ภาพรถโดยสารประจำทางหรือ...“รถเมล์” ที่พึ่งสำหรับสัญจรไปมาของผู้มีรายได้น้อย ที่เห็นอยู่บนท้องถนนในทุกวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่มีสภาพเก่า ทรุดโทรม บ่อยครั้งก็จอดเสียอยู่ข้างทาง เนื่องมาจากสภาพการใช้งานเกือบ 30 ปี แถมยังมีรถร้อน รถแอร์แบ่งแยกฐานะทางสังคมของคนรายได้น้อย จึงเป็นประเด็นให้คนในสังคมหยิบยกมาพูดถึงอย่างต่อเนื่อง พร้อมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทุกชุด
ล่าสุด ในโลกโซเชียลถึงกับนำมาเป็นประเด็นเปรียบเทียบให้รัฐบาลนำเงินไปซื้อรถเมล์ดีกว่าซื้อเรือดำน้ำ โดยโพสต์ภาพรถเมล์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ เห็นได้ชัดว่า...สภาพรถค่อนข้างเก่า บนหลังคารถมีสนิมขึ้นเกรอะไปหมด ซึ่งโพสต์นี้มีประชาชนเข้ามากดไลค์และแชร์ต่อจำนวนมาก
และในการประท้วงหลายครั้งของ “คณะเยาวชนปลดแอก” และกลุ่มนักศึกษา ยังนำเรื่องสภาพรถเมล์ซึ่งทรุดโทรมในปัจจุบันมาเป็นหัวข้อในการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งคนรุ่นใหม่ชูเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะนักเรียน นักศึกษาที่เป็นเยาวชนส่วนใหญ่ใช้บริการรถสาธารณะเป็นหลัก ทุกวันนี้ยังมีคำถามว่า...กรุงเทพฯเป็นเมืองที่การคมนาคมเจริญที่สุดเมืองหนึ่งในประเทศ แต่ทำไมถึงเป็นเมืองที่สภาพรถเมล์เก่าที่สุดและไม่มีความปลอดภัย
...
รถเมล์รอนานที่สุด โดยการที่รอรถเมล์เป็นชั่วโมงๆ เป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่า คุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลพยายามรณรงค์ให้ทุกคนใช้รถสาธารณะ แต่กลับไม่พยายามทำให้การโดยสารรถสาธารณะดีขึ้นเลย
ปัญหาเรื่อง “รถเมล์” ผ่านมาหลาย 10 ปี หลายรัฐบาลไม่เคยตอบสนองใดๆ
เสียงสะท้อนเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงการจัดทำ แผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการรถโดยสารประจำทางให้ดีขึ้น แต่สุดท้าย...ยังคงเป็นแค่การพูดถึง
ยัง...ไม่มีการนำมาสู่การปฏิบัติจริงแต่อย่างใด
ล่าสุด...“รัฐบาล” ของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ตั้งเป้าผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอ แผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนตุลาคม
ประเด็นสำคัญน่าสนใจมีว่า...ตามแผนนี้จะใช้ “รถเมล์ไฟฟ้า” และหรือ “NGV” ที่ต้องมีชิ้นส่วนประกอบในประเทศอย่างน้อย 50% เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อให้ภาครัฐสนับสนุน “ผู้ประกอบการไทย” ให้เพิ่มขีดความสามารถของ “อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย”
ก่อนที่แผนฟื้นฟูจะคลอดออกมา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนและอดีตผู้ที่เกี่ยวข้องกับ ขสมก. เกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะของไทย รวมถึงแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. กันก่อนว่า จะมีความคิดเห็นและมีข้อเสนอแนะ เรื่องการให้บริการของ “รถเมล์ไทย” อย่างไร?
เริ่มกันที่ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ หรือที่รู้จักกันในนาม “ครูประทีป” เลขาธิการและกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ผู้ที่ทำงานภาคประชาชนอย่างยาวนาน กล่าวว่า
“ส่วนตัวคิดว่าระบบขนส่งมวลชนของไทย ยังต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วอีกมากและยังไม่สะท้อนต้นทุนชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง” เพราะ...คนส่วนใหญ่รายได้ต่อวันอยู่ที่ประมาณ 300-350 บาท แต่ต้องมาจ่ายค่าเดินทางถึงวันละเกือบ 100 บาท
นางประทีป บอกอีกว่า ต้องยอมรับว่าแม้ค่าเดินทางจะมีราคาแพง แต่รถเมล์ยังเป็นสิ่งที่หลายคน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยยังอยากให้มีบริการต่อไป เพราะรายได้ที่มีแทบไม่มีสิทธิขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือรถไฟฟ้าใต้ดินเลย เนื่องจาก “ค่าโดยสาร” ค่อนข้างแพง และ “รายได้” ของคนกลุ่มนี้แค่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อาทิ อาหาร และยารักษาโรคก็แทบจะไม่เพียงพอแล้ว
ดังนั้น “รัฐบาล” ต้องเร่งเข้ามาแก้ไขและปรับปรุงให้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะ “รถเมล์” ต้องมีคุณภาพที่ดี ปลอดภัย มีราคาไม่สูงจนเกินไป และ “ประชาชน” ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ต่อไป
...
