ประเทศที่พัฒนา แล้วจะมีลักษณะคือ...“รัฐบาลมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง” บางประเทศในขณะนี้...ตรงกันข้าม...“รัฐบาลมั่นคง พ่อค้าบางคนมั่งคั่ง ประชาชนยั่งยืน แบบนั่งบ้าง...นอนบ้าง” พุ่งเป้าตอกย้ำประเด็น “ความจริงใจในการลดฝุ่น PM2.5 ของ รัฐบาล...”

หนึ่ง...คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 ได้เห็นชอบกับแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยกำหนดให้รถยนต์ที่ขายตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ต้องผ่านมาตรฐานเครื่องยนต์ระดับยูโร 5

และในปี 2565 ต้องผ่านมาตรฐานเครื่องยนต์ยูโร 6...กล่าวคือต้องใช้น้ำมันที่มีค่ากำมะถันไม่เกิน 10 ส่วนในล้านส่วนจะทำให้ค่าควันดำจากรถยนต์ดีเซลน้อยลงอย่างมาก

สอง...แต่เพียงไม่นานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกลับเปลี่ยนมติโดยมีมติใหม่เมื่อวันที่ 20 ก.ค.63 กำหนดให้รถยนต์ที่ขายต้องได้มาตรฐานเครื่องยนต์ยูโร 5 เลื่อนออกไปเป็นปี 2567 (เดิม พ.ศ.2564) และยูโร 6 เป็นปี 2568 (เดิม พ.ศ.2565) หรือขยับช้าออกไปอีก 3 ปี

...

ส่วนมาตรฐานของน้ำมันยูโร 5 ยังคงเดิมคือวันที่ 1 มกราคม 2567

สาม...ปัจจุบันประเทศไทยมีรถขนาดใหญ่ที่ทั้งหมดยังเป็นเครื่องยนต์ยูโร 3 รถยนต์เล็กเป็นยูโร 4 และใช้น้ำมันที่มีค่ากำมะถันในน้ำมันดีเซลที่มีค่ากำมะถัน 50 ส่วนในล้านส่วนหรือน้ำมันยูโร 4 ซึ่งจะปล่อยควันดำออกมามาก ยิ่งใช้กับเครื่องยนต์ยูโร 3 ด้วยแล้วยิ่งปล่อยควันดำมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น “ประเทศไทย” ก็ยังคงจมอยู่กับฝุ่น PM2.5 ต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยเฉพาะใน กทม. ที่มีรถเครื่องยนต์ดีเซลจดทะเบียนวิ่งอยู่ประมาณ 10.3 ล้านคัน

สี่...หากรถยนต์ใหม่เป็นเครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 หรือ 6 แล้วก็ต้องใช้น้ำมันที่เป็นมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6 ด้วยคือมีค่ากำมะถันในน้ำมันไม่เกิน 10 ส่วนในล้านส่วน จะปล่อยควันดำออกมาน้อยมาก...

ค่าฝุ่น PM 2.5 ก็จะน้อยลงมากด้วยเช่นกัน

ห้า...นี่คือความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนของภาครัฐแต่กลับเห็นใจค่ายรถยนต์มากกว่า เพราะฉะนั้นในช่วงฤดูหนาวไม่ต่ำกว่า 3 ปีคนที่อยู่ในเมือง

เช่น กรุงเทพฯก็ยังจะเจอภัยคุกคามจากฝุ่น PM2.5 ต่อไป...

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า ฝุ่น PM2.5 ปัญหาจริงๆก็คือเรามีแต่แผน แต่เวลาปฏิบัติจริงเราไม่ค่อยปฏิบัติเท่าที่ควร ย้ำชัดๆกันไปเลยว่า เรามีแต่หน่วยงานวางแผน ช่วงนี้ฝุ่นกำลังจะมาก็ต้องมีการเตรียมการแล้ว

เช่น ต้องไปตรวจรถควันดำ ตรวจสภาพรถเครื่องยนต์ดีเซลทั้งหมด ใครปล่อยควันดำ ต้องตั้งด่าน ดูแลอย่างดี

ถามว่า ในกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรต้องจับตาเป็นพิเศษโดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่หรือไม่?

“รถใหญ่ 18 ล้อ รถ 10 ล้อ...รถเครื่องยนต์ดีเซลทั้งหมดที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในกรุงเทพฯทั้งหมด ด้วยเพราะปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดจากรถดีเซล แต่เรายังไม่เห็นว่าใครทำอะไรบ้าง

นับรวมไปถึงรถเมล์ ขสมก. ต้องเปลี่ยนการจัดการให้หมด ต้องตรวจสภาพให้ดี และก็อย่าลืมครอบคลุมไปถึงรถหน่วยงานราชการก็ต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย”

ช่วงที่ฝุ่น PM2.5 ยังไม่มาเราต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า อีกประเด็นสำคัญก็ต้องควบคุมออกระเบียบเรื่องการเผา ในที่โล่ง ไม่ว่าพืช วัชพืช ต้องควบคุม เข้าใจว่าพอพายุหมด ราวๆปลายเดือนนี้ “ฝุ่น PM2.5” มาแน่

แล้วก็จะมาหนักด้วย เพราะปีนี้คาดการณ์กันว่าจะ...หนาวมาก

...

