“การพัฒนาอย่างยั่งยืน” คือ การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยดูแล “ชุมชน” “สังคม” และ “สิ่งแวดล้อม” ไปพร้อมกัน...ไม่ใช่แค่จ่ายค่าเวนคืนแล้วจบกัน เหลียวมองโครงการ “โรงไฟฟ้าชุมชน”...นโยบายที่จะเกิดประโยชน์กับ “ชุมชน” และ “ท้องถิ่น” คือ สร้างเศรษฐกิจชุมชนรายรอบและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยล่าสุดแนวคิดเริ่มมีความชัดเจนคือเริ่มที่โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ และจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในต้นปี 2564

เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 36 เดือน ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติ (16 พ.ย.63) ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นำเสนอ

แบ่งเป็น...ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ กับ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนดูที่มาจุดเริ่มต้นโรงไฟฟ้าชุมชน ตามกรอบสำคัญ 6 ข้อ ที่ กพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานได้วางไว้แต่ต้นนั้น การจะสร้างแต่ละแห่งได้ต้องตอบโจทย์ครบถ้วนแต่ละด้าน ดังนี้

...

หนึ่ง...ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้า อย่างยั่งยืน สอง...ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า สาม...ส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ตามศักยภาพเชื้อเพลิง และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่

สี่...สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการสร้างระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้า ห้า...ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้ โดยชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุทางการเกษตรและการจำหน่ายไฟฟ้า

หก...สร้างการยอมรับของชุมชนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของประเทศ และ..เมื่อจัดตั้ง “โรงไฟฟ้าชุมชน” เกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว ต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาได้จริง ได้แก่ ชุมชนต้องมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชน และต้องมีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง

ถัดมา..ต้องเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน..ต้องเกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน

“ชุมชน” สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ สร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน เช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร ทั้งนี้ หากพิจารณาจากจุดเริ่มต้นถึงล่าสุด...รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะมองว่าโรงไฟฟ้าชุมชนจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกร สร้างงาน สร้างรายได้จริง จึงเห็นชอบที่จะให้เดินหน้าต่อไปแน่นอน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปเป็นรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับปริมาณรับซื้อ สัดส่วนการถือหุ้นเสียมากกว่า

โดยยังคงย้ำว่า...ต้องการให้เกิดประโยชน์ที่เข้าถึงชุมชนได้จริงตามเจตนารมณ์เดิม

ธีรวุฒิ ทรงเมตตา กรรมการ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือเอซีอี ผู้ที่ดำเนินงานด้านโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดมีประสบการณ์มากว่า 40 ปี มองว่า การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีความสำเร็จและวัดผลตามวัตถุประสงค์ข้างต้นได้นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความร่วมมือระหว่าง...ผู้เข้าร่วมประมูลที่จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

ความสำเร็จขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญที่จะต้องมีทั้งวัตถุดิบและความสามารถของโรงไฟฟ้า นั่นก็คือ...ความพร้อมและศักยภาพในการส่งเสริม และจัดหาต้นกล้าพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ควรมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมประมูลตามความพร้อม และศักยภาพการส่งเสริม...จัดหาต้นกล้าพันธุ์ให้แก่เกษตรกร

“ผู้เข้าร่วมประมูลต้องแสดงประสบการณ์ ความพร้อมและแผนในการส่งเสริม...สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชพลังงานที่ครบวงจร ตั้งแต่การจัดหากล้าพันธุ์ การให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูก ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้กับเกษตรกร”

...

ปัจจัยที่สอง...ความพร้อมและความประสงค์ของเกษตรกรในชุมชนที่จะปลูกพืชพลังงานและขายเป็นวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าตลอดอายุสัญญาขายไฟ ในกรณีนี้มองว่าควรมีการจัดทำสัญญากับเกษตรกรรายบุคคลในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้ผลประโยชน์เกิดแก่เกษตรกรโดยตรง โดยมีการประกันราคารับซื้อขั้นต่ำและเงื่อนไขแบ่งปันผลกำไรอย่างชัดเจน เป็นหนึ่งในข้อกำหนดของการมีสิทธิ์เข้ายื่นประมูล

โดยใช้เอกสารสิทธิที่ดินเป็นส่วนประกอบของเกษตรพันธสัญญา เพื่อยืนยันเจตจำนงของเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ และเห็นด้วยที่มีเกณฑ์ในการรับซื้อวัตถุดิบด้วยการทำเกษตรพันธสัญญาไม่ต่ำกว่า 80% ของจำนวนวัตถุดิบที่ต้องใช้ทั้งหมด ซึ่งจะก่อให้เกิดผลประโยชน์และความมั่นคงด้านรายอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้คะแนนโครงการที่ทำเกษตรพันธสัญญา ทั้งหมด 100% ของจำนวนวัตถุดิบที่ต้องใช้ทั้งหมดเพิ่ม เพราะเป็นการกระจายผลประโยชน์สู่เกษตรกรมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยสุดท้าย...ศักยภาพและความสามารถของผู้เข้าร่วมประมูลที่จะรับซื้อวัตถุดิบตลอดทั้งปี แต่การที่จะรับซื้อวัตถุดิบได้ตลอดทั้งปี ผู้เข้าร่วมประมูลจำเป็นต้องมีความสามารถในการดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ตลอดทั้งปีอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นจึงอยากเสนอให้พิจารณา Track record และประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมประมูล รวมถึงเทคโนโลยีที่ผู้เข้าร่วมประมูลเลือกใช้ว่ามีความน่าเชื่อถือและเหมาะสมหรือไม่

...

เพราะ..ถ้าผู้เข้าร่วมประมูลไม่สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ก็จะไม่มีผู้รับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรตามที่ได้สัญญาไว้ ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรและกลายเป็นภาระให้แก่รัฐบาลที่จะต้องเข้ามาช่วยเยียวยาในภายหลัง ทั้งหมดเหล่านี้ก็เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริง

ธีรวุฒิ บอกว่า ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาเป็นโมเดลเพิ่มรายได้เสริมให้เกษตรกร พร้อมลดการเผาวัสดุเหลือใช้ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ด้วยการเปิดรับซื้อพืชพลังงาน...วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด เหง้ามัน ใบอ้อยในทุกพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าเอซีอีตั้งอยู่

แต่ละปีมีปริมาณรับซื้อรวมจากชุมชนกว่า 1.7 ล้านตันต่อปี ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ชุมชนมากกว่า 5,000 ล้านบาท

“เราดำเนินงานบนหลักการสำคัญที่ว่า ต้องเข้าไปสร้างกระบวน การในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่นั้นๆ โดยร่วมมือกับเกษตรกร ชุมชนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของกระบวนการที่ตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างรายได้แก่ชุมชน”

...

กระบวนการต้นทาง ก็คือการเข้าไปให้องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีปลูกพืชพลังงานที่มีประสิทธิภาพแก่เกษตรกรที่สนใจ สนับสนุนต้นกล้าทั้งในแบบให้ฟรีและจำหน่าย อาทิ ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์ พืชไร่พลังงาน

ชาวบ้านจะนำพืชพลังงานที่ปลูกมาขายให้โรงไฟฟ้าเอซีอีที่เปิดให้ชาวบ้านสามารถนำเข้ามาขายได้ทุกวันไม่จำกัดจำนวน นั่นทำให้รายได้ส่วนแรกที่เกิดจากการขายจะวิ่งตรงไปหาเกษตรกรทันที...จากนั้นปลายทางกระบวนการเมื่อขายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟภ. แล้ว รายได้ส่วนหนึ่งก็จะถูกจ่ายไปที่ชุมชนตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งโมเดลนี้ ...น่าจะตอบโจทย์พร้อมรับตามเกณฑ์รัฐที่มุ่งสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นแกนหลัก

ท้ายที่สุดแล้ว...ถ้าเกณฑ์ของรัฐออกมาชัดเจนก็พร้อมที่จะดำเนินการได้ในทันที แต่คงต้องลุ้นกันว่าสุดท้ายแล้วหน้าตา “โรงไฟฟ้าชุมชน” ที่จะคลอดออกมานั้นจะเป็นอย่างไร สำเร็จและส่งประโยชน์เข้าถึงชุมชนได้จริงอย่างที่คาดหวังกันหรือไม่.