บรรจุภัณฑ์ต่างๆ มักจะถูกมองแง่ร้ายที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงนวัตกรรมเหล่านี้ล้วนเริ่มต้นจากความต้องการของคน อย่างกล่องยูเอชที ที่เกิดขึ้นจากความต้องการถนอมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่ห่างไกล แต่ยังคงความสดใหม่คุณค่าของอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในนั้นได้ เพราะมนุษย์ยังต้องใช้ชีวิต การปฏิเสธไม่ใช้สอยทรัพยากรต่างๆ เลยคงเป็นไปไม่ได้ คำถามสำคัญคือไม่ใช่หาคนผิด แต่เราควรตั้งคำถามกับกระบวนการจัดการอย่างถูกวิธีต่างหาก 

วันนี้เราชวนมาพูดคุยกับ คุณปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘โครงการกล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ (Beverage Carton Recycling Project: BECARE) ที่ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทางโครงการสามารถสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะ และจัดเก็บกล่องยูเอชทีเพื่อนำมารีไซเคิลได้กว่า 2,300 ตัน

เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการเกิดขึ้นได้อย่างไร และก้าวต่อไปของโครงการในเฟสที่ 5 จะไปในทิศทางไหน รวมทั้งทำไม “ความยั่งยืน” ถึงเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทแห่งนี้ ลองไปฟังคำตอบจากบทสัมภาษณ์ของเขากัน

เราจะเห็นว่าแนวความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กลายเป็นประเด็นหลักที่ผู้คนให้ความสนใจ สำหรับเต็ดตรา แพ้ค แนวความคิดนี้สำคัญแค่ไหนในการดำเนินธุรกิจ

ปัจจุบันเราให้ความสำคัญมากๆ ในเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมเราทำงานครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต ยาวไปจนถึงกระทั่งการนำเอาบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มเติม ในตลาดเราโฟกัสในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนและชุมชนในแต่ละประเทศที่บริษัทของเราตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการขยะ การจัดเก็บ และการรีไซเคิลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในเรื่องของความยั่งยืน ถ้าย้อนไปบริษัทของเราพูดถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ต้องเล่าก่อนว่าบริษัทของเราเป็นสัญชาติสวีเดน มีพนักงานมากกว่า 25,000 คนทั่วโลก มีบริษัทกระจายอยู่ในกว่า 160 ประเทศ และเป็นที่น่าอัศจรรย์เหมือนกันที่ผู้ก่อตั้งบริษัทของเรา Dr. Ruben Rausing พูดถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท หนึ่งในดีเอ็นเอของบริษัทเราคือเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบรรจุภัณฑ์ เพราะฉะนั้นในทุกช่วงเวลาของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เราใส่ใจกับเรื่อง Food safety เป็นหลัก หรือช่วงเวลาที่เราเริ่มตระหนักถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อม เป็นช่วงเวลาที่เราเริ่มเอาวัสดุมาใช้ใหม่ การเดินทางของเราอยู่ในเส้นทางเรื่องความยั่งยืนมาตลอด

ปรัชญาหรือแนวคิดการทำธุรกิจในเรื่องความยั่งยืนเกิดขึ้นได้อย่างไร

เราเป็นบริษัทนวัตกรรม และมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เราอาศัยการพัฒนาตรงจุดนั้นมาทำความเข้าใจลูกค้า ว่าเขาใส่ใจในเรื่องใดบ้าง การใช้พลังงาน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่บริษัทเราพูดมามากกว่า 20 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม มีการลดใช้พลังงานและปล่อยของเสียให้น้อยที่สุด จนถึงกระทั่งการรีไซเคิล ในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ เราช่วยแนะนำเทคโนโลยีให้กับธุรกิจรีไซเคิลมาไม่ต่ำกว่า 15 ปีแล้ว เพื่อจะได้จัดการกล่องของเราได้อย่างถูกวิธี ย้อนไปเมื่อ 70 ปีที่แล้วผู้ก่อตั้งของเรา Dr. Ruben Rausing ตั้งวิสัยทัศน์ขององค์กรไว้ว่า “We commit to making food safe and available, everywhere” หรือ เรามุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่สะอาดและปลอดภัยและมีพร้อมสำหรับการบริโภคในทุกๆ ที่