“ส่วนตัวอยากให้มีรถเมล์และค่าโดยสารแบบหลายทางเลือก เห็นด้วยกับการทำตั๋วค่าโดยสาร 30 บาทตลอดวัน จะนั่งรถเมล์กี่สายก็ได้ เพราะทุกวันนี้มีประชาชนหลายคนต้องนั่งรถเมล์หลายต่อค่าโดยสารก็ยิ่งแพงขึ้น หากมีตั๋ว 30 บาท จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชน”
แต่...ทั้งนี้ก็ควรที่จะมี “ตั๋ว” แบบเก็บอัตราปกติ เพราะบางคนนั่งรถเมล์เพียงไม่กี่ป้าย ถ้ามีแค่เพียงตั๋ว 30 บาทตลอดวันจะไม่คุ้มค่า ควรจะให้มีตั๋วเที่ยวและตั๋วแบบสวัสดิการสำหรับคนรายได้น้อย
อย่างไรก็ตาม รู้สึกดีใจที่รัฐบาลลงมาดูแลเรื่องนี้จริงจัง หากทำได้ตามแผนฟื้นฟูที่ ขสมก.วางไว้มีรถเมล์ใหม่สภาพดีออกมาให้บริการ น่าจะทำให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งประชาชนก็รอมานานแล้ว เพราะปัจจุบันต้องทนนั่งรถสภาพเก่า ผุพัง
และ...ยังต้องเจอกับพฤติกรรมของ “พนักงานขับรถ” และ “พนักงานเก็บค่าโดยสาร” บางคน ที่ไม่มีจิตบริการ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ด้วย
...
ขณะที่ นายประยูร ช่วยแก้ว อดีตผู้บริหาร ขสมก. ออกมาระบุว่า แผนฟื้นฟู ขสมก.(ฉบับปรับปรุง) นี้ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนของเส้นทางการเดินรถ จำนวน 162 เส้นทาง ที่แบ่งเป็นของ ขสมก. 108 เส้นทาง และเอกชน 54 เส้นทาง ทำให้ระบบการเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ไม่วิ่งทับซ้อนกัน และครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนคือ ราคาค่าโดยสารเหมาจ่าย 30 บาทตลอดวัน ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บริการในหลายเส้นทางที่เฉลี่ยค่าโดยสารอยู่ที่วันละ 45-48 บาท ยิ่งกว่านั้น...ความสมบูรณ์ของแผนฟื้นฟู ขสมก.ฉบับปัจจุบันนี้ จะทำให้ประชาชนได้ใช้รถใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงไฟฟ้า (EV) แบบ 100% ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาด้านมลพิษ PM2.5 ที่ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเผชิญอยู่
ไม่เพียงเท่านั้น หาก ขสมก.ได้ดำเนินการครบตามแผนที่กำหนดโดยมีรถ EV จำนวน 2,511 คันมาวิ่งให้บริการ จะทำให้ไทยมีความก้าวหน้าด้านระบบโดยสารสาธารณะมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ทั้งยังถือเป็นประเทศแรกที่จะเป็น “ต้นแบบ” ที่นำ “รถเชื้อเพลิงไร้มลพิษแบบเบ็ดเสร็จ” มาให้บริการ
...
นับจากนี้ไปคงต้องจับตาดูว่า “แผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก.” จะผ่านฉลุยและได้เดินเครื่องพลิกโฉมยกระดับการให้บริการประชาชนหรือไม่ หรือว่าจะถูกดองเก็บไว้อีกนานแค่ไหน
หากทำได้จริง มี “รถเมล์ใหม่” ให้ประชาชนได้ใช้บริการ ในราคาค่าโดยสารที่ไม่แพงจนเกินไป และที่สำคัญทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จะกลายเป็น “ผลงานชิ้นโบแดง” ของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ประชาชนหลายล้านคนสามารถจับต้องได้และได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
การฟื้นฟู “รถเมล์ไทย” นับว่ามีความสำคัญกับชีวิตคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ “ผู้มีรายได้น้อย”.