“อว.ส่วนหน้า” หรือ “หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของ อว.ในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบาย “โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์-โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดอย่างจริงจัง
โดยมี กลไกของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าไปขับเคลื่อนในระดับจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการต้นเดือน พ.ย.นี้
“อว.ส่วนหน้า ถือเป็นโอกาสทองที่ทุกหน่วยงานจะได้แสดงฝีมือการทำงานพัฒนาจังหวัด ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ เพราะจะทำให้สังคมและรัฐบาลเห็นว่าการพัฒนาประเทศในอนาคตจะขาดความรู้จาก อว.ไม่ได้ จากในอดีตที่มีเพียงสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์เป็นผู้มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบัน อว.จะมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ เพราะต้องใช้องค์ความรู้ข้อมูล ที่ อว.เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญของประเทศ” ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ในฐานะผู้จัดตั้ง อว.ส่วนหน้า กล่าวถึงเหตุผลของการมี อว.ส่วนหน้า
...
อว.ส่วนหน้าจะใช้หน่วยงานของ อว.ในพื้นที่ ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆของ อว. เป็น “อว.ส่วนหน้า” ครบทุกจังหวัด ทำหน้าที่รวบรวมปัญหาต่างๆของจังหวัด ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้หน่วยงานวิจัยของ อว. เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด
“อว.ส่วนหน้ามี 2 ระดับ คือส่วนกลางมีปลัด อว.เป็นประธาน และ รมว.อว.เป็นที่ปรึกษา และ ส่วนหน้า มีตัวแทนมหาวิทยาลัยในแต่ละจังหวัดขับเคลื่อน และระดับกลุ่มจังหวัด มีเครือข่ายมหาวิทยาลัย 9 เครือข่าย เป็นตัวขับเคลื่อน ขณะนี้มอบหมาย อว.ส่วนหน้าไปตามจังหวัดต่างๆแล้ว คือ โดยหลักการแล้วจังหวัดใดมีหน่วยงานของ อว.ตั้งอยู่ ก็จะกำหนดให้หน่วยงานนั้นทำหน้าที่เป็น อว.ส่วนหน้า อาทิ จ.อุตรดิตถ์ จะมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุตรดิตถ์ ทำหน้าที่ อว.ส่วนหน้า จ.อุดรธานี ก็จะเป็น มรภ.อุดรธานี และ จ.ยะลา ก็จะเป็น มรภ.ยะลา เป็นต้น ส่วนจังหวัดที่ไม่มีหน่วยงาน อว.ตั้งอยู่ ก็จะมอบหมายให้หน่วยงานที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียงทำหน้าที่ อว.ส่วนหน้าและหากในจังหวัดหนึ่งมีหน่วยงานหลายหน่วยงานของ อว.อยู่ในพื้นที่ การทำงานก็จะเป็นในรูปคณะทำงานที่ร่วมกันของหลายหน่วยงาน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการทำงานระหว่างกัน” รมว.อว. ระบุ
นอกจากนี้ อว. กำลังจัดทำ Handbook ขององค์ความรู้ เทคโนโลยี งานวิจัย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาจังหวัด เพื่อให้แต่ละจังหวัดทราบว่ามีองค์ความรู้อะไรอยู่บ้าง โดย Handbook จะอยู่ในรูปดิจิทัล ซึ่งจะเป็นคู่มือสำคัญให้พื้นที่และเลือกใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ อว. ในการพัฒนาจังหวัดในการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน
“อว.ส่วนหน้าจะช่วยให้อาจารย์ นักวิจัย ออกจากห้องเรียน ห้องแล็บไปทำงานจริงและแก้ปัญหาจริงในพื้นที่ต่างๆ และไปสนธิกำลังกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการปรับการทำงานแบบทำคนเดียว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล และหน่วยงานวิจัยใน อว. โดยมี 5 โครงการสำคัญที่จะดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี คือ 1.โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย 2.Mega-Hackathon ให้เยาวชนได้ช่วยคิดแก้ปัญหานโยบาย ใช้เครื่องมือ IT และโลก cyber ช่วยคิด/ช่วยให้เกิดแผน 3.Fore-sight คิดแผนอนาคต ครอบคลุมประเด็นสังคม/สิ่งแวดล้อม แต่ละจังหวัด 4.Digital Transformation ฝึกเยาวชนจำนวน 250,000 คน ภายใน 1 ปี ให้มีทักษะด้านดิจิทัล และ 5.การพัฒนาคนในวัยเกษียณให้เป็นพลัง” ศ.ดร.เอนก กล่าว
...
ทั้งนี้ งานแรกของ อว.ส่วนหน้าคือ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา งบประมาณ 10,629.6 ล้านบาท เพื่อจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ ประชาชนในพื้นที่ นักศึกษา 6 หมื่นคนทำงานใน 3 พันตำบลทั่วประเทศที่จะเปิดตัวในช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้
“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า “อว.ส่วนหน้า” น่าจะสามารถเป็นส่วนปฏิบัติการเชิงรุกที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างดี แต่สิ่งที่เราอยากจะขอฝาก คือ ทำอย่างไรจึงจะเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัย ก็มีไม่น้อยที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านอยู่แล้ว
โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดคือเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายและงบประมาณ รวมทั้งความอืดอาดล่าช้าของระบบราชการ และทำอย่างไรที่หน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยจะเชื่อมโยงกับชาวบ้านได้อย่างเป็นเนื้อเดียว
เพื่อให้สังคมประจักษ์อย่างไร้ข้อสงสัยว่าการพัฒนาประเทศจะขาดความรู้จาก อว.ไม่ได้อย่างแท้จริง.
ทีมข่าวอุดมศึกษา