กระนั้นเราๆท่านๆก็ยังไม่เห็นความชัดเจนของหน่วยราชการในมาตรการแก้ปัญหาระดับปฏิบัติในปีนี้ เพียงเห็นแต่แผนเท่านั้น

“ขณะเดียวกันน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ก็เลื่อนไปถึงปี 2567 แทนที่จะเริ่มใช้ปี 2564 รัฐบาลก็ให้เลื่อนไปด้วยอ้างเหตุผลกระทบจากโควิด-19 ฉะนั้นก็ยังคงมีรถเก่าวิ่งอยู่ แล้วหนำซ้ำรถใหม่ที่ออกมาก็ยังเป็นมาตรฐานเครื่องยนต์ยูโร 4 เหมือนเดิม ก็คือมีกำมะถันอยู่ 50 พีพีเอ็มเหมือนเดิม”

ย้ำว่า...คำอ้างมาจากการรับฟังเสียง “ผู้ประกอบการ” ขอให้เลื่อน คือในปี 2564 ตามมิติเดิมจะใช้ยูโร 5 แล้วก็ต่างกันเยอะนะ รถใหญ่ๆใช้ยูโร 3 กันทั้งนั้น แต่ไปใช้น้ำมันยูโร 4 หมายถึงว่ามีกำมะถันอยู่ 50 พีพีเอ็มส่วนในล้านส่วนซึ่งเยอะอยู่แล้ว

แต่ถ้ามาตรฐานยูโร 5 จะมีแค่ 10 พีพีเอ็มส่วนในล้านส่วน หายไปเยอะ ก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้เยอะ

เลื่อนอย่างนี้ก็กระทบการแก้ปัญหาไปหมดเป็นทอดๆ ก็ยังใช้ยูโร 4 เหมือนเดิม ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ฉะนั้นในเมืองมลพิษจากฝุ่น PM2.5 ก็ยังคงเดินต่อไป นับวันรอกันอีก 3 ปีแน่นอนถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

อีก 3 ปีค่อยว่ากัน นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ “กรุงเทพฯ” ยังคงแก้อะไรไม่ได้ รับกรรม แบกปัญหากันไป

น่าสนใจด้วยว่า ณ วันนี้ หน่วยราชการต้องเตรียมการบริหารจัดการในเรื่องนี้แล้ว ที่มีแผนไว้จะต้องเตรียมเสียแต่เนิ่นๆไม่ใช่ว่ารอมีฝุ่นเกินค่าก่อนแล้วค่อยขยับ

วางแผนแล้วก็ต้องแอ็กชัน ถามอีกว่า “กรมควบคุมมลพิษ” ที่ออกแผนมาก็จะไปกำกับใคร? สั่งใคร?ได้บ้าง ถ้าขนส่งไม่ทำ ตำรวจไม่ทำแล้วใครจะทำ? บังคับใครไม่ได้

อาจารย์สนธิ บอกอีกว่า ก่อนฝุ่นจะมาต้องจัดการก่อน ต้องเตรียมการ คนกรุงก็ต้องอยู่กับฝุ่นกันต่อไปอย่างนี้ สถานการณ์วันนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ด้วยปัจจัยสำคัญกรุงเทพฯกำลังสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งเมือง ยิ่งทำให้รถติด ยิ่งติดมากๆก็ปล่อยควันมาก สะสมสร้างปัญหาฝุ่นมากขึ้นเป็นเท่าทวี

...

ถนนศรีนครินทร์ ถนนรามอินทรา ลาดพร้าว ถนนสุขาภิบาล 3 รามคำแหง แจ้งวัฒนะ เหล่านี้ติดหนักหมด น่ากังวลเหลือเกินว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ปีนี้จะหนักหนากว่าที่ผ่านๆมามากมายนัก

“รถติดมากขึ้น มาตรฐานน้ำมันก็ไม่เปลี่ยน ทั้งยังการเตรียมการรับมือก็ดูจะช้า เพราะติดโควิด-19 ไม่ได้เตรียมการกันสักเท่าไหร่... เอาเป็นว่า แต่ละคนก็เตรียมรับมือด้วยกำลังส่วนตัวที่มีกันต่อไป หาเครื่องป้องกัน หน้ากากกันทั้งฝุ่นทั้งไวรัสโควิด-19 ก็ต้องมาตรฐาน N95 เท่านั้น”

หน้ากากมาตรฐานกันฝุ่น PM2.5 อาจจะหายใจไม่สะดวกอยู่สักหน่อย อึดอัดนักใส่นาน 20 นาทีก็เปิดหน้ารับอากาศทีก็ว่ากันไปตามสถานการณ์ และโอกาสจะเอื้ออำนวย

ที่สำคัญ...หมั่นตรวจสอบเช็กค่าอากาศ ค่าฝุ่น จุดไหนมีฝุ่นเยอะเลี่ยงได้ก็เลี่ยงอย่าไป การทำนายผลถึงแม้ว่ายังบอกไม่ได้ด้วยข้อมูลย้อนหลังเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ครั้นพอจะใช้เครื่องวัดแบบเรียลไทม์กรมควบคุมมลพิษก็บอกว่าใช้ไม่ได้ยังไม่น่าเชื่อถือ ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้สรุปสั้นๆได้ว่า...ความก้าวหน้ายังน้อยหากเทียบกับปีที่แล้ว

...

ส่วนระบบการเผาภาคเหนืออาจจะดีขึ้นมีการชิงเผา วางแผน ในกทม.อาจจะยังน้อยอยู่

ชีวิตคนเมืองผูกติดกับดักฝุ่นจิ๋วพิษ “PM2.5” อันตรายสะสมถึงตายก็เป็นเช่นนี้ วิกฤติที่ต้องเผชิญไม่ใช่แค่ว่าตาดีได้ตาร้ายเสีย หากแต่หมายถึงฝุ่นที่สูดรับเข้าไปในตัวเป็นการตายผ่อนส่งเลยทีเดียว.