จากปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำช่วงที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ผุดแผน PS Support รับฟังเสียงเกษตรกรผู้เลี้ยง ขณะเดียวกันขอความร่วมมือผู้ประกอบการเลี้ยงไก่ไข่ ที่มีปริมาณแม่ไก่ยืนกรง 100,000 ตัวขึ้นไป ร่วมกันควบคุมการปลดระวางแม่ไก่แก่

จากเดิมที่ต้องปลดแม่ไก่อายุ 80 สัปดาห์ ให้ขยับมาปลดที่ 75 สัปดาห์ เพื่อให้ปริมาณแม่ไก่ลดลง ผลผลิตไข่จึงเข้าสู่สมดุลกับปริมาณการบริโภค

พร้อมร้องขอให้ผู้ผลิตไข่ไก่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ระบายไข่ไก่ส่วนที่เกินจากการบริโภคภายในประเทศ รวม 200 ล้านฟอง จนปัจจุบันไทยส่งออกไข่ไก่ไปแล้วกว่า 107 ล้านฟอง

จนที่สุดราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์ม ได้ปรับขึ้นฟองละ 0.20 บาท เป็น 2.90 บาท ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจระหว่างรัฐและเอกชน

แต่ไม่ได้หมาย ความว่าปัญหาจะหมดไปเสียทีเดียว เพราะต้นทุนการเลี้ยงตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พุ่งสูงขึ้นไปถึงฟองละ 2.55 บาท จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น

ข้อมูลจาก บริษัท ซีพีเอฟ จำกัด (มหาชน) ระบุ...กากถั่วเหลืองนำเข้าราคาปรับเพิ่มขึ้น (ราคา ณ ปลายเดือนตุลาคม) จาก กก.ละ 15 บาทกว่า เป็น 16.20 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ไทย ราคา กก.ละ 8.90 บาท ถือว่าสูงกว่าราคาตลาดโลก

กำไรแค่ฟองละ 35 สตางค์ แถมยังโดนวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาขึ้น เกษตรกรคงต้องหาวิธีการผ่านวิกฤติไปให้ได้ ขณะที่ภาครัฐก็ต้องเข้ามาควบคุมกลไกรวมถึงปัจจัยต่างๆ ช่วยเหลือเกษตรกร

ส่วนผู้บริโภค สามารถช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาไข่ไก่ได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ แค่ช่วยร่วมกันกินไข่ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันคนไทยบริโภคไข่ไก่แค่ 221 ฟอง/คน/ปี ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน...ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน บริโภคไข่ไก่มากถึงกว่า 300 ฟอง/คน/ปี

...

ได้ทั้งเพิ่มการบริโภค กระตุ้นกลไกตลาด แบ่งเบาภาระเกษตรกร ได้ทั้งคุณค่าอาหารเพิ่มขึ้น ถือว่าได้สองเด้ง.

สะ–เล–เต