ฟางเส้นสุด ท้ายบนหลังอูฐ “ไทยเที่ยวไทย” ...มีที่มาที่ไปเข้ากระแสยามนี้ ด้วยภาษิตโบราณอาหรับ...ให้นิยามปัญหาเดิมที่หนักพออยู่แล้ว ยังไม่หยุดสร้างปัญหาใหม่เพิ่ม อุปมาดั่ง...ฬาล่อหรืออูฐบรรทุกของหนักบนหลัง ยังเอาฟางเส้นสุดท้ายไปเพิ่มให้มันอีก
เหมือนเมื่อรัฐบาลแจกวันหยุด 4-7 ก.ย. ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯคึกคักทันตาเห็น ตั้งแต่บางแสน พัทยา ระยอง เกาะช้าง หัวหิน กาญจนบุรี ไปถึงเขาใหญ่
จึงได้ใจคิดแปลง “วีกเดย์” เป็น “ฮอลิเดย์” 2 วันให้คนของรัฐไปเที่ยววันธรรมดา กับเพิ่มวันหยุดยาวววววว...19-22 พ.ย. และ 10-13 ธ.ค.แจกคนตะบี้ตะบันเที่ยวกัน โดยไม่มีสินค้าใหม่ๆมารองรับ...เปรียบได้ดั่งสร้างฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ “ไทยเที่ยวไทย” ที่แบกหนักอยู่ยามนี้
เรื่อง “ท่องเที่ยว” นี่นะ...เป็นมาตรการซ้ำซากที่รัฐบาลนิยมนำมาใช้ในทุกครั้งที่ประเทศเกิดปัญหา โดยไม่เหลียวหน้าแลหลังมองผลลัพธ์...คุ้มไม่คุ้มกับเงินภาษีที่ทุ่มลงไป?
...
พลิกข้อมูลหยิบยกตัวอย่างเมื่อครั้งทีมเศรษฐกิจชุดลาโรง...ทิ้งเงินกู้ไว้ให้ 4 แสนล้านบาทหลังถูกโควิดถล่ม แล้วเจียดมา 2.24 หมื่นล้านบาท ทำ “ไทยเที่ยวไทย” ให้คนไทยเที่ยวแทนต่างชาติที่หายจ๋อม
โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำแผนท่องเที่ยว “กำลังใจ” ให้บุคลากรทางการแพทย์ 1.2 ล้านคน เที่ยวกับบริษัททัวร์ 2 วัน 1 คืน
รัฐเผาหัวให้คนละ 2 พันบาทจากงบฯ 2.4 พันล้านบาท ที่มโนว่าเงินจะสะพัด 6.5 พันล้านบาท ปรากฏว่าสะท้อนให้เห็นภาพ...ฮั้วกันระหว่างผู้รับสิทธิ์ยอมเทเงิน 1,500 บาท ให้บริษัททัวร์ โดยไม่ต้องเหนื่อยทำทัวร์ เพื่อแหกตาเบิกจ่ายเงิน...แล้วมีทอนส่วนต่าง 500 บาทให้เจ้าของสิทธิ์?
อีกด้านก็ปั้นตุ๊กตาอีกตัวเป็น “เราเที่ยวด้วยกัน” ทุ่มหน้าตัก 2 หมื่นล้านบาท เป็นค่าห้องพัก 5 ล้านห้องให้พัก 5 คืน แถมค่ากินคืนละ 600 บาท...แต๊ะเอียตั๋วเครื่องบิน 1 พันบาทต่อ 1 สิทธิ์...มีผู้ตอบรับแค่ 1 ล้านห้อง ปริ่มๆ 20%...เหลือ 4 ล้านสิทธิ์ที่ถูกเมินโดยไม่มีใครมอง
งานนี้กูรูท่องเที่ยวผู้สันทัดกรณี สั่งสมประสบการณ์ทั้งตลาดในและต่างประเทศมากกว่า 30 ปี วิเคราะห์ไว้น่าฟัง เขาบอกว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มัวแต่พายเรือในอ่าง...ไปไม่ถึงไหน ทั้งที่...เป็นมุ้งใหญ่ครอบมุ้งเล็กอย่างกรมการท่องเที่ยว ทัพหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้น่าสนใจ
แล้ว ททท.มุ้งอีกหลังรับจ๊อบทำตลาดปลุกคนไปเที่ยว...ได้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ “อพท.” เป็นมุ้งบริวาร กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่ชุมชน
นอกจากนี้ยังมีมุ้งอีกหลัง...สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการฯ ชื่อย่อ “สสปน.” หรือ “ทีเส็บ” สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชวนต่างชาติและไทยจัดประชุมสัมมนานิทรรศการผนวกทัวร์
ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้คือ “ห่วงโซ่” รัฐสำคัญที่ควรบูรณาการงานร่วมกัน...กรมการท่องเที่ยว เลือกแหล่งท่องเที่ยวศักยภาพพร้อมขาย อพท.เฟ้นพื้นที่ชุมชนชูโรง ทีเส็บหาสถานที่รองรับเวทีประชุมสัมมนา
ยกระดับเป็นสินค้าท่องเที่ยวคุณภาพ ให้นักการตลาด ททท.กำหนดเซ็กเมนต์หรือกลุ่มที่เหมาะกับชนิดสินค้า ขายผ่านทุกช่องทางเยี่ยงมืออาชีพตามราคาคุย ทั้งออฟไลน์...ออนไลน์ตรงสู่ผู้บริโภค ตลอดจนผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวทุกแขนง
เหนือกว่านั้น...เปิด “ตลาดนัดท่องเที่ยว (Travel Mart)” ขายตรงภาคประชาชน ทั้งกรุงเทพฯและภูมิภาค พุ่งเป้ากระตุ้นตลาดท่องเที่ยวระยะสั้นๆขึ้นในแต่ละภูมิภาค รองรับการเที่ยวช่วยผ่อนคลายวิกฤติในช่วงเวลานี้
ที่ผ่านมา...ประหนึ่งว่าต่างคนต่างกำหนดตัวสินค้ากันเอง ขายเองแบบชิงไหวชิงพริบกัน แข่งออร่าโดยขาดความเป็นเอกภาพ และซ้ำซ้อนไปคนละทิศละทาง ปล่อย ททท.ตั้งเรดาร์ขายท่องเที่ยวเชิงดราม่า...
...
“อเมซิ่ง ไทยเท่” และ “คิด...แล้วไปให้ถึง” ไร้ตัวสินค้าจับต้องได้...แถมใช้เซเลบโฆษณาขายยาสีฟันกับผงซักฟอกเป็นพรีเซนเตอร์ขายท่องเที่ยว
กูรูตลาดรายเดิมสรุป...เราจึงเห็นวันหยุดยาว คลื่นมนุษย์ส่วนใหญ่เลือกไปกระจุกตัวตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเดิมๆ เพราะไม่มีสินค้าตัวใหม่มาให้เลือกสนองนโยบาย “ไทยเที่ยวไทย”
หรือ...ตอบโจทย์ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ถมเท่าไรก็ไม่เต็ม
จนต้องใช้กลยุทธ์เพิ่มสิทธิ์ห้องพักจาก 5 เป็น 10 คืน หนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 1 พันเป็น 2 พันบาท ค่าอาหาร 600 เป็น 900 บาทเฉพาะวีกเดย์จันทร์ถึงพฤหัสฯ คาดเดาเอาว่าจะสร้างปาฏิหาริย์หนุนกระแส “ไทยเที่ยวไทย” ให้ปังๆสุดโด่ง
พร้อมขยายเวลายาวไปถึง 31 มกราคมปีหน้ากันไปเลย!
กระนั้นแล้ว...ต้องไม่ลืมฟันเฟืองเล็กๆปลีกย่อยที่ช่วยกันขับเคลื่อนผลักดัน ซึ่ง...ระหว่างการปั้นตลาดไทยในประเทศฟันเฟืองหลักที่ใช้ท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ย่อมไม่พ้น ททท.ซึ่งกำลังเกิดแอ็กซิเดนต์สะดุดขาระหว่างเปลี่ยนม้ากลางศึก?
