สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจ เชื่อว่าเป็นประเด็นที่มีคนสนใจเป็นอย่างมาก การทำธุรกรรมทางด้านการเงินยุคนี้รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่เราจะต้องนำเงินสดไปฝากที่เคาน์เตอร์ของธนาคาร โดยให้พนักงานธนาคารเป็นผู้รับเงิน และตรวจสอบยอดเงิน ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งนำตู้รับฝากเงินอัตโนมัติมาให้บริการ ทำให้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ข้อเสียของการนำเงินฝากเข้าตู้ระบบอัตโนมัติก็มีเช่นเดียวกัน จึงอยากนำเรื่องนี้มาเล่าเป็นประสบการณ์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับท่านที่จะนำเงินฝากใส่ตู้ระบบอัตโนมัติ และควรระวัง

มีกรณีที่น่าศึกษาเกี่ยวกับแม่บ้านคนหนึ่งนำเงินสดมาฝากตู้ระบบอัตโนมัติ จำนวน 17,000 บาท แต่ปรากฏว่าตู้ระบบอัตโนมัติคืนธนบัตรมา 1 ฉบับ แม่บ้านจึงหยิบธนบัตรที่ตู้ระบบอัตโนมัติคืนออกมา สุดท้ายแม่บ้านลืมกดปุ่มยืนยัน เพื่อให้ตู้ระบบอัตโนมัติเก็บเงินเข้าระบบบัญชีของผู้ฝาก ต่อมามีผู้ชายคนหนึ่งมาใช้บริการต่อ เห็นว่าตู้ระบบอัตโนมัติค้างอยู่ เนื่องจากยังทำธุรกรรมไม่สำเร็จ ผู้ชายคนดังกล่าวจึงกดปุ่มยกเลิก ทำให้ตู้ระบบอัตโนมัติคืนธนบัตร จำนวน 16,000 บาท ของแม่บ้านออกมา ผู้ชายคนดังกล่าวจึงหยิบเงิน จำนวน 16,000 บาท ออกไปจากตู้ระบบอัตโนมัติ

เมื่อแม่บ้านกลับไปถึงบ้านจึงเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดเงินจึงไม่เข้าบัญชีสักที จึงโทรสอบไปถามธนาคาร และไปขอดูภาพกล้องวงจรปิด พบว่ามีผู้ชายคนหนึ่งมาที่ตู้ระบบอัตโนมัติและหยิบเงินของแม่บ้านออกไป แม่บ้านจึงประกาศว่า “ใครที่หยิบเงินออกไปให้นำมาคืน แล้วจะไม่เอาเรื่อง”

ประเด็นที่น่าสนใจของข่าวนี้

1. ใครเป็นผู้เสียหายในคดีอาญากันแน่ ระหว่างธนาคารกับแม่บ้าน

หากดูจากพฤติการณ์แล้วจะโทษเป็นความผิดของตู้ระบบอัตโนมัติ หรือ ธนาคาร ไม่ได้ เนื่องจากเป็นความประมาทเลินเล่อของแม่บ้านเอง ที่ไม่ได้กดปุ่มยืนยัน ดังนั้น เมื่อเงินจำนวน 16,000 บาท สูญหาย ในขณะที่เงินจำนวนดังกล่าวยังไม่ได้อยู่ในความครอบครองของธนาคาร และการสูญหายนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของตู้ระบบอัตโนมัติ ธนาคารจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อเงิน 16,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวยังคงเป็นของแม่บ้านอยู่ แม่บ้านจึงเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา

...

2. การหยิบเงินออกไปจากตู้ฝากเงินอัตโนมัติมีความผิดฐานใด

เมื่อมีผู้หยิบเงินจำนวน 16,000 บาท ออกจากตู้ระบบอัตโนมัติ ในขณะที่เงินจำนวนดังกล่าวยังไม่ได้อยู่ในความครอบครองของธนาคาร แม่บ้านจึงเป็นเจ้าของเงินและเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา แม่บ้านจึงมีสิทธิ์แจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องคดีอาญาต่อผู้ที่หยิบเงินออกไป ในข้อหาลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334

3. เมื่อแม่บ้านไปแจ้งความแล้ว แม่บ้านจะถอนคำร้องทุกข์ได้หรือไม่

คดีลักทรัพย์ เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้ แม้ผู้เสียหายจะสามารถถอนคำร้องทุกข์ได้ก็ตาม แต่ไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 126 ผู้ร้องทุกข์จะแก้คำร้องทุกข์ระยะใด หรือจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้

ในคดีซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวการถอนคำร้องทุกข์เช่นนั้นย่อมไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้น

แต่อย่างไรก็ตามทการคืนเงินถือเป็นการบรรเทาความเสียหายอย่างหนึ่ง และอาจจะเป็นเหตุบรรเทาโทษ เนื่องจากผู้กระทำความผิดสำนึกผิดในการกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยศาลอาจจะเมตตาพิพากษาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษไว้ ก็เป็นไปได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ข้อเท็จจริง และประวัติของผู้กระทำความผิด

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ

Facebook: ทนายเจมส์ LK
หรือ Instagram : james.lk