“ฤดูฝน” พ้นผ่านอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยก็เข้าสู่ “ฤดูฝุ่น”...ด้วยวิกฤติฝุ่นจิ๋วพิษ PM2.5 มาเยือนมาเยี่ยม ภาระหนักตกอยู่กับผู้คนในเมืองใหญ่ที่มีชีวิตแออัด ต้องมีภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือคนเมืองต้องควักกระเป๋า “จ่าย” ค่าหน้ากาก เครื่องป้องกันฝุ่น จิปาถะ ฯลฯ

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวาณิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บอกว่า ถ้าเราพูดกันถึงปัญหาในเรื่องการซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่น คำถามที่ตามมาก็คือฝุ่นปีนี้และในปีถัดๆไปจะยังคงเหมือนเดิมไหม

ถ้าไม่...ไม่มีการแก้ปัญหา...ยังเป็นวิกฤติหนักอยู่เหมือนเดิม การซื้ออุปกรณ์ก็คงต้องซื้อกันต่อไป เพราะแต่ละคนแต่ละครัวเรือนก็ต้องป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่สุดกำลัง

ย้ำว่า...ภาระนี้ก็ยังคงจะเกิดขึ้น ถ้าตราบใดการแก้ปัญหายังไม่จบหรือยังไม่บรรเทาลง

ถามว่าปัญหาวิกฤติ “ฝุ่น PM2.5” คลี่คลายดีขึ้นบ้างไหม? รศ.ดร.วิษณุ มองว่า ถ้าดูจากนโยบายในอดีตภาครัฐมีนโยบายในเรื่องการลดมลพิษทางอากาศนานพอสมควรแล้ว ถ้าดีก็ดีอย่างช้ามากๆ

โดยปกติควรจะต้อง “ดี” และ “เร็ว” กว่านี้...ถ้าไปดูแผนปฏิบัติการภาครัฐ เอาแค่หนึ่งตัวอย่างเช่นการใช้มาตรฐาน “น้ำมันยูโร 4” เปลี่ยนมาเป็น “ยูโร 5” แผนระบุว่าจะใช้น้ำมันมาตรฐาน “ยูโร 5” ในปี 2563

ทว่า...ก็ถูกเลื่อนไปเป็นปี 2565 และล่าสุด...ก็ปรับไปเป็นปี 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คำถามสำคัญตามมามีว่า...เป้าหมายโรดแม็ปที่ “รัฐบาล” เขียนไว้ถูกใช้การได้จริงมากน้อยแค่ไหน?

“แผนมีตั้งแต่ในอดีต อยากให้คิดว่าแผนที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงๆ เอาจริงมากน้อยแค่ไหน...ถ้าเอาจริงตามแผนเชื่อมั่นเลยว่าเรามีแผนที่ดี ถ้าเราทำได้...ฝุ่นลดลงแน่นอน”

...

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวาณิช
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวาณิช

การเปลี่ยนเลิกใช้ “น้ำมันยูโร 4” มาเป็น “ยูโร 5” ต้องมองแยกเป็นสองส่วน รถบรรทุกขนาดเล็ก รถเก๋ง รถยนต์ที่เราใช้ กับรถบรรทุกขนาดใหญ่... ปัจจุบันถ้าเป็นรถใหญ่ดีเซลยังใช้มาตรฐาน “ยูโร 3” อยู่เลยนะ

ถ้าจำไม่ผิดรถบรรทุกขนาดใหญ่เราใช้มาตรฐานยูโร 3 ตั้งแต่ปี 2550 เป็นสิบกว่าปีล่วงมาแล้ว ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน หรือ “ยูโร 4” ก็ใช้มาตั้งแต่ปี 2553 ก็ยังไม่เปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศเขาปรับเป็น “ยูโร 5” กันแล้ว

มิติปัญหาภาคเอกชนก็จะมองว่าเสียประโยชน์ถ้าต้องปรับปรุงไม่ว่าจะเป็นในส่วนตัวรถยนต์ หรือเครื่องจักร สายงานไลน์การผลิต แน่นอนว่าหากจะพูดถึงมาตรฐานยูโรก็จะมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ “ไอเสีย” กับ “น้ำมัน”

