นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก ประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง แต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 15,200 ราย เป็นชาย 9,700 ราย และหญิง 5,500 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตประมาณ 13,700 ราย หรือคิดเป็น 38 รายต่อวัน ปัจจัยเสี่ยงของโรคคือ การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง และการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
ด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วย ที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการ แต่ก็มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้ามีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย โดยสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เป็นต้น.