ถ้านึกภาพสมัยนั้นยังไม่มีการคิดค้นบรรจุภัณฑ์ที่ถนอมอาหารได้ คนยุโรปสั่งนมดื่มจากแหล่งวัวนมใกล้ๆ บ้านได้เท่านั้น ผู้ก่อตั้งของเราก็มีความคิดว่าจะทำอย่างไร ให้คนที่ด้อยโอกาสหรือไม่มีโอกาสอยู่ใกล้ๆ แหล่งวัวนม ได้ดื่มสินค้าที่มีคุณภาพ นั่นทำให้ทำไมบริษัทเราถึงมีส่วนสนับสนุนโครงการนมโรงเรียนอยู่ทั่วโลก

อีกคำที่ท่านใช้บ่อยมากๆ ถือเป็นปรัชญาของบริษัทเลย ก็คือ “A package should save more than it costs” บรรจุภัณฑ์ควรจะสร้างคุณค่ามากกว่าราคาของตัวเอง การที่ผู้ก่อตั้งเองมีวิสัยทัศน์แบบนี้แต่ต้น ทุกคนในบริษัทก็เลยใส่ใจในเรื่องนี้ ตัวผมทำงานที่นี่มา 13 ปี รับรู้เลยว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ในเส้นทางการทำงานของเรา อยู่ที่ว่าในแต่ละช่วงเวลาเราจะหยิบยกประเด็นไหนมาพูดถึง

บรรจุภัณฑ์ต้องสร้างคุณค่ามากกว่าราคาของตัวเองหมายถึงอะไร

เรามีสิ่งที่สำคัญที่โฟกัสอยู่ ยกตัวอย่างเรื่อง Food Safety บรรจุภัณฑ์ของเรามีองค์ประกอบของกระดาษ พลาสติก และอลูมิเนียมที่ผนึกแน่นรวมกัน เพื่อปกป้องคุณค่าของอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ของเรา อันนั้นคือการปกป้องคุณค่าขั้นต้น หลังจากนั้นคือการใช้งาน หลังใช้เราต้องการให้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วมีการคัดแยกอย่างเหมาะสม ทำความสะอาดและนำมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น นั่นคือความหมายที่เราทำและอยากพูดถึง

นิยามคำว่ายั่งยืนของคุณคืออะไร

เราดูแลให้ความใส่ใจห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงขั้นสิ้นสุดกระบวนการ และไปถึงการนำเอาผลิตภัณฑ์มาใช้ใหม่ ในแนวคิดเรื่อง “การปกป้องทุกคุณค่า” มีขาหนึ่งที่เรียกว่า “การปกป้องโลก” (Protect the planet) ที่เราจะเน้นย้ำไปถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การสร้างก๊าซเรือนกระจก และเรื่องของ Circularity ที่นำบรรจุภัณฑ์มาใช้ใหม่ เพราะฉะนั้นความหมายของความยั่งยืนของเรา คือออกแบบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ แต่การสร้างความยั่งยืนไม่ได้หมายความว่าไม่ทำหรือไม่ใช้ทรัพยากรอะไรเลย เพราะว่าเราใช้ชีวิตประจำวันเราต้องบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ผมว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของความตระหนักรู้ และการให้ความใส่ใจในทุกกิจกรรมที่เราทำ เพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุดมากกว่า

คนมักจะมองว่าบรรจุภัณฑ์เป็นตัวร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม คุณคิดว่าเราควรมองสิ่งนี้อย่างไร

