เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.51 น. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ประจำปีการศึกษา 2562 (พ.ศ. 2563) โดยในปีนี้มีดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิต เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรช่วงเช้าและช่วงบ่ายจำนวน 5,355 คน
ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี คณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เฝ้าฯ รับเสด็จ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ก่อตั้งด้วยความร่วมมือทางด้านวิชาการและเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมัน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ในนามโรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ จัดการศึกษาเน้นการเรียนรู้ควบคู่ปฏิบัติได้จริงอย่างเข้มข้นแบบเยอรมัน จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ยอมรับ และเรียกขานว่า “เทคนิคไทย-เยอรมัน” และได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปรมาภิไธยและพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นชื่อและตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมสู่นวัตกรรม” เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ เปิดสอนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จนถึงระดับปริญญาเอก มุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิชาการชั้นสูงที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อเป็นผู้พัฒนาและสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสม อันก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ตามอัตลักษณ์ของ มจพ. “บัณฑิตที่คิดเป็น ทำเป็น” เน้นการเรียนรู้ควบคู่การปฏิบัติงานได้จริงตามแบบเยอรมันในทุกหลักสูตรของ มจพ.
ปัจจุบัน มจพ. มีหลักสูตรที่เปิดสอนจำนวน 192 หลักสูตร และได้ขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาค จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาเขตปราจีนบุรี และวิทยาเขตระยอง เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” มีนักศึกษาทั้งสิ้น 28,685 คน คณะที่เปิดสอน 14 คณะ และ 2 วิทยาลัย ดังนี้
คณะ
1. คณะวิศวกรรมศาสตร์
2. คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์
3. คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
4. คณะอุตสาหกรรมเกษตร
5. คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม
6. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล
7. คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์
8. คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
9. คณะบริหารธุรกิจ
10. คณะวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม
11. คณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม
12. คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ
13. คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ
14. บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน.
วิทยาลัย
1. วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
2. วิทยาลัยนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัย งานบริการวิชาการ และการเรียนการสอน รวม 9 หน่วยงาน ซึ่งมีความพร้อมทางด้านครุภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากร ในการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง สร้างสรรค์นวัตกรรม และองค์ความรู้ใหม่ ให้สามารถนำไปแก้ปัญหาและตอบโจทย์ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 0-2555-2000 ต่อ 1121, 1166, 2091 เว็บไซต์ https://www.kmutnb.ac.th