เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตนได้หารือถึงแผนการดำเนินงานการยกระดับรายได้จังหวัดด้วยการศึกษา ซึ่งหลังจากที่มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในหลายจังหวัดพบมีหลายเหตุผลว่าเพราะอะไรตนถึงต้องเดินหน้านโยบายการควบรวมโรงเรียนให้เกิดขึ้น เช่น โรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ด้วยตนเอง (Stand Alone) คืออะไรและสาเหตุใดถึงต้องมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก 1 ต่อ 5 โรงเรียน หรือว่าทำไมเราต้องมีโรงเรียนมัธยมศึกษาดีสี่มุมเมืองเกิดขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ จะใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นโมเดลขับเคลื่อนนำร่องในเรื่องนี้ โดยทุกคนจะเห็นภาพวิธีการดำเนินการดังกล่าวว่ามีวิธีคิดอย่างไรในการทำเรื่องนี้ และทำไมถึงต้องยอมเสียบางพื้นที่ในการบริหารจัดการควบรวมโรงเรียนเกิดขึ้น แม้ว่าโรงเรียนเหล่านั้น อาจมีสภาพอาคารเรียนที่เหมาะสม โดยเร็วๆนี้ตนและผู้บริหาร ศธ.ทุกคนจะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อวางแผนสร้างโมเดลการควบรวมโรงเรียนทันที

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า รมว.ศธ.ต้องการสร้างโรงเรียนดีที่มีคุณภาพให้แก่ชุมชน ผ่านกระบวนการบริหารจัดการระดับจังหวัดใน 3 มิติ คือ 1.จังหวัดนั้นๆต้องมีโรงเรียนคุณภาพของชุมชนอย่างแท้จริงจากการสร้างให้เกิดขึ้น หรือการรีโนเวทโรงเรียนที่มีอยู่เดิมด้วยการเติมงบประมาณ อาคาร บุคลากรให้เป็นโรงเรียนที่มีปัจจัยพร้อมด้านศักยภาพตามบริบทของชุมชน 2.การสร้างโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง มุ่งกระจายคุณภาพในกลุ่มโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง 3.โรงเรียนที่ไม่สามารถควบรวมได้ แต่เราจะทำให้โรงเรียนเหล่านี้คงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ

“การนำร่องการควบรวมโรงเรียนที่ จ.ภูเก็ตนั้น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความเป็นนานาชาติ แต่มีครอบครัวที่มีรายได้น้อยอยู่จำนวนมาก ซึ่งผู้ปกครองก็ไม่มีกำลังเงินมากพอที่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนดีๆ หรือโรงเรียนนานาชาติ ดังนั้นการที่เราสร้างโรงเรียนดีในชุมชนที่ จ.ภูเก็ต ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงโรงเรียนดีๆ จะได้เรียนหลักสูตรเหมือนกับโรงเรียนนานาติ ดังนั้นหากรูปแบบที่ จ.ภูเก็ต สำเร็จจะขยายผลไปจังหวัดอื่นๆ เพราะ รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ผู้บริหารรับผิดชอบการควบรวมโรงเรียนเป็นรายจังหวัดแล้ว” นายอัมพรกล่าว.

...