน “ทีมข่าวสาธารณสุข” จะพาไปค้นหาคำตอบกัน
...
นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานชมรมกรีฑาศิริราช กล่าวว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์เสมอ แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับสุขภาพตนเอง ต้องรู้ว่าเรามีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ และมีขีดจำกัดอย่างไรบ้าง คนวิ่งเร็วไม่ใช่ว่าจะเป็นคนที่เก่งกว่า คนที่เก่งคือคนที่รู้จักตัวเองมากกว่า และผู้ชนะคือ ผู้ที่ชนะสุขภาพตนเอง
อาการบาดเจ็บจากการวิ่ง ที่สำคัญ มี 5 ประการคือ
1.เสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือด หรือเกิดโรคหัวใจระหว่างการวิ่ง
2.ภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้หรือฮีตสโตรก (Heat Stroke) จนกระทั่งเกิดความผิดปกติของระบบประสาท ความน่ากลัวคือ คนมักจะวินิจฉัยไม่ได้ จึงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
3.ภาวะการขาดน้ำ ซึ่งรวมถึงการขาดพลังงานด้วย (Dehydration) หรือบางคนที่มีโรคประจำตัวแล้วไม่ได้ควบคุมให้ดี เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งอาจจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ก็อาจจะเกิดภาวะหมดสติระหว่างวิ่ง
4.ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) ทำให้นักวิ่งหมดสติได้ เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างน้ำกับเกลือแร่ ซึ่งการดื่มน้ำมากเกินไปก็ไม่ดี
5.สาเหตุอื่นๆ เช่น ผู้ที่เป็น ความดันโลหิตสูง อยู่แล้ว หรือ มีความเสี่ยงที่จะเกิดหลอดเลือดในสมองแตก การไปวิ่งก็อาจจะเพิ่มความเครียดให้กับร่างกาย หรือ บางคนเกิดชักที่เกิดจากภาวะทางประสาท หรือ บางคนน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ โซเดียมในเลือดต่ำ หรือ บางคนมีภาวะหอบหืด หรือการแพ้ต่างๆ เป็นต้น
“คำแนะนำสำหรับผู้ร่วมการแข่งหรือกิจกรรมการวิ่งตามงานต่างๆ ไม่เหมือนกับการออกกำลังกายทั่วไป ซึ่งอาจจะประสบสิ่งที่ไม่คาดคิดต่างๆ ได้ จึงต้องเตรียมตัว ต้องรู้จักสภาพสนามวิ่งให้ดี เพราะอาจจะเกิดความเครียดความตื่นเต้นต่างๆ กับเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยได้ รวมถึงอุณหภูมิหรือสภาพอากาศระหว่างวิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ที่สำคัญต้องรู้ว่าจุดไหนเป็นจุดให้น้ำ ให้เกลือแร่ หน่วยปฐมพยาบาล เพื่อวางแผนไม่ให้มีการขาดน้ำ ขาดพลังงาน หรือ จุดขอความช่วยเหลือ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ รวมถึง ในตัวต้องมีข้อมูลที่สามารถติดต่อเบอร์ฉุกเฉินในการขอความช่วยเหลือได้ ทั้งนี้ หากเกิดความผิดปกติในร่างกาย ให้หยุดวิ่ง อย่าฝืน บอกนักวิ่งข้างๆ หรือสตาฟฟ์ให้รับรู้ถึงอาการผิดปกติ แม้แต่การเป็นตะคริวอาจจะไม่ใช่การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ แต่อาจจะเป็นภาวะของการเกิดฮีตสโตรก หรืออาการนำของอาการชักต่างๆก็ได้ จึงต้องระมัดระวัง” นพ.วิษณุ กล่าวเพื่อสร้างความตระหนักให้กับนักวิ่ง
...
ส่วนการเตรียมการของผู้จัดการแข่งขันนั้น นายสงคราม ไกรสนธิ์ อดีตอุปนายกสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพ และผู้จัดการแข่งขันวิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า “ผู้จัดการแข่งขันทุกรายการจะปฏิบัติตามระเบียบที่มี เช่น การวางเส้นทางการวิ่ง ความปลอดภัย จัดจุดน้ำดื่มและอาหารให้เพียงพอ การเตรียมรถพยาบาล ทีมแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งวิ่งตรวจตราตลอดงาน เพื่อให้การช่วยเหลือหากประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บ หรือเกิดป่วยกะทันหัน สำหรับนักวิ่ง จะต้องประเมินสุขภาพตนเอง มีการเตรียมตัวฝึกซ้อม หากวิ่งระยะไกลๆ ต้องฝึกวิ่งตามโปรแกรม การเร่งรัดตนเองโดยที่ไม่ได้มีการฝึกซ้อม จะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ รวมไปถึงระบบการเต้นของหัวใจ ดังนั้น นักวิ่งหน้าใหม่ต้องศึกษาข้อมูล หาความรู้ให้มาก และคนที่อยากพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่การวิ่งมาราธอน ผมคิดว่าควรจะเข้าชมรมวิ่ง ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ และการมีเพื่อนวิ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”
...
“ทีมข่าวสาธารณสุข” เห็นด้วยกับการออกกำลังกาย เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็ ควรเลือกชนิดกีฬาที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ความชอบ และอายุของตนเอง ที่สำคัญควรหมั่นหาความรู้ ฟิตซ้อมร่างกายให้พร้อม เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกาย ไม่ใช่การบาดเจ็บตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงชีวิต
คงน่าเสียดายหากการทำเรื่องดีๆ ในชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี กลับกลายเป็นความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้.
ทีมข่าวสาธารณสุข