ไทยเราถือเป็นเจ้าแห่งการส่งออกข้าว การพัฒนาพันธุ์ข้าวจึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก และตอบสนองความต้องการของคนในแต่ละท้องถิ่น
ปีที่แล้ว หลังกรมการข้าวได้เปิดตัวข้าวสายพันธุ์ใหม่กันไปหลายสายพันธุ์ ล่าสุดคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว กรมการข้าว มีมติรับรองข้าวพันธุ์ใหม่อีก 2 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้าสายพันธุ์มะจานู PTNC99012–69 จากศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี โดยได้รับรองพันธุ์ในชื่อ “มะจานู 69” และ ข้าวเจ้าสายพันธุ์อัลฮัมดุลิลลาฮ์ PTLC15002-4 จากศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง โดยได้รับรองพันธุ์ในชื่อ “อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4”
ข้าวเจ้าพันธุ์มะจานู 69...ลักษณะเด่น เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ยไร่ละ 497 กิโลกรัม ปริมาณอมิโลสสูง 27.2% (องค์ประกอบย่อยในแป้ง ถ้าอลิโมสสูงในระหว่างการหุงต้ม จะดูดน้ำได้มากกว่าข้าวที่มีอมิโลสต่ำ ทำให้ข้าวสุกค่อนข้างแข็ง) และลักษณะรวงยาวแน่นปานกลาง การแตกระแง้ปานกลาง
เมล็ดร่วงปานกลาง ความยาก-ง่ายของการนวดเป็นระดับปานกลาง รูปร่างเมล็ดเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก ข้าวสุกไม่เหนียว ไม่ร่วน
ตรงกับความนิยมการบริโภคของชาวไทยมุสลิมที่ชอบใช้มือเปิบข้าวแทนช้อน พื้นที่แนะนำในการปลูกคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
ส่วน ข้าวเจ้าพันธุ์อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4...ลักษณะเด่น เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ยไร่ละ 611 กิโลกรัม ปริมาณอมิโลสสูง (27.4%) ลักษณะรวงจับกันแน่นยาว รูปร่างเมล็ดค่อนข้างป้อม
คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่ปานกลาง ขนาดเมล็ดค่อนข้างป้อม ข้าวหุงสุกค่อนข้างนุ่ม ไม่เหนียว ไม่ร่วน ตรงกับรสนิยมการบริโภคของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง
...
ทั้งนี้ กรมการข้าวมีแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ทั้ง 2 พันธุ์ ในฤดูนาปี 63/64 โดย พันธุ์มะจานู 69 จะดำเนินการผลิตเป็นพันธุ์คัดจำนวน 500 กก. และพันธุ์หลัก จำนวน 2 ตัน...ส่วน พันธุ์อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4 จะดำเนินการผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ดัก จำนวน 200 กก. และจัดทำเป็นรวง จำนวน 5,000 รวง.
สะ–เล–เต