...
เมื่อบอร์ด ททท.เห็นชอบแต่งตั้งพนักงานบริหารระดับรองผู้ว่าการ ด้านตลาดในประเทศกับด้านดิจิทัลฯ แทนผู้เกษียณตามเสนอแบบค้านสายตาพนักงานที่เห็นแย้งจนเกิดเหตุ “ทัวร์ลง” ขย่มองค์กรสนั่นลั่นทุ่ง
มรสุมสึนามิเล็กๆลูกนี้ เพจห้อง “ชมรมคนรัก ททท.” กับ “น้องเศร้าใจ” ต้องลุกขึ้นมายื่นข้อเสนอให้ผู้บริหารทบทวนมติ ด้วยเหตุผลคนทั้งสองไม่เคยผ่านการปฏิบัติงานด้านตลาดและดิจิทัล ที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำตลาดแนวใหม่ยุคนี้ เพื่อเข็น “ไทยเที่ยวไทย” ไปให้ถึงฝั่งฝัน
แหล่งข่าวภายในเผยว่า...หนึ่งในนั้นเป็นบุคคลมีตำหนิ เคยถูกลงโทษตัดเงินเดือน 10% 2 เดือน ฐานทุจริตการเบิกเงินซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินไปราชการต่างจังหวัด...แต่ไม่เดินทาง
เพียงต้องการนำมาเป็นเอกสารเท็จเบิกเงินรายการอื่นตามสิทธิ์ จนเมื่อสายการบินแจ้งความจริงให้ทราบ จึงถึงรายการ “โป๊ะแตก” ในที่สุด
แรงเสียดทานนี้ผู้บริหารได้ออกหนังสือชี้แจง เมื่อเป็นมติบอร์ดมิอาจทบทวนได้ ส่วนความผิดฐานเจตนาทุจริตได้ผ่านการลงโทษมาแล้วกว่า 2 ปี...จึงไม่ขาดคุณสมบัติ...งงมั้ย? ไทยแลนด์โอนลี่...อีกแล้ว
...
ยืนยันย้ำซ้ำว่า...ทั้งสองมีทัศนคติ ความรู้ความสามารถพิเศษ ที่จะนำพา “ไทยเที่ยวไทย” กู้ชาติบ้านเมืองฟื้นเศรษฐกิจ หลังประสบวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างท้าทาย...ก็ว่ากันไปเพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่จะเกิดจริงอย่างว่าได้มากน้อยเพียงไร คนที่รู้ก็คงต้องนั่งมองตากันปริบๆ...จับตาดูกันต่อไปด้วยใจเป็นห่วง?
ขณะปัญหาใหม่...ม็อบดาวกระจายนักเรียน นักศึกษาปลดแอก เข้ามาสอดแทรก
แต่ที่แน่ๆ...แหล่งข่าวบอกว่า กรณีนี้ใครจะปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือยังไงก็ยังมีคนไม่น้อยเห็นฟ้า เพราะถ้าโยนเข็มจากดาดฟ้าอาคารลงมา จะปักหัวนักการตลาดอาวุโสสายตรงก่อนสายจรอย่างแน่นอน แต่ด้วยเข็มเบนหัวไม่ตามเหตุธรรมชาติ...ก็มาจากอิทธิพลแรงลมหน้าและหลังบ้านนักการเมืองที่พัดใส่เรือไร้คนคัดท้ายเช่นก่อนหน้า
จะมีอะไรเบื้องหน้าเบื้องหลัง...มียื่นหมูยื่นแมวแลกผลประโยชน์อะไรกันภายหลังหรือไม่ ต้องคอยดูกันต่อไป...เหล่านี้เป็นฟางเส้นท้ายสุดบนหลังอูฐ ที่ไม่รู้ว่าฟื้นฟูหรือบูลลี่ “ท่องเที่ยวไทย” กันแน่?