จากการเสวนา “การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุด” รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่จากกลุ่มตัวอย่าง 1,204 คน ที่พักในอาคารชุดพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วง ก.ย.-ต.ค.2563 พบร้อยละ 15 เป็นผู้สูบ ขณะที่ร้อยละ 85 ไม่สูบ ผู้สูบร้อยละ 48 สูบนอกห้องตรงระเบียง ร้อยละ 89 เห็นด้วยให้ที่พักในอาคารชุดปลอดบุหรี่ เพราะร้อยละ 77 รู้สึกไม่สบายจากการหายใจที่มีผู้สูบบุหรี่ในอาคารชุด สะท้อนถึงพฤติกรรมการสูบของคนส่วนน้อยกระทบวงกว้างต่อผู้ไม่สูบ จึงควรรณรงค์ให้ทุกคนคำนึงถึงสิทธิด้านสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในอาคารชุด

ด้าน รศ.ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ควันจากบุหรี่ที่หายไม่ได้บ่งชี้ว่าหมดไป แต่ตกอยู่ตามพื้น พรม ม่าน เสื้อผ้า จึงเป็นอันตราย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เกาะ คลานสิ่งต่างๆและนำเข้าปาก เป็นสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งในควันบุหรี่มีสารพิษถึง 7,000 ชนิด 70 ชนิดก่อมะเร็ง ยิ่งในทารกหากรับสารพิษเข้าไปมากอาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ รวมถึงในวัยผู้สูงอายุ ดังนั้นอาคารชุดจึงควรปลอดบุหรี่ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพผู้พักและประหยัดเงินได้มากด้วย ซึ่งในสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า การห้ามสูบบุหรี่ในอาคารชุดช่วยประหยัดเงินถึงปีละ 153 ล้านดอลลาร์หรือเกือบ 5,000 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายจากการทำความสะอาดและลดความเสียหายจากไฟไหม้จากการทิ้งก้นบุหรี่.