ในมุม “น้ำมัน” โรงกลั่นก็ต้องลงทุนเพิ่มเทคโนโลยี ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้าน ส่วนนี้รัฐบาลอาจจะเข้าไปช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เกิดขึ้นในการปรับเปลี่ยน บวกกับโรดแม็ปที่ผ่านมาก็ผ่อนปรนไปเรื่อยๆไม่มีความชัดเจน...ฉะนั้นคิดว่าจากนี้ไป แผนตอนนี้ตั้งเป้าปี 2567 จริงๆก็...ขอให้ทำให้ได้ เพียงแต่ว่าแล้วกว่าจะถึงวันนั้น “คนไทย” จะทำกันอย่างไร จะอยู่กับฤดูฝุ่นได้อย่างปลอดภัยได้อย่างเท่าเทียมกันทุกชีวิตแบบไหน

“3 ปี...กว่าจะถึงวันนั้น รัฐบาลควรจะทำอะไรมากกว่านี้ นึกภาพ... ตอนนี้รัฐบาลเอื้อให้ภาคเอกชน ให้กำไรไม่ลดลง แต่ลึกๆแล้ว...ประชาชนเสียประโยชน์ไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย”

ตัวเลขงานวิจัยเฉลี่ย 6,120 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่ต้องจ่ายซื้อหน้ากาก เครื่องฟอกอากาศที่ซื้อเครื่องหนึ่งใช้ได้หลายปี ถ้าไม่แก้...หรือแก้ช้า ตัวเลขนี้ก็จะเพิ่มขึ้น เพราะอย่างไรเสียคนเราก็ต้องจ่ายเพื่อป้องกันตัวเอง

คำว่า “เพิ่ม” มองได้สองมิติอีกเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไปเงินเฟ้อ ของไม่มีถูกลง มีแต่จะแพงขึ้น

อีกมุมมองหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลงก็คือ “โควิด-19” ช่วยให้หน้ากากถูกลง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยเรื่องอากาศบริสุทธิ์ หน้ากากที่ใช้ต้องมาตรฐาน N95 หน้ากากผ้าราคาถูกกันโควิดก็ใช้กันฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไม่ได้

ถ้าใช้มาตรฐานกันฝุ่นก็ต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า อย่างน้อยๆก็ชิ้นละ 60 บาท

รัฐบาลแก้ปัญหาแบบก๊าซเฉื่อย ไร้ประสิทธิผลอย่างเช่นที่เป็นอยู่ ปัญหาก็ยิ่งเรื้อรังสะสม ประชาชน...ผู้คนเลี่ยงไม่ได้ที่จะอยู่กับฝุ่น รับฝุ่น เจ็บป่วยแบบผ่อนส่ง ท้ายที่สุดแล้ว...ก็จะมีปัญหาสุขภาพ

...

ผลที่ตามมาก็คือ “ค่าใช้จ่าย” ในการรักษา ดูแล เยียวยาสุขภาพคนเหล่านี้จะมีเพิ่มอีก “มหาศาล”

โดยหลักการแล้ว “ป้องกัน ย่อมดีกว่าแก้ไข” สืบเนื่องจากงานวิชาการก่อนหน้านี้คำนวณไว้ต้นทุนทางสังคมทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายในการป้องกันตัวเองจากอุปกรณ์ที่ซื้อ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นต้นทุนขั้นต่ำที่สุด ยังมีต้นทุนอย่างอื่นที่ยังไม่รวม เช่น ค่ารักษาพยาบาล

“ฝุ่น PM2.5” เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มหนึ่ง มีโทษร้ายแรง...คิดดูว่าค่าใช้จ่ายคนเป็นมะเร็งคนหนึ่งเป็นแล้วต้องจ่ายเท่าไหร่ เคาะได้ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท ประเด็นถัดมา...คนที่ยังไม่ป่วย แต่สะสมฝุ่นจิ๋วไว้ในร่างกายยังไม่แสดงอาการแต่ก็ป่วย ก็ต้องจ่ายค่ารักษา คิดเป็นเงินอีกเท่าไหร่

ประเด็นที่สามมองในมิติ “คนป่วย” สมาชิกในครอบครัวก็ต้องมาดูแล เป็นภาระ...มานอนอยู่ในโรงพยาบาลก็เสียโอกาส ที่อดไปทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานมีรายได้รายวัน ไม่ทำก็ไม่มีรายได้ เสียโอกาสอีก

“ค่าเสียโอกาส” เหล่านี้บวกเข้าไปตัวเลขก็เพิ่มขึ้นไปอีก...นับรวมไปถึงดัชนี “ความสุข” ของแต่ละครอบครัว เมื่อมีฝุ่น PM2.5 ระดับอันตรายมีเด็กอยู่ก็พาไปเล่นนอกบ้านไม่ได้ อยู่กันแต่ในบ้านค่าใช้จ่ายก็เพิ่มอีกเปลืองไฟ...ทั้งค่าแอร์ ค่าเครื่องฟอกอากาศและค่าอื่นๆ...ความสุขหายไปและค่าใช้จ่ายก็งอกเงยเพิ่มขึ้น

ในทางเศรษฐศาสตร์ภาระเหล่านี้ เรียกกันว่า “ภาระที่ไม่ได้ผ่านตลาด” คนก็ลืมกัน ไม่ค่อยมองเห็นถึงจุดนี้ ซึ่งจริงๆแล้วก็คือภาระที่เป็นต้นทุนทางสังคมทั้งหมดเลย

“ตัวเลขภาระนี้เยอะนะครับ ถ้าจำไม่ผิดของคนกรุงเทพฯทุกครัวเรือนปีที่แล้วอยู่ที่ห้าแสนหกหมื่นล้านบาท สมมติว่า...ลดฝุ่นลงได้หนึ่งไมโครกรัม คนยินดีที่จะจ่ายเท่าไหร่ ตัวเลขอยู่ที่ราวๆห้าพันบาทต่อครัวเรือน”

...

อีกปัญหา...บ้านเราใช้ค่ามาตรฐานวัดฝุ่นเฉลี่ยแบบ 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 50 ไมโครกรัม ขณะที่องค์การอนามัยโลกเคาะอยู่ที่ 25 ไมโครกรัม พูดให้เห็นภาพสะท้อนชัดๆก็คือ...อนุญาตให้คนไทยปอดเหล็กกว่ามาตรฐานโลก “คนไทย” ทนฝุ่นได้มากกว่าสากล “คนทั่วโลก” สองเท่าตัว ซึ่งขณะที่อเมริกาก็ใช้อยู่ที่ 35 ไมโครกรัมก็ยังดีกว่าประเทศไทย แต่ก็ได้ยินมาว่ามีแผนที่จะปรับลดมาตรฐาน “ค่าฝุ่น” ลงมาเช่นกัน แต่ก็ต้องใช้เวลาอีก

ภาครัฐต้องแยกให้ออก อาจจะกังวลเรื่อง “เศรษฐกิจ” ถ้าปรับลดลงแรงมากไม่มีใครกล้าลงทุน? ถ้าปล่อยมลพิษ โรงงานก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ปัจจุบันเอาแบบเร่งด่วนวินวินทุกฝ่ายควรต้องมีแผนที่ชัดเจนก่อน

สมมติ...อีก 10 ปีข้างหน้าจากนี้ไป “ค่าฝุ่น” จาก 50 ไมโครกรัมปีนี้จะเหลือ 45 ไมโครกรัม...40 ไมโครกรัม...35 ไมโครกรัม ก็คือให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นการส่งสัญญาณล่วงหน้าให้ทุกภาคส่วนปรับตัว

ถึงตรงนี้ต้องถามกันตรงๆว่า “รัฐบาล” กับความไม่ชัดเจนวังวนในการแก้ปัญหา “ฝุ่น PM2.5” สไตล์เต่าต้วมเตี้ยม เป็นเพราะไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นความคุ้มค่า หรือไม่สนใจประชาชนที่ต้องเผชิญปัญหาโดยตรง?

...

“ส่วนหนึ่งที่ผมมอง...ปัญหาฝุ่นไม่เหมือนปัญหาอื่นๆ ปัญหานี้เหมือนเป็นมัจจุราชมืด โดนฝุ่นปุ๊บสูดตอนนี้ยังไม่ตาย เพราะทุกคนก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ไม่ได้ตื่นตัวไม่เหมือนกับพายุเข้า ฟ้าถล่ม...กระทบโดยตรง

ฝุ่นเป็นภัยมืดที่ทุกคนก็เพิกเฉยส่วนหนึ่ง อันที่สองเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ด้วยปัญหาโครงสร้างภาคราชการ มลพิษทางอากาศ ปัญหามาจากไหน...รถยนต์ ป่าไม้ เกษตรที่เผา แต่ไม่มีหน่วยงานไหนในประเทศไทยที่สามารถมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ปัญหามลพิษเหล่านี้...ส่วนใหญ่ยกภาระให้กรมควบคุมมลพิษ”

แล้วกรมเล็กๆจะมีอำนาจแค่ไหน จะบอก...จะสั่งกรม กระทรวงใดให้ทำอะไรได้บ้าง? อย่างไร?

วังวน “ฤดูฝุ่น” เป็นเช่นนี้ ยังวนๆเวียนๆอยู่คู่ “คนไทย” เตรียมรับมือกันให้ดีๆเท่าที่ทำได้ก็แล้วกัน.