วังวน “ฤดูฝุ่น”...“รัฐบาล” กับความไม่ชัดเจน วังวนในการแก้ปัญหา “ฝุ่น PM2.5” สไตล์เต่าต้วมเตี้ยม เป็นเพราะไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นความคุ้มค่า หรือไม่สนใจประชาชนที่ต้องเผชิญปัญหาโดยตรง? ยังวนๆเวียนๆอยู่คู่ “คนไทย” เสมือนต้องช่วยตัวเองกันไปแบบตามมีตามเกิด...ตัวใครตัวมัน ปัจจัยสำคัญคือหน่วยงานรับผิดชอบในการแก้ปัญหาโดยตรง ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จยังไม่มี ถัดมาก็ข้อกฎหมายที่แยกส่วนเป็นแท่งๆไม่ได้บูรณาการแก้ปัญหางานฝุ่นได้อย่างบูรณาการ

“การแก้ปัญหาต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้านด้วยกัน...นับตั้งแต่โครงสร้างการปกครอง โครงสร้างทางกฎหมาย ที่ต้องออกแบบใหม่” รศ.ดร.วิษณุ อรรถวาณิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกอีกว่า ผมทำงานกับโครงการอากาศสะอาดเชื่อเสมอว่าเราแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นเฉพาะแค่ภูเขาน้ำแข็งที่เห็นโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเท่านั้น ยังมีภูเขา...ปัญหาที่อยู่ใต้น้ำที่ไม่เคยแก้ ไม่เคยเตะต้องเลย

เราไม่เคยแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ต้นตอจริงๆ

แน่นอน...สิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าต้นตอไม่ถูกแก้ไข

ปัญหาก็ยังคงวนเวียน ปีนี้เกิดขึ้น ปีหน้าก็ยังมาต่อ

...

ย้อนกลับไป...ไม่ได้ว่าภาครัฐนะ “ฝุ่น PM2.5” ถูกบรรจุว่าเป็น “สารอันตรายขั้นที่ 1” ตั้งแต่ปี 2553 แต่...ถามว่า “คนไทย” รู้เรื่องฝุ่น PM2.5 กันเมื่อไหร่?

คำถามคือ...เกิดอะไรขึ้น ทำไม...ไม่ทราบ โดยเฉพาะไม่ทราบในเรื่องการเก็บข้อมูล งานวิจัยด้วย น่าสนใจว่าเมื่อนักวิจัยจะทำวิจัยในเรื่องนี้ ปรากฏว่า ประเทศไทยไม่เคยเก็บข้อมูลฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศเลย

“...มีการเก็บแค่บางจุดเท่านั้น และมีการเก็บเมื่อสังคมเริ่มเห็นความสำคัญในช่วงปลายปี 2561 มองว่าเป็นสิ่งที่จะสะท้อนหรือเปล่า ในเรื่องของการบริหารจัดการ หรือนโยบาย ผู้บริหารเองให้ความสำคัญน้อยกับเรื่องสิ่งแวดล้อม”

ต่อเนื่องไปถึงอีกมิติปัญหาสำคัญ “งบประมาณแผ่นดิน”...งบเพื่อป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ พลิกข้อมูลดูอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้าน จากงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยมากๆ

ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่งบประมาณทางเศรษฐกิจ หรืองบความมั่นคงต่างๆมีสัดส่วนอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท ตรงนี้ก็เห็นถึงความสำคัญแล้วว่า...สิ่งที่รัฐบาลทุ่ม ทุ่มไปที่ตรงไหน ทุ่มเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า สิ่งแวดล้อมหรือเปล่า อาจจะต้องกลับมาคิดกันใหม่ไหม โครงการต่างๆที่ภาครัฐจะทำเพื่อลดฝุ่นทุกรูปแบบ

งบหมื่นกว่าล้านนิดๆไม่ใช่ทำแค่เรื่องฝุ่น แต่รวมทั้งหมด น้ำเสีย ขยะ ฯลฯ ทั้งยังรวมไปถึงเงินเดือนประจำที่ต้องจ่าย...“เงิน” จริงๆที่จะเหลือไปใช้จ่ายแก้ปัญหาฝุ่นดูจะน้อยมากๆเมื่อเทียบกับปัญหาที่มีขนาดใหญ่มาก

รัฐบาลพูดถึงงบกลางเอามาใช้ ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาเรื้อรัง ไม่ใช่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ต้องการหน่วยงานที่ดูแลประจำ ดังนั้นโครงสร้างงบประมาณต่างๆในอนาคตก็ต้องปรับให้มีลักษณะประจำไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว

การแก้ไขจึงจะพลิกโฉม ไม่เหมือนในวันนี้ที่มีข่าว “ฝุ่น” มาก็จะมีข่าวเตือน พอฝุ่นหายก็ไม่มีการประชาสัมพันธ์ใดๆเลย พอปีหน้าฝุ่นกลับมาอีกก็เป็นอย่างนี้อีกหรือเปล่า?

ในต่างประเทศที่ทำกัน มีการสื่อสาร สอนเด็กๆตั้งแต่ระดับอนุบาล ถ้าเกิดเจอฝุ่นจะปฏิบัติตัวอย่างไร ป้องกันอย่างไรบ้าง แล้วก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เฉพาะช่วง แต่ทำตลอดทั้งปีต่อเนื่อง ไม่เห็นในบ้านเรานะ... มาทีทำที

เฟซบุ๊กส่วนตัว “Witsanu Attavanich” โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม เวลา 10.34 น.

...

