โลกยังหนักกับพิษโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อวันเดียวกว่า 3 แสนราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทะลุไปแล้วกว่า 34 ล้านราย เสียชีวิตวันเดียว 6 พันราย ประเทศในแถบละตินอเมริกามีคนได้รับผลกระทบจากโควิดตกงานเพราะไวรัสนี้กว่า 34 ล้านคน “วิษณุ” ยันตั้ง ศปก.ศบค.ไม่ใช่เตรียมรับมือระลอก 2 แต่ทำให้ทะมัดทะแมงหวังบูรณาการให้เป็นเอกภาพ

โลกยังระทมกับพิษโควิด-19 ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในทั่วโลก เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ว่า มีผู้ติดเชื้อวันเดียวกว่า 306,000 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทะลุไปแล้วกว่า 34 ล้านราย รักษาหายแล้วกว่า 25.4 ล้านราย ส่วนยอดเสียชีวิตวันเดียวมีอีกราว 6,000 ราย รวมผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านราย สหรัฐฯยังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก โดยมีผู้ติดเชื้อวันเดียวสูงถึง 38,000 ราย รวม ติดเชื้อสะสมเป็น 7.4 ล้านรายเศษ เสียชีวิตรวมกว่า 211,000 ราย ตามด้วยอินเดียที่ยังมีผู้ติดเชื้่อรายวัน เกินกว่าครึ่งแสนอีกกว่า 86,000 ราย รวมติดเชื้อกว่า 6.3 ล้านราย เสียชีวิตวันเดียวอีก 1,179 รายทำให้ยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 98,000 ราย ใกล้แตะหลักแสน

ขณะเดียวกัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในทวีปละติน อเมริกา ทำให้ประชาชนตกงานแล้วอย่างน้อย 34 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากที่ประเมินก่อนหน้าช่วงต้นเดือน ส.ค.ที่ว่าจะมีคนตกงาน 14 ล้านคน จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศในละติน อเมริกา ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับปัญหาทันที

ประธานาธิบดี มาริ์ต วิซคาร์รา แห่งเปรูเผยว่า ทางการจะเริ่มเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศใน 11 ปลายทาง ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.ให้กับประเทศภายในภูมิภาค เช่น โคลอมเบีย เอกวาดอร์ ชิลี โบลิเวีย ปารากวัย อุรุกวัย ปานามา แต่ผู้โดยสารทุกคนต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ช่วงที่เข้าประเทศ เป็นแผนส่วนหนึ่งของการยกเลิกกฎคุมเข้มและกลับมาเปิดเศรษฐกิจ เพราะภาวะการติดเชื้อและเสียชีวิตในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มลดน้อยลง ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 811,000 ราย เสียชีวิต 32,400 ราย มากเป็นอันดับ 2 ของละติน อเมริกา ตามหลังบราซิลที่มากสุดในละติน อเมริกา และมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 4.8 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 143,000 ราย

...

ที่แคนาดา นายบิลล์ แบลร์ รมว.ความปลอดภัยสาธารณะของแคนาดา ทวีตข้อความว่า รัฐบาลขยายคำสั่งห้ามการเดินทางระหว่างประเทศที่ไม่จำเป็นออกไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. นับแต่เริ่มบังคับใช้ช่วงกลางเดือน มี.ค. ยกเว้นคู่สามีภรรยา บุตรหลาน พ่อแม่หรือผู้ปกครองชาวแคนาดาและผู้ที่พำนักถาวร ท่ามกลางการระบาดระลอกสอง ส่วนหนึ่งมาจากการกลับมาเปิดโรงเรียนและคนกลับมาทำงานนับล้านคน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเกือบ 1,800 ราย รวมแล้วกว่า 158,000 ราย เสียชีวิตอีก 6 ราย รวมยอดเสียชีวิตกว่า 9,200 ราย อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก

นายสเตฟาน บันเซล ซีอีโอโมเดอร์นา บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐฯ เผยว่า บริษัทจะไม่ขออำนาจตามมาตรการฉุกเฉินหรือ EUA สำหรับวัคซีนโควิด-19 กับองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA ก่อนวันที่ 25 พ.ย. ซึ่งเป็นเวลาที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนเพียงพอก่อนทำเรื่องเข้าสู่ภายใต้ EUA ถือเป็นการดับความหวังของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่กล่าวบ่อยครั้งว่า วัคซีนโควิด-19 จะพร้อมใช้ก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 3 พ.ย.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าพบเมื่อวันที่ 30 ก.ย. หารือระเบียบและข้อกฎหมายในการตั้งศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.ศบค.) ขึ้นในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศบค.ว่า เมื่อสถานการณ์โควิดเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มีหลายศูนย์อยู่ใน ศบค.ทั้งฝ่ายแพทย์ ฝ่ายกักตัว ในวันนี้ที่ยังต้องขยายเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่เพื่อไปควบคุม แต่ต้องการบูรณาการงาน สนธิกำลังหรือทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ เพราะการมีหลายศูนย์ใน ศบค. อาจจะกระจัดกระจายเกินไปไม่เป็นเอกภาพ โดย พล.อ.ณัฐพลเห็นว่า เมื่อ ศบค.ต้องการสร้างความเป็นเอกภาพ ต้องการบูรณาการ จึงคิดและเสนอมาให้ตั้ง ศปก.ศบค. ซึ่งเป็นศูนย์ในขั้นปฏิบัติการ จึงต้องการรวมเข้ามาเป็นศูนย์ปฏิบัติการหรือ ศปก. เพื่อกลั่นกรองเรื่องก่อนจะเสนอเข้า ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อ ศบค.ใหญ่เสนอเข้า ครม. จะได้เป็น 3 ชั้น รอบคอบดี โดยมีเลขาฯ สมช.เป็นประธาน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีเสียงวิจารณ์ว่าตั้ง ศปก.ศบค.ขึ้นมาเพื่อรับมือการระบาดรอบสองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่ทำให้มีความทะมัดทะแมงและ รวดเร็วขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าโควิด-19 ระบาดระลอกสอง ก็ต้องกลับไปใช้โครงสร้างเดิมทั้งหมด ขณะเดียวกันการที่ ศบค.เปิดผ่อนผันตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเตรียมรับมือ ไม่ว่าจะลงภูเก็ต ลงสุวรรณภูมิ จึงเป็นเหตุที่ ศปก.ศบค.จะต้องเตรียมรับมือในส่วนนี้ด้วย นั่นคือการรับมืออย่างรวดเร็ว การตั้ง ศปก.ศบค.ดังกล่าว ทุกฝ่ายเห็นชอบ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะไม่ได้เป็นการลิดรอนหรือตัดอำนาจใครและไม่ได้เพิ่มอำนาจให้ใคร

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งมีเรื่องของการเตรียมรับมือกับโควิด-19 ว่า มอบหมาย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ว่าที่อธิบดีกรมควบคุมโรค จัดทำแผน การรับมือการระบาดระลอก 2 ร่วมกับทีมนักวิชาการประเมินสถานการณ์ โดยจะแถลงข้อมูลสัปดาห์หน้า รวมถึงการเตรียมวัคซีนป้องกัน ซึ่งปีแรกของการมีวัคซีนจะต้องมีรองรับให้ได้ 50% ของประชากร โดย 20% ใช้สำหรับกลุ่มเสี่ยง ไม่อยากให้ทุกคนวิตก แต่ย้ำถึงมาตรการสังคมที่ขอให้ทุกคนยึดปฏิบัติต่อเนื่องที่สามารถป้องกันได้ ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง มอบเป็นนโยบายให้บุคลากร กระทรวงฯ ประมาณ 4 แสนคน สวมหน้ากากอนามัยทุกคน เพื่อเป็นแบบอย่างในการป้องกันและการติดเชื้อ

...

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 วันที่ 1 ต.ค. ของไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5 รายเป็นผู้กลับจากต่างประเทศ มาจากฟิลิปปินส์ อิหร่าน อินเดีย ประเทศละ 1 รายและบราซิล 2 ราย

วันเดียวกัน พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนเรื่องโควิด-19 ที่สำรวจทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 16-28 ก.ย. พบว่า ประชาชนลดการสวมหน้ากากลงจากร้อยละ 93.5 เหลือร้อยละ 66.9 แต่จะสวมหน้ากากต่อเนื่องร้อยละ 55.3 และอาการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจลดลง ปีนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-26 ก.ย.ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลง มีรายงานเพียง 110,930 ราย เสียชีวิต 4 ราย ขณะที่ปี 2562 มีรายงานผู้ป่วย 304,425 ราย ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้านไปในพื้นที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น ลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ที่ใช้บริการด้วยแพลตฟอร์มไทยชนะ เพื่อช่วยกันรักษาสถานการณ์ให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป