“คนป่วยทุกคนต้องเป็นวีไอพีของเรา” นี่คือหัวใจสำคัญในการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขอย่างแท้จริง...นั่นหมายถึงว่าภาพทรงจำเก่าๆจะต้องไม่มีอีกแล้ว โดยเฉพาะ “ผู้ป่วยอนาถา” “ผู้ป่วยสูงอายุ”...มานั่งๆนอนๆเฝ้ารอคิวใช้สิทธิกันตั้งแต่เช้าตรู่กว่าจะได้เจอหมอ ได้ตรวจก็กินเวลาเกือบหมดวัน
เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2564
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การยกระดับหลักประกันสุขภาพ” บอกว่า การลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดอย่างหนึ่ง เนื่องจากผลตอบแทนที่กลับมาจะได้เป็นร้อยเท่าพันเท่า ทุกอย่างต้องคำนวณเป็นเม็ดเงินกลับมาว่าคนไม่ป่วยจะสร้างเงินได้เท่าไหร่ เสียภาษีให้รัฐเท่าไหร่
...
นี่คือ “รายได้” มหาศาลที่ “ประเทศไทย” จะได้กลับคืนมา
อย่าพูดแต่ว่าแต่ละปีใช้เงิน 2-3 แสนล้านบาทในการรักษาพยาบาล แต่ต้องคิดว่าจะสร้างรายได้กลับมานับล้านล้านบาท นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องมองไปให้ขาดแล้วลงทุนไปในสิ่งที่จะตอบแทนกลับมาด้วยผลตอบแทนอย่างมหาศาล ขณะเดียวกัน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ก็ต้องทำให้เกิดความเท่าเทียม
การก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ต้องอย่าให้ท่านแก่ชราโดยไร้คุณภาพ ไม่ต้องถึงขนาดบริการชั้นหนึ่ง แต่ขอให้เป็นชั้นประหยัดบริการพิเศษให้เขาอยู่ได้
“ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนเยอะมากที่ไม่ได้หงุดหงิดเพราะเจ็บป่วยแต่หงุดหงิดที่ต้องเป็นภาระลูกหลาน เกิดเป็นอาการความเครียด หน่วยงานรัฐก็ต้องเข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้ ต้องทำให้ทุกอย่างเป็นคุณภาพสูงสุดที่จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงตนอยู่ได้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด”
ย้ำว่า...ต้องหาวิธีที่ทำให้คนที่จะต้องกลับไปเลี้ยงดูแล สามารถทำเพียงส่งเงินไปก็พอหรือว่าเดือนนึงขอลากลับไป 1-2 วัน เพื่อไปเสริมสร้างขวัญกำลังใจเท่านั้นเป็นหน้าที่ของลูกหลานต่อบุพการี แต่ไม่ใช่ไปดูแล 24 ชม.
“สปสช.” มีสโลแกนดูแลตั้งแต่ “เกิดจนตาย” อย่างมีศักดิ์ศรี เป้าหมายที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมที่สำคัญอีกประการคือ “30 บาทรักษาทุกที่ คนไทยต้องเป็น VIP ในทุกโรงพยาบาล” คำนี้จะเป็นแรงผลักดันให้กับผู้บริหารโรงพยาบาลทุกคนว่าไปทิ้งขว้างผู้ป่วยไม่ได้ ต้องไม่มีคำว่า...“อนาถา” ไม่มีคำว่า...“ทิ้งขว้าง”
นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจจะทำให้...แล้วก็พยายามจะทำให้ได้
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. เสริมว่า คีย์เวิร์ดสำคัญมี 2 ประการคือ คำว่า “อนาถา” คำนี้เป็นคราบไคลของระบบสุขภาพตั้งแต่อดีต สิ่งที่มีการพูดในวันนี้คือเปลี่ยนจากคำว่าอนาถายกระดับเป็น “VIP”...โจทย์นี้ท้าทายมาก รูปธรรมของการยกระดับคือสิทธิที่จับต้องได้
“สปสช.เริ่มมีการโฟกัสสิทธิเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น ในกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยสูงอายุ ติดบ้านติดเตียง สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิพื้นฐานที่ต้องต่อยอดเป็นพรีเมียมแพ็กเกจมากขึ้น เป็นสิทธิที่กินได้”
ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ให้การดูแลดำเนินการดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง อาทิ เรื่องการนำแพทย์แผนไทยเข้ามาช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ ก็จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง หรือในเรื่องของโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็งที่มีนโยบายว่าไปรักษาที่ไหนก็ได้ เรื่องนี้ก็ต้องมีการจัดระบบซึ่งในเบื้องต้นทางกรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จะเป็นศูนย์บริหารจัดการกระจายผู้ป่วยมะเร็งไปใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมทั่วทั้งประเทศ
หรือแม้แต่ในเรื่อง “กัญชา” ทางกรมการแพทย์ก็เตรียมนำมาใช้กับระบบการดูแลระยะสุดท้าย ซึ่งก็จะเป็นอีกสิทธิประโยชน์ที่จับต้องได้
ขณะเดียวกันก็จะมีการบริหารสิทธิเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าสิทธิต่างๆจะได้รับการคุ้มครอง ซึ่งขณะนี้ สปสช.ก็ดูแลอย่างเต็มที่ไม่ให้เกิดการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ หรือเกิดค่าใช้จ่ายพิเศษที่เรียกเก็บจากผู้ป่วย โดยจะทำให้มั่นใจว่าหน่วยบริการจะมีงบประมาณเพียงพอ
...
หรือแม้แต่การย้ายหน่วยบริการประจำโดยไม่ต้องรอสิทธิ 15 วัน สามารถใช้สิทธิได้ทันทีก็เป็นอีกรูปธรรมที่จะดำเนินการได้
ประเด็นต่อมาคือคำว่า “แออัด” เรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีมาตลอดและการจัดระบบบริการ เช่น การจัดระบบการนัดต่างๆ หรือแม้แต่การไม่ต้องใช้ใบส่งตัวเพื่อที่ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลจะได้ลดภาระการเดินทางกลับไปขอใบส่งตัว เพื่อให้ประชาชนสะดวกมากขึ้น ก็จะทำให้ปัญหานี้ลดลง
ส่วนต่อมาคือการขยายบริการ สิ่งสำคัญคือ “ระบบปฐมภูมิ” คำว่าไปรับบริการที่ไหนก็ได้คือ ไปรับบริการจากหมอครอบครัว ไม่ว่าจะใน กทม.หรือต่างจังหวัด ซึ่งถ้าขยายหน่วยต่างๆมากขึ้น ความแออัดก็จะลดลง
หรือในส่วนของการเพิ่มความ VIP จะเห็นว่าระยะนี้เกิดระบบบริการใหม่ๆขึ้น เช่น เทเลเฮลท์ เรื่องการส่งยาที่บ้าน ระบบเหล่านี้ต้องพยายามขยายมากขึ้นเพื่อลดความแออัด เพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้รับบริการ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้คือสิ่งที่ สปสช. สธ. กทม. ได้หารือให้เกิดขึ้นจริงทั้ง...ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า แนวทางการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ “30 บาทรักษาทุกที่” จะเน้นการรับบริการปฐมภูมิเป็นลำดับแรก เริ่มใน กทม.ก่อน หากเป็นไปได้ก็จะขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลใหญ่ๆก็จะสร้างระบบปฐมภูมิในระดับอำเภอก็ต้องแข่งกัน
ถ้าระดับปฐมภูมิดี เชื่อว่าไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ
ประการต่อมาคือเพิ่มการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในเขตสุขภาพ กล่าวคือเป็นการ “กระจายอำนาจ” ให้ “เขตสุขภาพ” ดำเนินการตามบริบทในพื้นที่ ไม่ใช่สั่งการหรือจัดทำนโยบายจากส่วนกลางแล้วใช้ทั่วประเทศเพียงอย่างเดียว ส่วนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ก็จะพิจารณาให้เหมาะสมกับคนไทยทุกคน
...
ภาพที่จะเกิดขึ้น “คนไทย” ทุกคนมีศักดิ์ศรี สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนมีการเพิ่มศักยภาพ เพิ่มความสะดวก รวดเร็วและลดค่าใช้จ่าย ลดภาระให้กับประชาชนผู้เข้ารับบริการ และ...ถ้าเป็นไปได้ลดภาระงบประมาณที่ประเทศต้องใช้ไปมากกว่า 3-4 แสนล้านบาทต่อปี
“เราต้องสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนให้รู้สึกร่วมกันว่าหากเขามีสุขภาพไม่ดี ไม่แข็งแรง ไม่ดูแลตัวเอง เจ็บป่วยบ่อยๆ นั่นคือภาระของประเทศ ไม่มีประชาชนคนไหนที่ต้องการเกิดมาแล้วเป็นภาระให้แก่ใคร ทุกคนอยากจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นเราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรักสุขภาพ” อนุทิน ว่า
อาจมีคนกังวลว่าผู้ป่วยจะแห่ไปโรงพยาบาลใหญ่ๆหมด แต่ผมมองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นหากเรามีระบบบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับ รพ.สต. ไปจนถึงโรงพยาบาลชุมชนที่ยกระดับเป็นพรีเมียมหลัก ส่วนโรงพยาบาลทั่วไป...โรงพยาบาลศูนย์ ก็ยกระดับขึ้นไปตามลำดับขั้น
ในระดับพื้นที่มี อสม.เป็นหมอคนแรกของประชาชนทั่วไป ถ้าเอาไม่อยู่ก็ส่งไปรักษาที่ รพ.สต. ส่งไปที่หมอครอบครัว ส่งไปโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องตามลำดับ ถ้าทำได้เรื่องความแออัดในโรงพยาบาลน่าจะลดลง
...
ตั้งหวังกันว่าสิทธิ “ผู้ป่วยวีไอพี”...“30 บาทรักษาทุกที่” จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อ “คนไทย” แข็งแรง...“ประเทศไทย” ก็แข็งแรง...“ประเทศแข็งแรง เศรษฐกิจก็แข็งแรง สังคมก็แข็งแรง”.