“ชาวกรุง”...เตรียมรับมือฝุ่นพิษ PM2.5 (สารก่อมะเร็งกลุ่ม 1) เร็วๆนี้!! (คืนนี้และพรุ่งนี้เช้า) ส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมการเผาในที่โล่งแจ้งภาคเกษตรรอบๆกรุงเทพฯ ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพที่ 1...บ่งชี้ว่าจุดความร้อนรอบๆกรุงเทพฯ กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 22-24 ต.ค. หากไม่มีการจัดระเบียบการเผาที่ดี หรือการแก้ปัญหาที่ดี ชาวกรุงจะได้เผชิญกับฝุ่นพิษในระดับอันตรายมากต่อสุขภาพเร็วๆนี้

ภาพที่ 2 และ 3 บ่งชี้ว่าคืนนี้ตั้งแต่ช่วงค่ำถึงพรุ่งนี้เช้าค่าฝุ่นพิษจะเพิ่มสูงในระดับอันตรายต่อสุขภาพ ใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นพิษ N95 ก่อนออกจากบ้านนะครับ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเด็ก สตรีมีครรภ์ และคนสูงอายุ หน้ากากธรรมดาป้องกันได้น้อยมาก รักษาสุขภาพนะครับ #AirPollution #Comeback

“ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน ดูเหมือนว่านโยบายก็มี แผนก็มีเรียบร้อย เพียงแต่ว่าการปฏิบัติเท่านั้นที่ยังขาดการส่งผ่านลงมาข้างล่าง” รศ.ดร.วิษณุ ว่า

มองโลกในแง่ดี...วันนี้ “ภาครัฐ” ก็ดูจะแอ็กทีฟกระตือรือร้นมากขึ้น

ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกระตุ้น ช่วยกันแสดงพลังที่จะแก้ไข รศ.ดร.วิษณุ ย้ำอีกว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นภาครัฐบาลต้องให้ความสำคัญมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเยอะๆ

...

เมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ของภาคเอกชน ทุกนโยบายที่รัฐบาลตัดสินใจช่วยเอกชนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการชะลอการใช้มาตรฐานต่างๆ... “น้ำมันยูโร 4” มาเป็น “ยูโร 5” เมื่อตัดสินใจอย่างนี้แล้วเอาประชาชนมาคุยด้วยหรือเปล่า ปรึกษาประชาชนไหม หรือ...จะทำอะไรให้ “ประชาชน” ได้มากขึ้น พูดง่ายๆก็คือต้องทั่วถึง

อีกมิติหนึ่งก็คือการช่วยเหลือ ส่งผ่าน...“คนไทย” กับช่องว่าง “ความเหลื่อมล้ำ” นับวันก็ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาวิกฤติฝุ่นจิ๋วพิษ PM2.5 ก็เช่นกัน

เมื่อฤดูฝุ่นใกล้จะกลับมาหาชาวกรุงฯ อีกครั้ง ทายกันสิครับว่าชาวกรุงเทพฯ ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 เท่าไหร่ในปีที่ผ่านมา?...คำตอบคือ 6,124.89 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

หากนำไปพิจารณาร่วมกับจำนวนครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปี 2562 จำนวน 2,837,360 ครัวเรือน ที่ระบุว่าได้ใช้จ่ายเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ คิดจากร้อยละ 93.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด

ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนทางสังคมที่ชาวกรุงเทพฯ ต้องควักจ่ายเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 ในฤดูฝุ่นพิษ ปี 2562/2563 ที่ผ่านมาจะมีค่าสูงถึง 17,379 ล้านบาทต่อปี

...

“คนชั้นกลาง”...พอมีกำลัง มีฐานะหน่อยก็ซื้อหน้ากากป้องกันได้ แต่คนที่ยากจนอยู่ในชุมชนแออัด นอกจากไม่มีเงินซื้อแล้ว หนักหนาสาหัสถึงกับขั้นที่ว่ายังไม่มีเวลาที่จะรู้ด้วยซ้ำว่าต้องเผชิญกับปัญหานี้

“ไม่มีเงินซื้อหน้ากาก แค่ซื้อข้าวก็แย่แล้ว...ความรู้ก็ไม่มีเรื่องฝุ่น แทบจะไม่ได้ใส่ใจเลยด้วยซ้ำ เพราะเขาต้องทำมาหากิน จริงๆแล้วคนทุกคนถ้าเขารู้ เชื่อได้เลยว่าจะต้องหาวิธีป้องกันตัวเอง เพราะกลัวตายกันทุกคน”

บางทีสิ่งที่เกิดขึ้น เพียงเพราะเขาไม่รู้ว่ามีอันตรายจากฝุ่น PM2.5 หรือเปล่า?

“ไม่รู้...มัจจุราชมืดก็คืบคลานเข้ามาในชีวิตอย่างลอยนวล”

“รัฐบาล” ควรที่จะต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มล่างมากขึ้นทั้งมิติด้านการช่วยเหลือสนับสนุนหน้ากากอนามัยที่มีมาตรฐานอย่างเพียงพอ ให้นึกถึง “สวัสดิการ” ที่ “คนระดับล่าง” จะได้รับ

“รัฐบาล”...ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกว่า...“ปัจจุบัน”

การแก้ปัญหา “ฝุ่น PM2.5” จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความจริงจังจริงใจของ “รัฐบาล” เห็นใจเอื้อประโยชน์ภาคธุรกิจ นายทุน มากหรือน้อยกว่าประชาชนคนไทย ที่สำคัญ...อย่าให้ใครมาเดินขบวนประท้วงเรื่องฝุ่นๆได้ว่า...“รัฐบาลทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง”.