“RSV (Respiratory Syncytial Virus)”...โรคร้ายที่กำลังแพร่ระบาดในเด็กอย่างมากในช่วงเวลานี้ หลายคนบอกว่านี่ก็เหมือนไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาเป็นการเฉพาะ หากต่างกันเพียงโควิด-19 มีผลกระทบรุนแรงมากกับ...“ผู้สูงอายุ” แต่กับ RSV นั้นมุ่งสร้างผลร้ายกับ...“เด็กเล็ก”

นพ.ยง ภู่วรวรรณ” โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า RSV ยังพบมีการระบาดอย่างมากในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี สายพันธุ์ที่พบในปีนี้เป็น RSV-A ทั้งหมด ซึ่งต่างกับปีที่แล้วพบทั้ง 2 สายพันธุ์คือ

A และ B สายพันธุ์ย่อยของ A ที่พบจะเป็น ON1

น่าสนใจด้วยว่า...ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้แล้วเป็นอีกได้ จึงไม่แปลกที่เมื่อปีที่แล้วเป็นปีนี้ก็มีโอกาสเป็นได้อีก การระบาดเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดเรียนเต็มรูปแบบ โดยพบมากในเด็กอนุบาล ตั้งแต่เดือนกันยายนมาจนถึงปัจจุบันแนวโน้มของโรคยังไม่ลดลง...เมื่อเปรียบเทียบกับทุกปี ปีนี้จะมีการระบาดช้ากว่า

...

อาการสำคัญคือมีไข้และอาการของระบบทางเดินหายใจ ในเด็กที่มีอาการมากจะมีการอักเสบของหลอดลมทำให้หายใจเร็วหรือหอบในเด็กเล็กที่น้อยกว่า 1 ปี อาจมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วยได้

“โรคนี้ไม่มียารักษา จะรักษาตามอาการ หายได้เอง ปัจจุบันไม่มีวัคซีนในการป้องกัน การป้องกันดีที่สุดคือดูแลเรื่องสุขอนามัยในเด็กเล็ก การล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่มีความจำเป็นเพราะเกิดได้กับทุกวัย แต่ในเด็กเล็กจะมีอาการมาก ทุกคนดูแลตัวเองจะป้องกันไม่ให้นำเอาเชื้อโรคไปสู่เด็กเล็ก”

การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาล เด็กที่ป่วยหรือไม่สบายเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจไม่ควรไปโรงเรียน เด็กอนุบาล ที่อยู่รวมกันดูแลสุขอนามัย สถานที่ให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี ทำความสะอาดเครื่องใช้ ของเล่นอยู่เป็นนิจ ถ้ามีการระบาดหรือมีผู้ป่วยหลายรายควรปิดชั้นเรียน

พลิกแฟ้มเตือนให้เฝ้าระวัง “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV)” กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะ “เด็ก” อายุต่ำกว่า 5 ปี

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส “อาร์เอสวี” เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจมีอาการรุนแรงได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

ข้อมูลจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า อุบัติการณ์ของโรค RSV ในเด็กของปี 2563 มีอัตราป่วยเท่ากับปี 2562 ในเดือนเดียวกัน และโรคทางเดินหายใจที่ตรวจหาเชื้อจะพบเป็น RSV มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วย

โดยเฉพาะในเด็กเล็กแรกเกิดถึง 5 ปี แสดงถึงมาตรการการป้องกันโรคทางเดินหายใจในเด็กขณะนี้ไม่ได้แตกต่างกับปีที่แล้วมากนัก การดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวียังมีความสำคัญมาก

เชื้อไวรัสอาร์เอสวี...ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย

“ผู้ป่วย” ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน อาการโดยทั่วไปอาจจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่อาการจำเพาะของเชื้อนี้ มักพบในเด็กเล็ก คือ หลอดลมฝอยอักเสบ โดยเริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ

...จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจมีเสียงหวีด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง

...

การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น

ตอกย้ำในเรื่องการป้องกัน ต้องเข้าใจกันก่อนว่า...ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่สามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ดังนี้...

ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ ควรสอนให้เด็กๆล้างมืออย่างถูกต้อง ไม่ใช้แก้วน้ำหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รักษาสุขอนามัยส่วนตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อและการไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก

ส่วนผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น และควรปิดปากปิดจมูกเวลาไอ จามด้วยหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย

ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมากๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ...พ่อแม่ผู้ปกครองขอให้สังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

...

เมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อและพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังได้รับการรักษา 1-2 สัปดาห์

มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “สายด่วนกรมควบคุมโรค” โทร. 1422

ข้อมูลเสริมเพิ่มเติมจาก ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล https://www.rama.mahidol.ac.th/ ระบุว่า ไวรัส RSV ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1955 (พ.ศ.2498) โดยตรวจพบไวรัสชนิดนี้จากลิงชิมแปนซีที่ป่วยจากหวัด

ก่อนจะพบว่าสามารถติดต่อมายังคนได้ และเป็นสาเหตุของอาการหรือโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก

“ไวรัส RSV” มีอาการที่รุนแรงโดยเฉพาะในเด็กอายุน้อย ซึ่งผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นได้เช่นกันแต่อาจจะรู้สึกเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดาคือ ไอ มีน้ำมูกเล็กน้อย ไม่มีไข้ โดยส่วนใหญ่ เชื้อ RSV จะระบาดในช่วงฤดูฝน ตามความเข้าใจส่วนมากที่เชื่อว่าการระบาดจะเกิดขึ้นในช่วงฝนตกเยอะ มีความชื้น

...

ซึ่ง...บางครั้งการเป็น “ไข้หวัด” ของเราก็เริ่มมาจาก “เชื้อ RSV” นี้ หรืออาจจะเป็น “หวัดธรรมดา” ก่อนจะพัฒนาไปเป็นเชื้อไวรัส RSV

อาจกล่าวได้ว่า... “ไวรัส RSV” เป็นเชื้ออันตรายที่คล้ายไข้หวัด

วารสารพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ฉ.30 ย้ำว่า การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ในเด็กช่วงอายุดังกล่าวทั่วโลก การเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและสุขภาพโดยรวมของเด็ก

อีกทั้งอาจทำให้เกิด “โรคเรื้อรัง” และภาวะ “แทรกซ้อนรุนแรง” เช่น ภาวะหายใจล้มเหลว ภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสติปัญญา

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อ “ครอบครัว”...ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวล เกี่ยวกับอาการป่วยของเด็ก รวมไปถึงการหยุดงาน เพื่อดูแลเด็กส่งผลให้ขาดรายได้ประกอบและภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กป่วย

นี่คือ...ไวรัส “อาร์เอสวี (RSV)” อีกโรคร้ายในเด็กเล็กที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ.