การศึกษาถือเป็นหัวใจหลักของประเทศ ครูไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเพื่อให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ แต่ยังต้องเสริมสร้างทักษะผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้านต่างๆ เพื่อให้เด็กสามารถนำประสบการณ์ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

นายจอห์น ดิวอี้ ปราชญ์ทางการศึกษาชาวอเมริกัน กล่าวว่า มนุษย์จำเป็นต้องใช้ทักษะหลายประการในการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาง่ายๆ หรือซับซ้อนเพียงใดก็ตาม
...
การที่โรงเรียนเน้นการสอนแยกเนื้อหาวิชา จะทำให้การเรียนนั้นไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงของนักเรียน เพราะเด็กมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งที่เรียน กับสิ่งที่เป็นไปในชีวิตจริงนอกโรงเรียน

ดังนั้น หลักสูตรที่เน้นการสอนแบบบูรณาการจะสอดคล้องกับชีวิตจริง ช่วยให้นักเรียนเข้าใจและมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเนื้อหาวิชาต่างๆ ทั้งยังกระตุ้นให้เด็กใฝ่เรียนรู้ และนำทักษะที่เรียนไปใช้ในชีวิตจริง
เมื่อวันก่อน ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช ผช.ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และคณะ ได้เดินทางไปที่โรงเรียนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เพื่อตรวจเยี่ยม ติดตามผลการดำเนินงานโครงการการจัดการเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่น

เพื่อการพัฒนาสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 (โครงการบูรณาการ SMT) โดยนักเรียนได้ศึกษา ค้นคว้า ต่อยอดการแปรรูปปลาเล็กปลาน้อย ที่ชาวบ้านไม่ชอบนำไปบริโภค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน
กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศใช้การศึกษา “ฐานสมรรถนะ” ในปีการศึกษา 2565 แต่ที่ผ่านมาครูยังขาดความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนได้ทันกำหนด
...

สสวท. จึงได้ร่วมกับโรงเรียนในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ จำนวน 9 โรงเรียน จัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงบริบทท้องถิ่นและพัฒนาสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ขึ้น
มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 9 โรง ประกอบด้วย โรงเรียนสตรีสิริเกศ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา โรงเรียนราศีไศล โรงเรียนศิลาลาดวิทยา โรงเรียนกันทรารมณ์ โรงเรียนบ้านปราสาท โรงเรียนบ้านสดำ และโรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ
...

เปิดเวทีให้ครูได้นำเสนอแนวคิดนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แบบ Team Teaching ตามแนวทางการสอนฐานสมรรถนะที่เชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่น กิจกรรมบูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งผลงานของนักเรียน
ดร.วรวรงค์ กล่าวว่า หัวใจของการจัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงบริบทท้องถิ่นและพัฒนาสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 นี้ เน้นให้ครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์และครูเทคโนโลยี บูรณาการการทำงานร่วมกัน ด้วยการใช้สถานการณ์เป็นตัวนำในการแก้ปัญหาท้องถิ่น
...

ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งให้นักเรียนใช้ความรู้สำรวจ สืบค้น คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาด้วยทักษะวิทยาการคำนวณหรือโค้ดดิ้ง และการออกแบบเชิงวิศวกรรม ส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้ชุมชนท้องถิ่นได้อย่างตรงประเด็น
เป้าหมายการทำงานร่วมกันระหว่าง สสวท.กับโรงเรียนนำร่อง คือปฏิรูปการเรียนการสอนในชั้นเรียน โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กยุคดิจิทัลและศตวรรษที่ 21 เน้นเอาจริง 3 คานงัด คือ...

คานงัดแรก ทีมสอนที่มีประสิทธิภาพโดยสร้างกิจกรรมที่ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีสามารถทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนทักษะประสบการณ์ ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง
คานงัดที่สอง สร้างกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ในการคิดวิเคราะห์ สังเกต และตั้งคำถามที่เชื่อมโยงกับประเด็นหรือบริบทในชุมชนท้องถิ่นของตนแล้วสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิต สอดคล้องกับฐานสมรรถนะในศตวรรษที่ 21
คานงัดที่สาม เป็นการสร้างต้นแบบการเรียนรู้ใหม่ หลอมรวมความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ทันรับมือการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับการสอนฐานสมรรถนะที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังเดินหน้า เพื่อเร่งสร้างต้นแบบกับโรงเรียนอื่นๆ ได้นำแนวทางไปใช้ต่อไป

ด้าน น.ส.สุกัญญา ชะบาราศีบุษย์ รอง ผอ.โรงเรียนราษีไศล กล่าวว่า ได้สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณภาพ จัดการเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2560
พอมาปี 2563 ทางคณะครูได้พานักเรียนทำกิจกรรมบูรณาการ SMT ร่วมกับชุมชนโดยเลือกนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนชั้น ม.3/9 เพราะอยากให้มีทักษะในเรื่องของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี
สามารถต่อยอดความรู้ลงไปสู่ชุมชนได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของชาวชุมชนต่อไป.
ณัฐธรชนม์ สิริโชติสกุลรายงาน