พืชหลังนาแทนปลูกยาสูบ ยังไม่ได้ข้อสรุป แล้วอะไรล่ะ จะเหมาะ...คำตอบ “กัญชง” เพราะทางพฤกษศาสตร์ถือเป็นพืชที่มีความใกล้เคียงกับยาสูบ วิธีการปลูกโดยรวม สภาพดินฟ้าอากาศที่ชอบแทบจะไม่ต่างกัน

ในสหรัฐอเมริกามีนโยบายให้กัญชงเป็นพืชทดแทนยาสูบเมื่อปี 2559

ส่วนไทย การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เคยทดลองปลูกกัญชงแล้วกว่า 1,000 ไร่ ใน จ.เชียงราย...แต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะดันไม่ดูตาม้าตาเรือ ปลูกในฤดูกาลที่ไม่เหมาะสม แถมไม่นำองค์ความรู้ในการปลูกมาใช้อย่างเพียงพอ สุดท้ายเลยเสียหายแทบทั้งหมด จนต้องจ่ายเงินชดเชยชาวไร่ไปจำนวนมาก

ดูเหมือน ยสท. ไม่เข้าใจธรรมชาติของเกษตรกรเลย...การทำการเกษตร จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความชำนาญที่สืบทอดต่อกันมา การจะให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดใหม่ในทันทีคงไม่ง่ายนัก

ไม่เข้าใจแม้กระทั่งเรื่อง..ต้องปลูกในพื้นที่และฤดูกาลที่เพาะปลูกยาสูบอยู่แล้ว คือหลังทำนา น้ำน้อย อากาศค่อนข้างเย็น

ใช้ปัจจัยการผลิตที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ชาวไร่มีอยู่แล้ว เช่น โรงเรือนตากใบยา รวมทั้งมีระบบการรับซื้อที่แน่นอน ราคาไม่ผันแปรตามตลาด เพื่อการันตีรายได้ให้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับการทำยาสูบ

บทสรุปกัญชงน่าจะเป็นพืชที่มีศักยภาพในอนาคตสำหรับชาวไร่ยาสูบ ยสท. จึงได้ลงนามข้อตกลงกับ 2 มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาความรู้

ในการต่อยอดนำกัญชงไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ความชัดเจนในเรื่องนี้ คงต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร กว่าจะผ่อนคลายกฎหมาย สร้างระเบียบวิธีการเพาะปลูก ซื้อขายที่เหมาะสม

ว่ากันตามตรง จุดอ่อนใหญ่อีกข้อของ ยสท. แม้จะเป็นหน่วยงานรัฐ แต่ก็มีข้อจำกัดในการขออนุญาตปลูก เพราะไม่ได้มีหน้าที่หรือภารกิจ

ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ที่สำคัญจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถในการเพาะปลูก รวมทั้งพัฒนาสินค้าที่มาจากกัญชง พูดง่ายๆคิดก่อนปลูกแล้วเอาไปทำอะไรกันแน่

...

ไม่ใช่ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก แล้วค่อยมาคิดทีหลัง สำคัญที่สุด ต้องหาตลาดให้ได้ปริมาณ และรายได้ให้สมน้ำสมเนื้อกับที่เคยได้

จากยาสูบ ไม่ใช่แค่สักแต่ปลูก แต่ไม่รู้จะเอาไปขายใคร สุดท้ายล้นตลาด.


สะ-เล-เต