บรรจุภัณฑ์เกิดจากความต้องการของมนุษย์ อาหารเป็นสิ่งที่ต้องการการปกป้องและเราต้องการให้คุณค่าของอาหารสดอยู่เสมอเมื่อไปถึงมือผู้บริโภค และเก็บอาหารได้นานขึ้น ในด้านหนึ่งถ้าเราไม่มีบรรจุภัณฑ์ที่ดีก็จะเกิด Food waste บรรจุภัณฑ์เข้ามาตอบโจทย์ในการเก็บรักษาอาหาร แต่การดีไซน์บรรจุภัณฑ์ต่างหากที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดพลังงานมากขึ้น องค์ประกอบในการผลิตสามารถนำกลับไปใช้งานอย่างอื่นได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องโฟกัส ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องของการบริหารจัดการขยะ และการสร้างความตระหนักเป็นสิ่งสำคัญ เรียกว่าเป็นความท้าทายมากๆ เพราะเมื่อเราพูดถึงคนจำนวนมาก เราต้องเจอกับเรื่องประสิทธิภาพในการสื่อสาร และความคิดของคนที่ไม่เหมือนกัน เรื่องของการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ การสร้างนวัตกรรมอาจจะยาก แต่อยู่ในการควบคุมของเรา แต่การให้ความตระหนักรู้ การทำให้ทุกคนมีความมุ่งมั่นตรงกัน เป็นสิ่งที่เราควบคุมยากและต้องเพิ่มให้มากขึ้น

พูดถึง ‘โครงการกล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ (Beverage Carton Recycling Project: BECARE) จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือ บริษัทเต็ดตรา แพ้ค เราเริ่มทำโครงการในเรื่องของการคัดแยก จัดเก็บ และรีไซเคิลมามากกว่า 20 ปีในเมืองไทย ตอนที่ริเริ่มโครงการกล่องยูเอชทีรีไซเคิลได้ เพราะว่าเราอยากให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงศูนย์รีไซเคิลสินค้า ความร่วมมือตรงนี้เราอยากให้เน้นในการให้ความรู้ในการบริหารจัดการกล่องยูเอชทีหลังจากการใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนจากขยะที่ไม่มีการจัดการ ให้เป็นขยะที่รีไซเคิลเพื่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด

โดยบริษัทเต็ดตรา แพ้ค ร่วมมือกับบริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่มเช่นกัน และศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มบริษัท ไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด และหน่วยงานราชการกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงท้องถิ่น โดยดำเนินการกับองค์กรกลุ่มกิจกรรมกล่องวิเศษที่เป็นผู้ให้ความรู้และประสานงานโครงการ เรามีความมุ่งมุ่นในการจัดการและคัดแยกขยะให้เยอะที่สุด ซึ่งเริ่มโครงการนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

เส้นทางการทำงานของโครงการที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

โครงการในเฟสแรกมีระยะเวลาแค่ 6 เดือน แต่เราสามารถเก็บกล่องยูเอชทีมาได้ 80 ตัน ซึ่งทำให้เรามีความมั่นใจและทำให้เริ่มทำในเฟส 2-4 มาโดยตลอด โดยใช้ระยะเวลาเฟสละ 1 ปี ก็มีการจัดเก็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี จนมาถึงในเฟสที่ 5 ในปีนี้ เราจะยังคงมุ่งสร้างความตระหนักรู้ และจะขยายเครือข่ายและพื้นที่ออกไปในจังหวัดเดิมให้เข้มแข็งขึ้น ในช่วงระยะเวลา 4 เฟสที่ผ่านมาเราจัดเก็บกล่องโดยรวมได้ 2,300 ตัน จาก 13 จังหวัด แต่ในเฟสที่ 5 เราจะจัดเก็บให้ได้ 1,100 ตัน ในระยะเวลาเพียง 1 ปี จะเห็นได้ถึงความมุ่งมั่นที่เพิ่มมากขึ้นของเรา

เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการนี้คืออะไร

หนึ่งคือเรื่องของการที่เรามีภาคีและมีการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ในการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ใช้กล่องยูเอชทีและจัดเก็บอย่างถูกวิธี อันที่สองคือเรื่องของกิจกรรมด้านสังคม ที่มีส่วนร่วมในการผลักดัน ที่ใช้ชื่อว่า “พี่มีกล่อง น้องขอนะ” ที่เอาผลิตภัณฑ์หลังจากที่รีไซเคิลแล้วไปบริจาคให้เกิดประโยชน์กับสังคม โครงการนี้สร้างความรับรู้ให้กับผู้บริโภค และกระตุ้นผู้ที่มีหน้าที่จัดเก็บกล่องทั้งหลายให้มีความสนใจที่จะบริจาคกล่องมากขึ้น ซึ่งในปี 2562 เราได้ตัวกระดาษจากการรีไซเคิล และนำไปทำกระดาษอักษรเบรลล์แจกให้กับ 13 โรงเรียนคนตาบอด มากกว่า 1 ล้านแผ่น ผมว่าเมื่อผลลัพธ์ของการทำเป็นการช่วยเหลือสังคมด้วย ก็เป็นการกระตุ้นให้โครงการประสบความสำเร็จมากขึ้น

ที่ผ่านมาการจัดเก็บกล่องยูเอชทีไม่ถูกวิธีสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่เครื่องดื่มตกค้างในกล่อง ทำให้มีกลิ่น หรือถ้าหากเราคัดแยกหรือล้างไม่ดีก็จะมีปัญหาภาระเรื่องค่าขนส่ง เพราะถ้าไม่จัดการพับให้ถูกวิธี เมื่อบีบอัดเป็นก้อนรถบรรทุกคันหนึ่งจะขนได้ไม่เท่าไหร่ และปัญหาเรื่องสุดท้ายคือเมื่อนำไปรีไซเคิล ถ้ากล่องเลอะเทอะหรือกระดาษยุ่ย อายุของเส้นใยกระดาษที่ได้จากการรีไซเคิลก็จะสั้นและนำไปทำประโยชน์ได้น้อยกว่า

สิ่งที่เรียกว่าขยะ ถ้าเรามองให้ดีคิดว่าคุณค่าอยู่ที่ตรงไหน

ถ้าเราบริหารจัดการถูกต้อง เราจะรู้ว่าทุกอย่างเมื่อแยกอย่างถูกวิธี จะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้หมด หมายความว่าสิ่งที่สามารถเน่าเสีย เราก็รวมกลุ่มเอาสิ่งที่เน่าเสียไว้ด้วยกัน แล้วก็ไปบริหารจัดการให้ถูกต้อง ขยะทุกอย่างมีวิธีจัดการของตัวเอง และสุดท้ายจะเกิดประโยชน์ได้ ส่วนสิ่งที่สามารถนำกลับมารียูสก็นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อย่างเช่น ขวดแก้ว ส่วนบรรจุภัณฑ์อย่างกล่องนมยูเอชทีก็ควรแยก ทำความสะอาดและเอาไปทำประโยชน์เพิ่มเติมได้ ถ้าจัดการให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้หมด ทุกอย่างไม่ใช่ขยะ แต่ทุกสิ่งที่เราแยกออกมาคือวัตถุดิบในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

วางเป้าหมายในก้าวต่อไปอย่างไร

ต้องการเดินหน้าและกำลังมองหาพันธมิตรในการทำงานร่วมกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราเห็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย ทุกคนต่างมีความมุ่งมั่นที่ดี แต่ว่าเราต่างคนต่างทำ บริษัทเต็ดตรา แพ้ค จึงมองบทบาทของตัวเองในการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น โครงการในเฟสที่ 5 เราต้องการเติมนอกจากสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว เราต้องการสร้างความตระหนักรู้ การสร้างเครือข่ายและขยายออกไป อย่าง BECARE เป้าหมายการจัดเก็บยังคงเหมือนเดิมและเราเพิ่มความเข้มข้นขึ้นด้วยคือ 1,100 ตัน

ในเฟสที่ 5 สิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนคือทำงานร่วมกับพันธมิตรให้มากขึ้น แต่ก่อนเราก็ทำอยู่แล้ว เราก็จะมีกลุ่มผลิตเครื่องดื่มเข้ามามีส่วนร่วมอยู่แล้ว แต่ปีนี้เป็นไปได้ผมอยากจะชวนเครือข่ายอื่นๆ ที่มีการจัดการขยะอยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ก็ได้ ให้เข้ามามีส่วนร่วมและให้คำแนะนำกับเรา เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างความตระหนักรู้ให้เยอะขึ้น