• เต่ามะเฟือง สัตว์โลกล้านปี จำนวนประชากรทั่วโลกอยู่ในภาวะวิกฤติใกล้สูญพันธุ์
  • ทำไมจึงควรให้ความสำคัญ เมื่อเต่ามะเฟือง ขึ้นมาวางไข่บนฝั่ง
  • เต่ามะเฟือง จุดเชื่อมโยงสำคัญ ให้คนหันกลับมารักทะเล


"เต่ามะเฟือง" ถูกยกให้เป็นเต่าทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สืบสายพันธุ์มากว่า 100 ล้านปี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มนักอนุรักษ์ต่างออกมารณรงค์ และผลักดันให้กลายเป็นสัตว์สงวน ดังนั้น เมื่อมีข่าวคราวการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง หลายคนจึงตื่นตัวและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

สถานการณ์ "เต่ามะเฟือง" ในปัจจุบัน

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เต่ามะเฟือง เป็นเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเต่าที่โดนคุกคามและเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง เพราะหาดต่างๆ ที่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งในเมืองไทยไม่ได้รับรายงานว่า มีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เลย 5-6 ปี คาดว่าสาเหตุมาจากไข่โดนขโมย จากนั้นจึงมีการผลักดันให้เต่ามะเฟืองกลายเป็นสัตว์สงวน คนจึงหันมาใส่ใจกับเต่ามะเฟืองมากขึ้น

...

ข่าวดีของคนรักทะเล

ในปีงบประมาณ 2562 (เริ่ม 1 ต.ค.61-30 ก.ย.62) มีรายงานว่า เต่ามะเฟือง ขึ้นมาวางไข่ จำนวน 3 รัง

ในปีงบประมาณ 2563 (เริ่ม 1 ต.ค.62-30 ก.ย.63) มีรายงานว่า เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ จำนวน 16 รัง

ล่าสุด ปีงบประมาณ 2564 (เริ่ม 1 ต.ค.63-30 ก.ย.64) มีรายงานว่า ปีนี้ เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เร็วกว่าปกติ ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. จำนวน 2 รัง รังแรก วันที่ 21 ต.ค.63 และรังที่สอง วันที่ 31 ต.ค.63 ซึ่งปกติแล้ว เต่ามะเฟืองจะเริ่มขึ้นมาวางไข่ตั้งแต่เดือน พ.ย. ไปจนถึงช่วงเดือน มี.ค.

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ว่า ในปีนี้จะมีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ประมาณกี่รัง อ.ธรณ์ กล่าวว่า คงไม่สามารถบอกได้ แต่จากการที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เร็วกว่าทุกปี ก็มีโอกาสที่จะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา มากกว่า 10 รังก็ดีใจแล้ว แต่ถ้ามากกว่า 16 รัง ก็จะฉลอง

ทำไมจึงให้ความสำคัญเวลา เต่ามะเฟือง ขึ้นมาวางไข่

ประการแรก เต่ามะเฟือง เป็นสัตว์สงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งความสำคัญในแง่ของกฎหมายถือว่า เต่ามะเฟืองได้รับการคุ้มครองสูงสุดแล้ว

ประการที่สอง เต่ามะเฟือง ถือว่าเป็นสัตว์หายากชนิดหนึ่งของโลก

ประการที่สาม เต่ามะเฟือง เป็นเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ประการที่สี่ เต่ามะเฟือง เป็นตัวเชื่อมที่ทำให้คนรักทะเล มีใจอยากช่วยทะเล รวมไปถึงลดการทิ้งขยะ ลดการใช้พลาสติกไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม เพราะการสอนให้ “คนรักทะเล” เป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้

แต่หากโยงภาพ "เต่ามะเฟือง" ให้คนรู้สึกรักทะเลนั้นสามารถทำได้ อย่างเช่น บอกกับทุกคนว่าวันนี้ เต่ามะเฟืองออกไข่ ขอให้ทุกคนช่วยกันลดทิ้งขยะคนละชิ้นสองชิ้น คนก็จะเห็นภาพลดการทิ้งขยะเพื่อเต่ามะเฟือง เช่นเดียวกับกรณีของ "มาเรียม" พะยูนขวัญใจมหาชน แต่ตอนนี้มาเรียมได้ตายไปแล้ว

แต่ในส่วนของ เต่ามะเฟือง เมื่อขึ้นมาวางไข่ หรือตอนที่ลูกเต่าออกจากไข่ ก็ทำให้เกิดกระแสได้ อาจจะอัปเดตข่าวให้คนรู้แบบวันต่อวัน แล้วบอกเขาให้ช่วยลดการทิ้งขยะ สามารถนำเต่ามะเฟืองมากระจายข่าวเชื่อมโยงให้คนไม่ทิ้งขยะได้เรื่อยๆ

ประการที่ห้า เต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก จึงช่วยลดจำนวนแมงกะพรุนได้

ประการที่หก เต่ามะเฟือง ทำให้เกิดการอนุรักษ์ในพื้นที่ที่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ โดยเร่ิมตั้งแต่ตอนเหนือของภูเก็ต ลากยาวผ่านพังงาทั้งจังหวัดไปจนถึงระนอง ซึ่งมีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ตั้งชื่อว่า ชายฝั่งแห่งเต่า ซึ่งเป็นชายฝั่งที่สำคัญ ดังนั้นเมื่อมีการรณรงค์เรื่องต่างๆ ทางทะเล จึงสามารถขอร้องให้โรงแรมหรี่ไฟ รวมไปถึงการตรวจสอบสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อเก็บพื้นที่ชายฝั่งไว้สำหรับ เต่ามะเฟือง ขึ้นมาวางไข่

นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือชาวบ้าน เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เหมาะสม โดยมีเต่ามะเฟืองเป็นหัวใจหลัก

...

จากการลงพื้นที่พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ชื่นชอบเต่ามะเฟืองและให้ความร่วมมือ มีการจัดกิจกรรมเก็บขยะเพื่ออนุรักษ์เต่ามะเฟือง เมื่อเจอร่องรอยการวางไข่ก็รีบมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ ต่างคนต่างช่วยกันดูแลไม่ให้ใครมาขโมยไข่เต่ามะเฟือง เป็นการรวมใจให้คนรักทะเลโดยมีเต่ามะเฟืองเป็นหัวใจ


การวางไข่ อัตราการรอดชีวิต

แม่เต่ามะเฟืองจะขึ้นมาวางไข่ โดยจะใช้เวลาในการฟักตัว 60 วัน ซึ่งไข่ที่ได้จะมีทั้งไข่ดี และไข่ลม (ไข่ที่ไม่มีทางฟักเป็นตัว) โดย 1 รังจะมีไข่ประมาณ 150 ฟอง ซึ่งอัตราการการฟักเป็นตัวจะคิดเฉพาะไข่ดี แต่บางครั้งไข่ดีก็จะมีปัญหาในเรื่องของน้ำเชื้อไม่พอ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลกที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่า สาเหตุเกิดจากโลกร้อน

...

โดยเต่าที่อยู่ในไข่ จะตัดสินเพศโดยอุณหภูมิ หากไข่อยู่ในอุณภูมิสูง จะเป็นตัวเมีย หากอยู่ในอุณหภูมิต่ำ จะเป็นตัวผู้ ตามปกติแล้วในธรรมชาติจะคละกันไป แต่ปัจจุบันอุณหภูมิโลกแปรปรวน สิ่งที่ตามมาคือ จำนวนเต่าเพศผู้ลดลงทั่วโลก เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์เต่าตัวผู้จะต้องผสมพันธุ์กับเต่าตัวเมียหลายตัว ดังนั้นเมื่อเต่าตัวผู้มีจำนวนน้อย จึงทำให้ไข่น้ำเชื้อไม่พอ อัตราการฟักจึงต่ำลงไปด้วย หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไข่ที่ฟักเกินครึ่ง ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว

ที่สำคัญเลยคือ เราไม่สามารถเพาะเลี้ยงและเก็บน้ำเชื้อจากเต่ามะเฟืองได้ เพราะเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ เคลื่อนที่ได้ไกลมาก บางตัวเดินทาง 3-4 พันกิโลเมตร และจากที่มีคนเคยวัดได้พบว่า เต่ามะเฟืองเดินทางไกลจากจุดที่เกิดถึง 6 พันกิโลเมตร เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำไปเรื่อยๆ

เต่ามะเฟือง จำสถานที่เกิดได้

เต่ามะเฟืองที่ฟักเป็นตัวและรอดชีวิต จะใช้เวลาในการเจริญเติบโตจนกระทั่งเป็น เต่าสาว สามารถวางไข่ได้ จะใช้เวลาประมาณ 20-25 ปี แต่ถ้าวางไข่แล้ว ได้ไข่ที่มีประสิทธิภาพมาก จะอายุประมาณ 25 ปีขึ้นไป โดยเต่ามะเฟืองจะว่ายน้ำมาวางไข่ประมาณ 2-3 ปีครั้ง

...

สิ่งที่พิเศษคือ เมื่อถึงเวลาวางไข่ เต่ามะเฟืองจะว่ายน้ำมาวางไข่ในที่เดิม ซึ่งเป็นสถานที่เกิดทุกครั้ง ตามทฤษฎีแล้ว เต่ามะเฟืองจะขึ้นฝั่งมาวางไข่ตัวหนึ่งได้ 9 รัง แต่ตอนนี้ได้ 5 รังก็เก่งแล้ว กล่าวคือ แม่เต่ามะเฟืองจะมาอาศัยอยู่บริเวณที่วางไข่ประมาณ 2 เดือน ทุก 10 วันจะขึ้นมาวางไข่ครั้งหนึ่ง เมื่อวางไข่ครบจำนวนรอบแล้ว ก็จะว่ายน้ำกลับออกไป พอผ่านไป 2-3 ปี แม่เต่ามะเฟืองก็จะว่ายน้ำกลับมาที่เดิมอีกครั้งไปเรื่อยๆ บางส่วนเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้แม่เต่ากลับมาวางไข่ที่เดิมทุกครั้ง เกิดจากสนามแม่เหล็กโลก

"ถ้าเราสามารถเพิ่มอัตราการฟักเป็นตัวได้ 25 ปีต่อมา ก็จะมีเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี มั่นใจได้ว่าเต่ามะเฟืองจะไม่สูญพันธุ์"

สัตว์ 3 ชนิดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทะเลไทย

ในประเทศไทยมีสัตว์ 3 ชนิดด้วยกันที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้อย่างจริงจัง ได้แก่ 1. พะยูน (มาเรียม) 2. วาฬบรูด้า แห่งอ่าวไทย 3. เต่ามะเฟือง แห่งอันดามัน

ทั้งนี้ พบว่าจำนวนประชากรเต่ามะเฟืองทั่วโลกในปัจจุบันลดลงอย่างต่อเนื่อง มีเพียงประเทศไทยที่พบว่าเต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่ และกลับมาอย่างเพิ่มขึ้น จนเป็นข่าวดังทั่วโลก ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของไทยออกมาดี ผู้คนอนุรักษ์ทะเล สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม คนก็จะอยากมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งต้องถามย้อนกลับไปว่า หากไม่มีเต่ามะเฟืองแล้ว สิ่งที่กล่าวมาจะเป็นจริงได้หรือไม่

หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง

อ.ธรณ์ กล่าวว่า คนที่ช่วยในการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองก็คือ ทุกคน เพราะทุกคนมีส่วนช่วยทั้งหมด แต่หลักๆ แล้วหากเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่อยู่ในพื้นที่ของกรมอุทยานฯ ทางอุทยานแห่งชาติทางทะเลจะเป็นผู้ดูแล แต่หากอยู่นอกพื้นที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะเป็นผู้ดูแล

แต่ปัจจุบันไม่ว่าเต่ามะเฟืองจะขึ้นมาวางไข่ในพื้นที่ใดทั้งสองหน่วยงานก็จะเป็นผู้ดูแล ที่สำคัญคือ ทางจังหวัด นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านอาสาสมัครเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก